The Prachakorn

มีลูก ไม่มีลูก: ครอบครัววิถีใหม่พร้อมหรือไม่ เมื่อเจอภัยโควิด-19


กัญญาพัชร สุทธิเกษม

16 กรกฎาคม 2563
841



โครงการการสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นและมีสุขเพื่อคนทำงานองค์กร

ความมั่นคงทางการเงิน เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความพร้อมในการเผชิญวิกฤต ซึ่งเห็นได้ชัดในสถานการณ์โควิด-19 ที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ ดังนั้น การเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีเงินสำรองเพื่อใช้จ่ายในยามฉุกเฉินจึงเป็นเรื่องจำเป็น รวมถึงความพร้อมในด้านอื่น ๆ เช่น ความพร้อมด้านจิตใจ ด้านการรู้จักและเข้าใจตนเอง ด้านความมีสติ (รู้คุณค่าและความสามารถของตนเอง) ด้านการมีทัศนคติที่ดี และด้านความเข้าใจสัมพันธภาพที่มีต่อบุคคลอื่น ตลอดจนด้านการรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ 

ตามมาตรการรักษาความปลอดภัยจากสถานการณ์โควิด-19 ที่สมาชิกของทุกครอบครัวต้องหยุดอยู่บ้าน ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่าง ๆ ยังคงมีอยู่ตามปกติ เช่น ค่าผ่อนชำระหนี้สินต่าง ๆ อาทิ บ้าน รถยนต์ ฯลฯ ค่าเช่าที่พักอาศัย ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายการบริโภคในครัวเรือน ค่าอินเทอร์เน็ต ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดูเด็กและ/หรือดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น ในขณะเดียวกัน บางคนตกงานหรือถูกเลิกจ้างทำให้รายได้ลดลง ส่งผลต่อภาระความพร้อมในการเลี้ยงดูครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากสมาชิกในครอบครัวขาดความเอื้ออาทรช่วยเหลือกัน ขาดการรู้จักหน้าที่ ขาดการสื่อสารที่ดีต่อกัน และขาดการวางแผนร่วมกัน ซึ่งล้วนแต่มีความสำคัญที่จะทำให้ครอบครัวมีความพร้อม และสามารถปรับตัวในภาวะวิกฤตครั้งนี้ได้อย่างปลอดภัย

ความพร้อมของสมาชิกในครอบครัวจึงเป็นเรื่องใหญ่ในการสู้ภัยโควิด-19 จากการสำรวจ “ครอบครัวมีสุข” คนทำงานองค์กร โครงการการสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นและมีสุขของคนทำงานองค์กรในประเทศไทย ดำเนินงานโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พบว่า โครงสร้างครอบครัวในสังคมไทย ในศตวรรษนี้ มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยโครงสร้างครอบครัวในปัจจุบัน เน้นเชิงความรู้สึกทางจิตใจมากกว่าเชิงกายภาพ พูดง่าย ๆ คือ ครอบครัววิถีใหม่ที่ความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกัน หรือต้องทำกิจกรรมร่วมกันตลอดเวลา ขอเพียงสมาชิกมีการสื่อสารกัน มีความสนิทสนมทางใจ มีการติดต่อไปมาหาสู่กันอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ทั้งทางตรง คือ ไปพบเจอกัน หรือทางอ้อม คือ การสื่อสารกันด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้วยความรัก ความผูกพัน ความเอื้ออาทร การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความเคารพนับถือ ความสนิทสนม ความห่วงใย และการเป็นที่ปรึกษาได้ทุกเรื่อง

นอกจากนี้ ทางโครงการฯ ยังได้สำรวจออนไลน์สถานการณ์เร่งด่วน เพื่อประเมินผลกระทบสถานการณ์ โควิด-19 ต่อครอบครัวคนทำงานในองค์กร จำนวน 3,310 คน จาก 73 องค์กรทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 27 เมษายน – 22 พฤษภาคม 2563 โดยพบว่า ครอบครัววิถีใหม่ยังคงมีลักษณะเป็นครอบครัวขยายมากที่สุด (ร้อยละ 50.5) รองลงมา เป็นครอบครัวประเภท สามีภรรยาที่ไม่มีลูก (ร้อยละ 21.3) ครอบครัวอยู่คนเดียว (ร้อยละ 15.3) ครอบครัวพ่อแม่ลูก (ร้อยละ 10.3) และครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวน้อยที่สุด (ร้อยละ 2.7)  

เมื่อพิจารณาถึงความพร้อมด้านการจัดการการเงินกับผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ของครอบครัวคนทำงาน พบว่า ครอบครัวประเภทพ่อแม่ลูกมีรายได้เพียงพอใช้จ่ายในช่วงโควิด-19 มากที่สุด (ร้อยละ 37.1) รองลงมา คือ ครอบครัวขยาย (ร้อยละ 35.2) และครอบครัวอยู่คนเดียว (ร้อยละ 34.7)  ตามลำดับ นอกจากนี้ ครอบครัวพ่อแม่ลูกยังมีความสามารถในการช่วยเหลือครอบครัวอื่นที่ประสบปัญหาโควิด-19 มากที่สุด (ร้อยละ 37.7) รองลงมา คือ ครอบครัวขยาย (ร้อยละ 37.4) และครอบครัวอยู่คนเดียว (ร้อยละ 36.7)  

ในทางกลับกัน เมื่อสอบถามถึงความพร้อมของครอบครัวด้านการมีเงินเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน พบว่า ครอบครัวทุกลักษณะมีเงินเก็บใช้ในช่วงโควิด-19 ค่อนข้างน้อย โดยครอบครัวขยาย ครอบครัวพ่อแม่ลูก และครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว มีสัดส่วนการเงินเก็บไว้ใช้ในสถานการณ์โควิด-19 ใกล้เคียงกัน (ร้อยละ 32.7 และร้อยละ 32.3 ตามลำดับ) กลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด ได้แก่ ครอบครัวสามีภรรยาที่ไม่มีลูก และครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ซึ่งมีสัดส่วนการมีเงินเก็บไว้ใช้ในสถานการณ์โควิด-19 น้อยกว่ากลุ่มอื่น สอดคล้องกับจากการศึกษาของไกรวิชญ์ ประชุมพันธ์ และคณะ (2561, p. 326) ที่ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการพฤติกรรมการออมของผู้บริโภคเพื่อใช้จ่ายในอนาคตของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า ครอบครัวในกรุงเทพมหานครที่มีสถานภาพหย่าร้างมีค่าเฉลี่ยของพฤติกรรมการออมน้อยกว่ากลุ่มที่เป็นโสดหรือสมรส อาจเนื่องจากผู้ที่หย่าร้างต้องกลายเป็นพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยว ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ค่าผ่อนรถ ผ่อนบ้าน เลี้ยงดูบุตร (รูปที่ 1)

 
รูปที่ 1 การมีเงินเก็บ ความเพียงพอของรายได้ และความสามารถในการช่วยเหลือในสถานการณ์โควิด ของครอบครัวแบบต่าง ๆ

ครอบครัวพ่อแม่ลูก มีความพร้อมในการเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 มีการวางแผนอย่างรอบคอบและมีความเข้มแข็ง มากกว่าครอบครัวลักษณะอื่น (ร้อยละ 59.1 58.3 และ 52.9 ตามลำดับ) ในขณะที่ ครอบครัวอยู่คนเดียว และครอบครัวสามีภรรยาที่ไม่มีลูก น่าเป็นห่วงเช่นเดิม เนื่องจากมีความพร้อมในการเผชิญปัญหา มีการวางแผน และมีความเข้มแข็งในระดับต่ำกว่าครอบครัวลักษณะอื่น (รูปที่ 2) 


รูปที่ 2 การวางแผน ความเข้มแข็ง ความพร้อมในการเผชิญสถานการณ์โควิด ของครอบครัวลักษณะต่าง ๆ

ผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่า ครอบครัวพ่อแม่ลูกของคนทำงานองค์กร มีความพร้อมในสถานการณ์โควิด-19 มากที่สุด เนื่องจากการมีลูกอาจทำให้ครอบครัวต้องวางแผน เพราะลูกมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเรื่องค่าใช้จ่าย ทรัพยากร และความเสี่ยงในครอบครัว (Love, D.A., 2010, p. 393) พ่อแม่จึงต้องเตรียมพร้อมในหลาย ๆ ด้าน ดังนั้น หากจะทำความเข้าใจปัจจัยที่ทำให้ครอบครัวพ่อแม่ลูกมีการวางแผนหรือเตรียมความพร้อม อาจจะต้องศึกษาหรือถอดบทเรียนเพิ่มเติมในประเด็นอื่น ๆ เช่น เทคนิคการสื่อสารพูดคุยในครอบครัว การช่วยเหลือและสนับสนุนซึ่งกันและกันในครอบครัว แรงจูงใจหรือเหตุผลของการออมเงิน ทัศคติของครอบครัวต่อการรับมือในสถานการณ์โควิด-19/วิกฤติต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิด การวางแผน และวิธีการใช้จ่าย และสามารถนำมาใช้เป็นต้นแบบการดำเนินชีวิตในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือวิกฤตให้กับครอบครัวอื่น ๆ ได้  

สำหรับครอบครัวคนทำงานองค์กรที่เป็นครอบครัวสามีภรรยาไม่มีลูก และครอบครัวอยู่คนเดียวซึ่งมีความพร้อมและความเข้มแข็งในระดับต่ำ เป็นความท้าทายของครอบครัวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องส่งเสริมให้เกิดการเตรียมความพร้อมมากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มของครอบครัวลักษณะดังกล่าวกำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะครอบครัวอยู่คนเดียว เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.8 ในปี 2539 เป็นร้อยละ 20.5 ในปี 2560 และครอบครัวสามีภรรยาที่ไม่มีลูก เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15.9 เมื่อปี 2539 เป็นร้อยละ 27.3 ในปี 2560 (ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์, 2560) ขณะที่ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวในช่วง 2533-2558 เพิ่มขึ้นจาก 9.7 แสนครัวเรือน เป็น 1.3 ล้านครัวเรือน (ขวัญเนตร สุขใจ, 2562, น.2) การศึกษาในต่างประเทศพบว่า ครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยว มีปัญหาเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าครอบครัวที่อยู่เป็นคู่ เพราะมักวิตกกังวลกับการเลี้ยงลูก จึงไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ นอกจากนี้กฎหมายหรือนโยบายด้านต่าง ๆ มักเอื้อประโยชน์ให้กับแม่เลี้ยงเดี่ยวมากกว่าครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยว การที่พ่อต้องหาเลี้ยงครอบครัวลำพังเพื่อให้มีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย ส่งผลให้ต้องทำงานหนักกว่าเดิม และปัญหาจะมากขึ้นตามจำนวนลูกที่ต้องดูแล (McKeown, K., 2000, pp 6-7)  นอกจากนี้ยังพบว่า ครอบครัวขนาดเล็กที่ไม่มีลูกและมีรายได้น้อย ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด เพราะประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ จากการตกงาน ความยากจน การศึกษาน้อย และไม่มีความรู้เรื่องการเงิน จึงมีความอ่อนแอเมื่อประสบภาวะวิกฤต (Kim,J., Gutter,M. & Spangler, T., 2017, p) ในขณะที่ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว พบว่า มีปัญหาความสัมพันธ์กับลูก ปัญหาเศรษฐกิจ การมีรายได้และมีงานทำ (ชลลดา จารุศิริชัยกุล, 2555) ดังนั้น หากครอบครัวเหล่านี้ ไม่มีการเตรียมความพร้อม เมื่อเกิดปัญหาจะมีความกดดันสูง อาจส่งผลกระทบด้านจิตใจ และมีความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งหรือความรุนแรงในครอบครัวได้ การส่งเสริมครอบครัวขนาดเล็กให้สามารถเตรียมพร้อมรับวิกฤตจึงเป็นเรื่องสำคัญ ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในหลายประเด็น เช่น แนวคิด/ทัศนคติต่อการมีครอบครัว/การมีลูกของคนทำงานองค์กร แนวคิดการใช้ชีวิต หรือการวางแผนชีวิตและการเงินของครอบครัวที่ไม่มีลูก เพื่อค้นหาเหตุจูงใจที่ทำให้ครอบครัวเหล่านี้ตระหนักถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตมากขึ้น

ที่ผ่านมาโครงการฯ ทำหน้าที่สนับสนุนให้คนทำงานและองค์กร มีการวางแผนเพื่อพัฒนาครอบครัวคนทำงานในทุกรูปแบบให้เป็น “ครอบครัวมีสุข” เป็นครอบครัวที่มีความอบอุ่น สงบสุข เข้มแข็ง และพอเพียง อย่างต่อเนื่อง โดยมีการวัดค่าคะแนนก่อนและหลังการทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาครอบครัวคนทำงาน ทำให้แต่ละองค์กรได้ฝึกการจัดทำแผนกิจกรรม และเชื่อมไปถึงบุคลากรในที่ทำงานให้ได้เรียนรู้การวางแผน ซึ่งถือเป็นช่องทางสำคัญที่จะช่วยวางรากฐานการพัฒนาครอบครัวคนทำงานองค์กรให้มีความพร้อม และสามารถพึ่งตนเองได้ในทุกสภาวะและวิกฤติต่าง ๆ 

 


เอกสารอ้างอิง

  • Kim,J., Gutter, M. & Spangler, T. (2017). Review of family financial decision making: suggestions for future research and implications for financial education. Journal of Financial Counseling and Planning, 28(2), 253-267. 
  • Love, D.A. (2010). The effects of marital status and children on savings and portfolio choice. The Review of Financial Studies, 23(1), 385-432. 
  • MacKeown, K. (2000). Families and Single Fathers in Ireland. Retrieved 13 July 2020 from https://www.researchgate.net/profile/Kieran_Mckeown3/publication/237462253_Families_and_Single_Fathers_in_Ireland/links/5541d0a50cf2b790436be73f/Families-and-Single-Fathers-in-Ireland.pdf 
  • ขวัญเนตร สุขใจ. (2562). ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว:ความท้าทายที่ต้องก้าวผ่านให้ได้ในสังคมไทยปัจจุบัน. บรรยายในการประชุมคณะกรรมการศึกษาและพัฒนาความรู้ทางจิตวิทยาและสังคม ในวันพุธที่ 13 มีนาคม 2562 ณ ห้องประชุมศูนย์ให้บริการปรึกษา ชั้น 5 สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.     
  • ชลลดา จารุศิริชัยกุล. (2555). เป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวอย่างมีคุณภาพ. สำนักพัฒนาสุขภาพจิต. กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นจาก https://web.facebook.com/SamakomAnuban/posts/164090590429195/
  • ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์. (2561). การอยู่อาศัยร่วมกันของสมาชิกในครัวเรือนไทย พ.ศ. 2539-2560: การจำแนก    รูปแบบด้วยกลุ่มวัย ใน จงจิตต์ ฤทธิรงค์. ศุทธิดา ชวนวัน, สิรินทร์ยา พูลเกิด และสรัญญา สุจริตพงศ์. (บรรณาธิการ) ครอบครัวไทย สะท้อนอะไรในสังคม. (ครั้งที่ 1), หน้า 37–49), กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา


 



CONTRIBUTOR

Related Posts
ทุนสังคม พลังสังคม

ภูเบศร์ สมุทรจักร

Long COVID เจอ เจ็บ แต่ไม่จบ ?

สุริยาพร จันทร์เจริญ

COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

สูงวัยแต่ไม่แก่

ปราโมทย์ ประสาทกุล

เมีย 2018 ณ เมียนมา

จรัมพร โห้ลำยอง

สุขอย่างไร……..สุขแบบคนไทย ๔.๐

ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

สุขอย่างไร……..สุขแบบคนไทย ๔.๐

ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

ครอบครัวของเด็กซีอัลฟา

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

ราคาของความตายในวัยสูงอายุ

จงจิตต์ ฤทธิรงค์,ธนพร เกิดแก้ว

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th