The Prachakorn

มองครอบครัวไทย พ.ศ. 2583 ด้วยระเบียบวิธี Scenario Planning


30 เมษายน 2564
504



“ภาพอนาคตประเทศไทย พ.ศ.2583” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย” การศึกษาประเทศไทยในอนาคต Future Thailand: มิติที่ 1 ประชากรและโครงสร้างสังคม” สนับสนุนทุนวิจัยโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อการสร้างฉากทัศน์ (Scenarios) ต่างๆ เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของครอบครัวไทยใน 20 ปีข้างหน้า โดยใช้วิธีการสร้างและวิเคราะห์ฉากทัศน์แห่งอนาคต (Future Scenario Building and Analysis) ซึ่งเป็นระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมีการจัดทำการคาดประมาณแนวโน้มสัดส่วนรูปแบบการอยู่อาศัย (Living arrangement) ของประชากรวัยเด็ก วัยทำงาน และผู้สูงอายุ พ.ศ.2563-2583 ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงปริมาณเพื่อประกอบการสร้างฉากทัศน์ (Scenarios) ด้วย การคาดประมาณสัดส่วนและแนวโน้มรูปแบบการอยู่อาศัยของประชากรไทยพบว่า แนวโน้มของครอบครัวแบบพ่อแม่ลูกลดลง ครอบครัวสามีภรรยาที่ไม่มีบุตรไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ขณะที่ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ในการสร้างครอบครัวและการใช้ทรัพยากรต่างของสังคม นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะอยู่ลำพังคนเดียวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ผู้สูงอายุจำนวนมากอาจไม่ได้รับการดูแลจากสมาชิกในครอบครัวหรือได้รับการดูแลอย่างจำกัด ประเด็นดังกล่าวจึงมีความสำคัญในการจัดสรรสวัสดิการเพื่อดูแลประชากรกลุ่มนี้ในอนาคต การสร้างฉากทัศน์ใช้ปัจจัยขับเคลื่อน (Driving force) 2 ปัจจัย คือ 1. ความสำเร็จในการกระจายอำนาจ และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และ 2. ความสามารถในการปรับตัวของคนไทยและคนในครอบครัวต่อภัยพิบัติต่างๆ ในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยสร้างเป็น 4 ฉากทัศน์ ได้แก่ 1. เลโก้บนแอปพลิเคชันแพลตฟอร์ม (lego on application platform) (การกระจายอำนาจ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากสำเร็จ แต่ครอบครัวไทยปรับตัวรับภัยพิบัติได้ไม่ดี) 2. ดีพเลิร์นนิง ดีพแคริง (Deep learning, deep caring) (การกระจายอำนาจ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากสำเร็จ และครอบครัวไทยสามารถปรับตัวรับภัยพิบัติได้ดี) 3.แซนด์บ๊อกซ์ริมท่อน้ำเสีย (Sandbox by the sewage) (การกระจายอำนาจ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากไม่สำเร็จ และครอบครัวไทยสามารถปรับตัวรับภัยพิบัติได้ไม่ดี) และ 4. อัลกอริทึมเชิงปรนัย (Multiple-choice algorithm) (การกระจายอำนาจ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากไม่สำเร็จ แต่ครอบครัวไทยมีการปรับตัวรับภัยพิบัติได้ดี) ภาพสถานการณ์จากทั้ง 4 ฉากทัศน์นำไปใช้เพื่อการพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

Facebook Watch: https://fb.watch/58ShnFKze9/



CONTRIBUTOR

Related Posts
คนไทยกับกิจกรรมทางกาย

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

คนไร้บ้านในสิงคโปร์

อมรา สุนทรธาดา

คนแก่ ม้าหาย

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th