มองย้อนกลับไปเมื่อสองปีที่แล้ว วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เป็นวันที่ผู้เขียนและประชาชนทั่วทั้งประเทศสหรัฐอเมริกาจับจ้องอยู่หน้าทีวี เนื่องจากว่า จะมีแถลงการณ์พิเศษจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention—CDC) ผู้เขียนตั้งใจฟังทุกถ้อยคำ ด้วยในใจตระหนักดีว่าสถานการณ์เริ่มไม่ธรรมดาแล้ว โดยดร.เม็สสันเนียร์ได้แถลงว่า “...สถานการณ์ไวรัสสายพันธุ์ใหม่โคโรน่าเริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ และได้ขยายตัวครอบคลุม (ชุมชน) อย่างรวดเร็ว...สถานการณ์ในขณะนี้อาจแลดูเกินกำลัง และชีวิตประจำวันของพวกเราอาจจะต้องหยุดชะงักอย่างรุนแรง...ขอให้ทุกคนเตรียมตัว...” จำได้ว่าตลอดการแถลงการณ์มีการย้ำคำว่า “รุนแรง (severe)” มากถึงหกครั้งด้วยกัน ซึ่งขณะนั้นมียอดผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศทั้งสิ้นเพียง 53 รายเท่านั้นเมื่อเทียบกับ 78.8 ล้านรายในขณะนี้ (CDC, 2565) นับเป็นอัตราการเพิ่มที่สูงลิ่ว นอกจากนี้ยังมียอดผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้นถึง 944,517 รายด้วยกัน (CDC, 2565) ซึ่งเมื่อเทียบเป็นอัตราผู้เสียชีวิตต่อประชากรหนึ่งแสนคนแล้วพบว่า ชาวอเมริกันเสียชีวิตจากโควิด-19 มากเป็นอันดับที่ห้าของโลก และถือเป็นอันดับหนึ่งของประเทศที่พัฒนาแล้วเลยทีเดียว ดังจะเห็นได้จาก รูปที่ 1 :-
รูปที่ 1 อัตราการเสียชีวิตต่อประชากร 100,000 คนในประเทศที่ได้รับผลกระทบ 20 อันดับสูงสุด
(Johns Hopkins University and Medicine, 2565)
ทั้งนี้ชาวอเมริกันจัดว่าเป็นกลุ่มแรก ๆ ของโลกที่ได้รับวัคซีนต้านทานโควิด ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการบรรเทาความรุนแรงของโรคและลดการแพร่เชื้อ ซึ่งจะช่วยสร้างภูมิต้านทานหมู่ตั้งแต่ในระดับชุมชนจนกระทั่งระดับโลก ท้ายที่สุดแล้วโควิด-19 จะลดสถานภาพจากโรคระบาดระดับโลก เหลือเพียงโรคระบาดระดับท้องถิ่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และโรคฉี่หนู—จุดประสงค์หลักของวัคซีน คือ การรักษาชีวิต ทั้งนี้จากการสอบถามและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ผู้เขียนพบว่า การตอบรับวัคซีนโควิด-19ของชาวอเมริกันมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว นั่นคือ หากเปรียบเป็นแถบสี ก็มากด้วยความหลากหลายอยู่เต็มสเปกตรัม ไม่เอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ
ก่อนอื่นเพื่อเป็นการยกย่องในความกล้าหาญและความเสียสละอันใหญ่หลวง ผู้เขียนจักขอสดุดี “เหล่าอาสาสมัคร” ที่อุทิศตนเองและครอบครัว เพื่อการวิจัยวัคซีนในขั้นทดลองในคน (clinical trials) อนึ่ง พวกเขาเหล่านี้ประกอบไปด้วยบุคคลทุกเพศ ทุกวัย เริ่มตั้งแต่ทารกอายุหกเดือนไปจนถึงคนชราอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป ดร.บูอี (แยน, 2564) เป็นท่านหนึ่งที่อาสาบุตรทั้งสามคน ซึ่งมีอายุหนึ่งถึงหกปี เข้าร่วมการทดลองทางคลินิคของวัคซีนไฟเซอร์ โดยที่ท่านได้ให้เหตุผลว่า การที่ท่านเป็นศัลยแพทย์ระบบประสาทกุมารเวชนั้น ทำให้ท่านเปรียบเสมือนทัพหน้า ท่านรับมือกับผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่หลั่งไหลกันเข้ามาในโรงพยาบาล สร้างความโกลาหลอลหม่านเป็นอย่างมาก บุคลากรการแพทย์ทุกฝ่ายที่มีผู้ป่วยเพียงเล็กน้อยต่างก็อาสาเข้ามาช่วยกันดูแลคนไข้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งประกอบไปด้วยบุคคลทุกเพศ ทุกวัย แต่ที่ทำให้ท่านตระหนักถึงความสำคัญของการเข้าร่วมการทดลองวัคซีนในครั้งนี้ ก็เห็นจะหนีไม่พ้นเด็ก ๆ ซึ่งยังไม่มีสิทธิได้รับวัคซีน ท่านเชื่อว่าวัคซีนที่ผ่านมาถึงขั้นทดลองในคน จะต้องมีความปลอดภัยสูง และมีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อยในคนที่มีสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว และนี่คือเหตุผลหลัก—ศรัทธาอันแรงกล้าในเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์—ที่ทำให้เหล่าอาสาสมัครอุทิศตนเพื่อส่วนรวม
เมื่อวัคซีนต้านทานโควิด-19 ทยอยออกมาสู่สาธารณชนภายใต้การอนุญาตให้ใช้ฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization—EUA) หน่วยราชการท้องถิ่นจะดำเนินการจำแนกประชาชนตามลำดับความเสี่ยงการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโคโรน่า นั่นคือ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปเป็นกลุ่มแรกที่ได้สิทธิรับวัคซีน ตามมาด้วยผู้ที่ป่วยด้วยโรคที่เอื้อโควิด-19 เช่น มะเร็ง โรคไต โรคปอด เป็นต้น หลังจากนั้นเป็นคราวของบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่มีอาชีพใกล้ชิดกับบุคคลอื่น ๆ เช่น ตำรวจ ช่างตัดผม ช่างทำเล็บ คนเสิร์ฟอาหาร ครู ฯลฯ ทั้งนี้ ผู้ที่ไปใช้สิทธิรับวัคซีนนั้นมีอยู่มากทีเดียว ถือเป็นการตอบรับที่ดี ในขณะเดียวกันผู้ที่ได้สิทธิ แต่ “เลือก” ที่จะไม่ไปใช้สิทธินั้นก็มีเป็นจำนวนมากเช่นกัน
มีชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่งที่มีศรัทธาอันแรงกล้าไม่แพ้กลุ่มอาสาสมัคร โดยที่คนกลุ่มนี้มีความเชื่อว่า “วัคซีนจักเป็นแสงสว่างที่ปลายทางอุโมงค์ของพวกเขา” อีกนัยหนึ่ง “วัคซีน คือ ใบเบิกทางสู่การกลับไปใช้ชีวิตปกติตามเดิม” พวกเขาไปรับวัคซีนทันทีที่ได้สิทธิ เมื่อระบบจองออนไลน์ปุ๊บ พวกเขาก็ลงชื่อปั๊บ บางท่านถึงกับต้องขับรถไปต่างเมือง เพราะในเมืองที่ตนเองอยู่คิวเต็มแล้วนั่นเอง ทั้งนี้การตอบรับที่ดียิ่ง ไม่ได้แปลว่าคนกลุ่มนี้จะปลอดภัยจากโควิด-19 นั่นคือ มีศรัทธาแล้วก็ต้องรอบคอบด้วยจึงจะปลอดภัย เมื่อเรารู้การทำงานของวัคซีน เราก็จะรู้ว่าวัคซีนจะป้องกันเราได้นั้น ปริมาณไวรัสที่ได้รับจะต้องไม่ท่วมท้นภูมิต้านทานของร่างกายที่วัคซีนช่วยสร้างไว้ ดังจะเห็นได้ว่าผู้ที่เลิกระมัดระวังตัวทันทีที่ได้รับวัคซีน นำพาตัวเองเข้าไปอยู่ในที่แออัด เช่น คอนเสิร์ต คาสิโน โรงภาพยนตร์ ผับ ฯลฯ หากในสถานที่นั้นมีเชื้อไวรัสอยู่เป็นปริมาณสูง ก็จะส่งผลให้ติดเชื้อจนป่วยหนัก ถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาลรับออกซิเจน หรือถ้ามีโรคประจำตัวร่วมด้วยก็อาจถึงขั้นเสียชีวิต (CDC, 2565)
การตอบรับของวัคซีนต้านโควิดลักษณะต่อไปนี้ ถือว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากว่า คนส่วนใหญ่ที่ผู้เขียนได้สอบถาม ล้วนแล้วแต่แสดงเจตจำนงว่าอยู่ในกลุ่มนี้ นั่นคือ พวกเขามีเหตุผล มีความรอบคอบ และมีศรัทธาเต็มเปี่ยมในวัคซีน ขาดแค่เพียงความมั่นใจ ดังนั้นพวกเขาจึงขอสังเกตการณ์ดูก่อนจนกว่าจะมีข้อมูล (เกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีน) เพียงพอว่าปลอดภัย จึงค่อยไปรับวัคซีน ทั้งนี้ระยะการสังเกตการณ์นั้นก็มีตั้งแต่ระยะสั้น (1-3 เดือน) ระยะกลาง (3-6 เดือน) และระยะยาว (มากกว่า 6 เดือนขึ้นไป) ผู้เขียนพบว่า ผู้ที่เริ่มจากการสังเกตการณ์ระยะสั้น หากไม่ได้รับวัคซีนในช่วง 3 เดือนแรก ก็จะเลื่อนไปเป็นผู้สังเกตการณ์ระยะกลางและระยะยาวในที่สุด โดยที่หลายคนสังเกตการณ์ระยะยาวเกินหนึ่งปีขึ้นไป เมื่อถูกถามก็จะตอบเช่นเดิมว่า ข้อมูลยังไม่เพียงพอ ยังไม่มั่นใจ รออีกหน่อยก่อน บ้างก็รอจนติดเชื้อไปก่อนก็มี บ้างก็ป่วยหนักถึงขั้นเสียชีวิต
ในลำดับต่อไปจะขอกล่าวถึงพ่อแม่และผู้ปกครองชาวอเมริกันที่มีบุตรหลานอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งตามกฎหมายถือว่าเป็น “ผู้เยาว์” ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองถูกต้องตามกฎหมายจึงจะรับวัคซีนได้ ทั้งนี้หลายรัฐมีแบบฟอร์มอนุญาตผู้เยาว์รับวัคซีน สำหรับให้ดาวน์โหลดและกรอกเองได้ อย่างไรก็ตามหลายครอบครัวมี ”ความเชื่อ” ว่า ไวรัสโคโรน่าแทบไม่มีผลต่อเด็ก และเด็กส่วนใหญ่ที่ได้รับเชื้อก็ไม่มีอาการ ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่บุตรหลานจะต้องไป “เสี่ยง” รับวัคซีนเหมือนกับผู้ใหญ่ ซึ่งแข็งแรงกว่า สามารถต่อสู้กับผลข้างเคียงได้ดีกว่า และเมื่อผู้ใหญ่รอบตัวได้รับวัคซีนครบแล้ว ก็สามารถป้องกันการแพร่เชื้อสู่ลูกหลานได้ ดังจะเห็นได้ว่าความเชื่อ เป็นสิ่งเดียวกับสมมติฐาน ที่ยังต้องผ่านการพิสูจน์ว่าจริง จึงจะยึดถือนำมาปฏิบัติได้ ภายหลังได้มีเด็กวัยเรียนเป็นจำนวนมากต่างออกมาแสดงเจตจำนงทางโซเชียลมีเดียว่า พวกเขาต้องการไปรับวัคซีน เพราะพวกเขาต้องไปโรงเรียน ต้องไปร่วมกิจกรรม โดยที่พวกเขาขับรถเองได้ (อายุ 16 ปีขึ้นไปสามารถสอบใบขับขี่ได้) ทว่าไม่ได้รับการยินยอมจากพ่อแม่ จึงไม่สามารถไปรับวัคซีนได้ อนึ่ง ในช่วงที่สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron Variant) มีการระบาดอย่างรุนแรง จำนวนผู้ป่วยในกลุ่มผู้เยาว์ก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเป็นที่น่าตกใจถึง 881 คนต่อวัน (CDC, 2565) ซึ่งแพทย์ต่างระบุว่า ถึงแม้อาการจากการติดเชื้อโควิด-19 ในเบื้องต้นจะไม่รุนแรง ก็ไม่ได้แปลว่าจะหมดห่วง ต้องคอยเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิดในระยะ 2-6 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อ เพราะกลุ่มอาการอักเสบในหลายระบบของเด็ก (Multi-Inflammatory Syndrome in Children—MIS-C) นั้นร้ายแรงยิ่งกว่า เพราะอาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที (คริสเท็นเซ็น, 2565)
เป็นที่รู้กันดีว่า วัคซีนต้านทานโควิดนั้นมีหลายประเภท ประเภทละหลายยี่ห้อ และแต่ละประเทศก็มีใช้แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ดีสหรัฐฯ มีให้ใช้อยู่สองประเภท สามยี่ห้อ เช่น ไฟเซอร์ (Pfizer-BioNTech : 2 เข็ม), โมเดอร์น่า (Moderna : 2 เข็ม), และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson’s Janssen : 1 เข็ม) ทั้งนี้ไฟเซอร์และโมเดอร์น่าเป็นวัคซีนประเภทสารพันธุกรรม (mRNA) ซึ่งมีนัยสำคัญ คือ จำต้องได้รับสองเข็มจึงจะสร้างภูมิต้านทานได้เต็มที่ ต่างกับจอห์นสันฯ ซึ่งเป็นชนิดเข็มเดียว เมื่อร่างกายได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว ร่างกายจะมีปฏิกิริยาเกิดผลข้างเคียงทั่วไป เช่น เป็นไข้ จับสั่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ หมดเรี่ยวแรง บางคนไม่สามารถประกอบกิจการงานได้เป็นเวลาหลายวัน รวมไปถึงผลข้างเคียงที่เกิดได้น้อยแต่ร้ายแรง เช่น ลมพิษ (Hive) กล้ามเนื้อหัวใจโต (Myocarditis) และลิ่มเลือดอุดตัน (Thromboembolic) (CDC, 2565) ซึ่งผู้ที่มีปฏิกิริยาค่อนข้างรุนแรงหลังจากได้รับเข็มแรก ก็จะไม่ต้องการรับเข็มต่อ ๆ ไป ซึ่งรวมไปถึงการฉีดย้ำในเข็มที่สามและสี่ด้วย ดังจะเห็นได้ว่า คนกลุ่มนี้มีการตอบรับที่ดี หากแต่วัคซีนทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ค่อนข้างแย่สำหรับพวกเขา จึงตัดสินใจที่จะไม่รับวัคซีนต่อ
มาถึงกลุ่มที่ไม่ตอบรับวัคซีนแต่อย่างใด โดยที่คนกลุ่มนี้มีความเชื่อที่หลากหลายดังที่ผู้เขียนได้รวบรวมมา เป็นต้นว่า “โควิดไม่มีอยู่จริง” มันไม่ต่างอะไรกับไข้หวัดใหญ่ที่เราเป็นกันอยู่ทุก ๆ ปี เดี๋ยวก็หาย; “วัคซีนมีพิษ” ส่วนประกอบของวัคซีนเป็นอันตรายต่อร่างกายถึงชีวิต; “ร่างกายแข็งแรง ถึงติดโควิดก็หายได้เอง” ออกกำลังกายทุกวัน เป็นนักกีฬา ปอดแข็งแรงดุจเหล็ก โควิดจะทำอะไรได้; ไปจนถึงการอ้างอิงอิสรภาพ “ร่างกายของฉัน สิทธิของฉัน” ฉันจะฉีดหรือไม่ฉีดมันก็เป็นสิทธิของฉัน รัฐบาลเกี่ยวอะไรด้วยหรือ— และนี่ ก็คือ เหตุผลระดับต้น ๆ ของการปฏิเสธวัคซีนโดยสิ้นเชิง
ในบางมลรัฐของสหรัฐฯ เห็นว่าการชักชวน เชื้อเชิญ หรือแม้กระทั่งข่มขู่นั้นไม่ได้ผล จึงเกิดความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ นานาขึ้นมา เช่น ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้มีการมอบบัตรเงินสดจำนวน 50 เหรียญดอลล่าร์ (ประมาณ 1,500 บาท) ให้กับประชาชนทุกคนที่มารับวัคซีนเข็มแรก อีกทั้งยังสามารถลงชื่อจับรางวัลใหญ่ ซึ่งจะมีอยู่สิบรางวัลด้วยกัน รางวัลละ 1.5 ล้านเหรียญดอลล่าร์ (45 ล้านบาท) ซึ่งก็ได้ผลดีเกินคาด ประชาชนในแคลิฟอร์เนียที่ยังไม่ได้รับเข็มแรก ต่างพากันไปเข้าแถวรับรางวัล และวัคซีนกันอย่างชื่นมื่น (อิล, มันนี่, และสไตลส์, 2564)
แต่ก็ใช่ว่าการนำรางวัลมาล่อใจจะใช้ได้ผลกับทุกคน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อหมดความคิดสร้างสรรค์ (และหมดทุนทรัพย์) รัฐบาลก็หงายไพ่ใบสุดท้ายที่ทำให้ชาวอเมริกันถึงกับหงายหลังโครม ก็จะไม่ให้ตกใจได้เช่นไร ในเมื่ออิสรภาพ คือ ทุกสิ่งทุกอย่าง คือ ลมหายใจของพวกเขา แล้วจู่ ๆ ผู้มีอำนาจจะมาริดรอนสิทธิเสรีภาพด้วยการบังคับใช้กฎหมายให้พวกเขาไปรับการฉีดวัคซีน มิเช่นนั้นก็จะไม่สามารถประกอบอาชีพการงานได้ หรือมีความยุ่งยากมากขึ้น เช่น บุคลากรทางการแพทย์ สถานที่ประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป และสถานศึกษา ในแต่ละครั้งที่กฎหมายบังคับฉีดวัคซีนผ่าน ก็จะมีการประท้วงอยู่ทุกหย่อมหญ้า มีทั้งประท้วงหยุดงาน ล่ารายชื่อเพื่อยื่นเสนอหักล้างข้อกฎหมาย และในที่สุดลาออกจากงานนั้น ๆ เสียเลย
มาถึงกลุ่มสุดท้ายซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าเห็นใจที่สุด เพราะไม่ว่าพวกเขาจะอยากรับวัคซีนมากเพียงใด พวกเขาก็ไม่สามารถทำได้ ในประการแรกเป็นเพราะว่าพวกเขามีอาการแพ้อย่างรุนแรงต่อส่วนผสมในวัคซีนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน ทั้งนี้ CDC (2565) ได้อธิบายว่าโดยส่วนใหญ่จะเป็นสารโปรตีนที่ร่างกายเห็นเป็นสิ่งแปลกปลอม ส่งผลให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงเฉียบพลัน กล่าวคือ หลอดลมหายใจบวมปิด ขาดอากาศหายใจ และเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว (anaphylaxis) อีกประการหนึ่งเป็นชาวอเมริกันกลุ่มสุดท้ายของสุดท้ายที่ยังไม่มีสิทธิได้รับวัคซีน พวกเขาคือ เด็กวัย 6 เดือน ถึง 4 ปี ในขณะนี้ไฟเซอร์กำลังดำเนินการทดลองทางคลินิคระยะที่สามอยู่ ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายก่อนที่จะขออนุมัติให้ใช้แบบฉุกเฉิน
ท้ายที่สุดนี้ จะขอสรุปด้วยข้อมูลการรับวัคซีนจากทั่วโลกล่าสุด ดังแสดงในรูปที่ 2 จะเห็นได้ว่า 64% ของชาวอเมริกัน (คิดเป็นจำนวนประชากร 213 ล้านคน) ได้รับวัคซีนครบชุดเบื้องต้นแล้ว ทั้งนี้ไม่รวมถึงการฉีดย้ำเข็มที่สามและสี่ นอกจากนี้ 12% ของประชากร (ราว 40 ล้านคน) ได้รับเข็มแรกแล้ว สรุปได้ว่า ประเทศสหรัฐฯ มีผู้รับวัคซีนมากเป็นอันดับที่ 15 ของโลก
รูปที่ 2 อัตราประชากรที่ได้รับวัคซีนครบชุดในแต่ละประเทศ (แสดงผล 27 ลำดับแรก) (Our World in Data, 2565)
อ้างอิง
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
อมรา สุนทรธาดา
นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์
บุรเทพ โชคธนานุกูล
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
กัญญา อภิพรชัยสกุล
วาทินี บุญชะลักษี
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ
สิรินทร์ยา พูลเกิด
ประทีป นัยนา
บุรเทพ โชคธนานุกูล
นงนุช จินดารัตนาภรณ์
สุดปรารถนา ดวงแก้ว
ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา
นันท์สินี ศิริโกสุม,ปิยวัฒน์ เกตุวงศา
ปาริฉัตร นาครักษา
กาญจนา เทียนลาย
ภูมิพงศ์ ศรีภา
พรสุรีย์ จิวานานนท์
มนสิการ กาญจนะจิตรา
ธีระพจน์ คำรณฤทธิศร
โซรยา จามจุรี
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ
ณปภัช สัจนวกุล