The Prachakorn

ครอบครัวเข้มแข็งอย่างไรเมื่อเจอภัย โควิด-19: การรับมือของครอบครัวอบอุ่นกลุ่มคนทำงานองค์กร


ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต,สุภรต์ จรัสสิทธิ์

10 มิถุนายน 2563
583



ในวินาทีนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “โควิด-19” เป็นข่าวดังรายวันทั่วโลก เพราะมาพร้อมกับความลับดำมืด สามารถแพร่ระบาดไปได้เกือบทุกที่ทั่วโลก ที่น่ากลัว คือ ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน ที่โหดร้าย คือ การแพร่ระบาดเข้าถึงคนได้ทุกชนชั้น และที่สยดสยองมากที่สุด คือ จะไม่รู้ว่าใครติดเชื้อแม้กระทั่งตัวเองถ้ายังไม่แสดงอาการนอกจากทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้แล้ว ยังก่อความเสียหายต่อสภาวะเศรษฐกิจระดับโลกได้อย่างมหาศาล ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั่วโลกอย่างมิอาจคำนวณค่าความเสียหายได้ 

ครอบครัวอบอุ่นรับมือภัยโควิด-19 อย่างไร?

โครงการการสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นและมีสุขของคนทำงานองค์กร โดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ทำการสำรวจสถานการณ์เร่งด่วน “ผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ต่อครอบครัวคนทำงานองค์กร” ในภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ระหว่างวันที่ 27 เมษายน–22 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

จากผลการสำรวจฯ พบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถาม 3,310 คน จาก 63 องค์กร โดยร้อยละ 42.3 ของคนทำงาน ได้รับผลกระทบปานกลางจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ขณะที่ร้อยละ 34.4 และ 11.9 ได้รับผลกระทบมากและมากที่สุด ตามลำดับ โดยคนทำงานเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 99.3) มั่นใจว่าคนในครอบครัวไม่มีผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ขณะที่เกือบ 1 ใน 3 (ร้อยละ 31.6) ระบุว่า ครอบครัวมีเงินเก็บที่สามารถใช้ในสถานการณ์โควิด-19 

เมื่อพูดถึงผลกระทบที่มีต่อคนทำงานมากที่สุด พบว่า เป็นเรื่องค่าใช้จ่ายโดยรวมที่เพิ่มขึ้น (ร้อยละ 35.0) รองลงมา คือ ความวิตกกังวลหรือหวาดระแวงว่าจะติดเชื้อโรคนี้ ต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันและต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีและเวลาของการทำงาน ตามลำดับ (รูปที่ 1)


รูปที่ 1 ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19

มาตรการความปลอดภัยต่าง ๆ ของรัฐ ส่งผลอย่างไร กับครอบครัวอบอุ่น?

ร้อยละ 22.5 ของคนทำงานและครอบครัว ระบุว่า ตนเองมีคุณสมบัติเข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ความช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐ ขณะที่ร้อยละ 43.4 ระบุว่า มีคุณสมบัติไม่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว และเมื่อสอบถามถึงความพึงพอใจในภาพรวมของมาตรการของรัฐ ร้อยละ 40.2 ระบุว่า พึงพอใจพอสมควร ขณะที่ร้อยละ 9.7 และ 3.0 มีความพึงพอใจมากและมากที่สุด ตามลำ.ดับ 

เมื่อสอบถามถึงผลกระทบของมาตรการความปลอดภัยต่าง ๆ ของรัฐ ต่อครอบครัวคนทำงาน พบว่า ร้อยละ 43.7 ระบุว่า มาตรการประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ในเวลา 22.00-04.00 นาฬิกา ไม่มีผลกระทบต่อครอบครัว ขณะที่ร้อยละ 34.9 ระบุว่า มาตรการการสั่งปิดสถานที่ต่าง ๆ มีผลกระทบพอสมควร ร้อยละ 33.4 มีผลกระทบเล็กน้อย และร้อยละ 10.4 และ 5.5 มีผลกระทบมากและมากที่สุด ตามลำดับ

คนทำงาน ร้อยละ 34.9 ระบุมาตรการเฉพาะ “การสั่งเลื่อน” การเปิดโรงเรียน/วิทยาลัย/มหาวิทยาลัย มีผลกระทบต่อตนเองและครอบครัวพอสมควร ร้อยละ 30.0 มีผลกระทบเล็กน้อย ขณะที่ร้อยละ10.4 และ 5.5 มีผลกระทบมากและมากที่สุด ตามลำดับ (รูปที่ 2)

 
รูปที่ 2 ระดับผลกระทบจากมาตรการเฉพาะ

กลุ่มคนทำงานในองค์กร ระบุความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ ได้แก่ เรื่องการทำงาน ร้อยละ 64.9 เรื่องการเงิน ร้อยละ 63.6 เรื่องข้อมูลข่าวสารที่ต้องปฏิบัติเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 ร้อยละ 60.0 เรื่องการสร้างเสริมอาชีพ ร้อยละ 59.9 และเรื่องสิ่งของอุปโภคและบริโภค ร้อยละ 51.1

การรับมือสถานการณ์โควิด-19 ของสมาชิกในครอบครัว พบว่า ร้อยละ 54.2 มีความเข้มแข็ง ร้อยละ 53.0 มีความพร้อมในการช่วยแก้ปัญหาร่วมกันได้ดี และร้อยละ 52.3 มีการวางแผนอย่างรอบคอบโดยสามารถเชื่อมโยงความรอบรู้ต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน สำหรับความช่วยเหลือในสถานการณ์โควิด-19 พบว่า ร้อยละ 47.5 ของคนทำงาน ได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากองค์กรหรือหน่วยงานของตนเอง ร้อยละ 35.2 ครอบครัวสามารถขอความช่วยเหลือจากครอบครัวอื่นในชุมชน และในทำนองกลับกันร้อยละ 36.6 ครอบครัวสามารถให้ความช่วยเหลือครอบครัวอื่นที่ประสบกับสถานการณ์โควิด-19 เช่นกัน

ดังนั้นการรับมือเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 เป็นพฤติกรรมที่สมาชิกต้องร่วมมือร่วมใจดูแลซึ่งกันและกัน เพื่อครอบครัวและสมาชิกสามารถปฏิบัติได้ด้วยตัวเอง ร่วมไปกับมาตรการความช่วยเหลือจากรัฐหรือสังคม ยิ่งถ้ามีวินัยในตนเองสูง ก็จะยิ่งมีความปลอดภัยสูง ขณะเดียวกันสมาชิกในครอบครัวมีโอกาสใกล้ชิดกันมากขึ้น (family intimacy) เพราะต้องใช้เวลาอยู่ด้วยกันเกือบตลอดทั้งวัน หากต่างก็มีวินัยในการป้องกันเชื้อโควิด-19 มากเท่าไร ครอบครัวก็จะคงความอบอุ่นและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
อย่าลืม

“อยู่ห่าง ใส่หน้ากาก ล้างมือ กินร้อน ช้อนตัวเอง”


 



CONTRIBUTORS

Related Posts
เงิน….. งาน…… บันดาลสุขอย่างไร? ในวันที่ต้อง Work From Home

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

สันติภาพในยูเครน

อมรา สุนทรธาดา

วันหยุดที่แท้จริง

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

อยากออกไปล็อกดาวน์ในดินแดนมังกร

นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์

สถานการณ์โลกปี 2566

อมรา สุนทรธาดา

ถึงแตกต่าง แต่ไม่ต่างกัน

อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์

ผู้สูงอายุไทยกับความยากจน

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th