The Prachakorn

ความเชื่อมโยงของการบริโภคผักและผลไม้ ความปลอดภัยของอาหาร และทัศนคติความเสี่ยงด้านสุขภาพ กับความสุขของคนไทย


ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์,สิรินทร์ยา พูลเกิด

15 ธันวาคม 2564
452



งานวิจัยในต่างประเทศจำนวนมากพบความเชื่อมโยงระหว่างความสุขกับการบริโภคผักและผลไม้เพิ่มขึ้น1  และความสัมพันธ์ระหว่างทัศนคติความเสี่ยง (risk attitude) กับความสุข2  โดยคนที่มีความสุขแล้วจะไม่ชอบความเสี่ยง ขณะที่คนที่มีความสุขน้อยจะมีสติน้อยลงในการป้องกันตัวเองจากอันตราย3  ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาในประเด็นดังกล่าวนี้ 

การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่เกี่ยวข้องทางสุขภาพ (ได้แก่ การบริโภคผักและผลไม้ ความปลอดภัยของอาหาร และทัศนคติความเสี่ยงด้านสุขภาพ (health risk attitude)) กับความสุขของคนไทย โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากโครงการศึกษาพฤติกรรมการกินผักและผลไม้ของคนไทย ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จากกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป มาทำการวิเคราะห์ โดยมีจำนวนตัวอย่างที่วิเคราะห์ทั้งสิ้น 6,955 คน 

จากผลการศึกษานี้ พบว่า คนที่บริโภคผักและผลไม้เพียงพอมีคะแนนความสุขมากกว่าคนที่บริโภคไม่เพียงพอ (คะแนน 7.9 และ 7.6 ตามลำดับ) และผู้ที่บริโภคผักและผลไม้อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์มีคะแนนความสุขสูงกว่าผู้ที่มีความถี่ในการบริโภคน้อยกว่า (คะแนน 7.7 สำหรับผัก และ 7.8 คะแนนสำหรับผลไม้) โดยลักษณะทางประชากรมีความสัมพันธ์กับความสุขเช่นกัน โดยคนที่เป็นเพศหญิง มีอายุ 15-29 ปี มีสถานภาพสมรส อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และมีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป มีแนวโน้มที่มีคะแนนความสุขมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ  อีกทั้งผู้ที่มีทัศนคติความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิตและความเสี่ยงต่อสุขภาพในระดับสูง พบค่าคะแนนความสุขเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ยังพบความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างความกลัวในการบริโภคผักและผลไม้เนื่องจากสารกำจัดศัตรูพืชกับคะแนนความสุข โดยผู้ที่ไม่บริโภคผักและผลไม้ เพราะความกลัวการปนเปื้อนของสารกำจัดศัตรูพืชของผักและผลไม้ มีแนวโน้มมีคะแนนความสุขมากกว่าคนที่กังวลเกี่ยวกับสารกำจัดศัตรูพืช 

การกินผักและผลไม้เพียงพอ (อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน) แสดงให้เห็นว่า มีความสัมพันธ์กับความสุขของคนไทย4  รวมไปถึงการมีสุขภาพกายที่แข็งแรงด้วย5  ซึ่งอาจสามารถอธิบายได้จากสารอาหารบางชนิดในผักและผลไม้ที่อาจส่งผลต่อความสุขของบุคคลได้ เช่น วิตามิน B ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลในกลุ่มประชากรที่มีสุขภาพดี6  วิตามิน C และ E มีประโยชน์ต่อการแก้อาการซึมเศร้าในกลุ่มประชากรทั่วไป7  และผู้สูงอายุ8 

การศึกษานี้จึงเสนอให้เห็นความสำคัญของการบริโภคผักและผลไม้ให้เพียงพอ (อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน) ตามคำแนะนำ รวมไปถึงการดำเนินนโยบายที่ช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผักผลไม้ และกำหนดมาตรการที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละกลุ่มประชากร ที่อาจมีทัศนคติความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนไทยและส่งเสริมสุขภาพใจที่ดีที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อส่งผลต่อสุขภาพกายโดยรวมให้ดีขึ้นตามมาด้วย 


อ้างอิง

  1. Mujcic, R., and A. J. Oswald. 2016. Evolution of well-being and happiness after increases in consumption of fruit and vegetables. American Journal of Public Health 106 (8):1504–10. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/27400354. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/arti cles/PMC4940663/.
  2. Guven, C., and I. Hoxha. 2015. Rain or shine: Happiness and risk-taking. The Quarterly Review of Economics and Finance 57:1–10. http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/ S1062976914000830
  3. Goudie, R. J. B., S. Mukherjee, J. E. de Neve, A. J. Oswald, and W. Stephen. 2014. Happiness as a driver of risk-avoiding behaviour: Theory and an empirical study of seatbelt wearing and automobile accidents. Economica 81 (324):674–97. doi:10.1111/ecca.12094.
  4. Piqueras, J. A., W. Kuhne, P. Vera-Villarroel, A. van Straten, and P. Cuijpers. 2011. Happiness and health behaviours in Chilean college students: A cross-sectional survey. BMC Public Health 11 (1):443. doi:10.1186/1471-2458-11-443.
  5. Mwinnyaa, G., T. Porch, J. Bowie, and R. J. Thorpe Jr. 2018. The association between happiness and self-rated physical health of African American MEN: A population-based cross-sectional study. American Journal of Men’s Health 12 (5):1615–20. https://www.ncbi. nlm.nih.gov/pubmed/29947566. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6142117/.
  6. Rooney, C., M. C. McKinley, and J. V. Woodside. 2013. The potential role of fruit and vegetables in aspects of psychological well-being: A review of the literature and future directions. Proceedings of the Nutrition Society 72 (4):420–32. doi:10.1017/ s0029665113003388.
  7. Morgan, A. J., and A. F. Jorm. 2008. Self-help interventions for depressive disorders and depressive symptoms: A systematic review. Annals of General Psychiatry 7 (1):13. doi:10.1186/1744-859x-7-13.
  8. Payne, M. E., S. E. Steck, R. R. George, and D. C. Steffens. 2012. Fruit, vegetable, and antioxidant intakes are lower in older adults with depression. Journal of the Academy of Nutrition and Dietetics 112 (12):2022–27. doi: 10.1016/j.jand.2012.08.026.

ที่มา

Phulkerd, S., Thapsuwan, S., Thongcharoenchupong, N., Chamratrithirong, A., & Gray, R. S. (2020). Linking fruit and vegetable consumption, food safety and health risk attitudes and happiness in Thailand: evidence from a population-based survey. Ecology of Food and Nutrition, 60(2), 257-272.    



CONTRIBUTORS

Related Posts
มะเร็ง

วรชัย ทองไทย

แรด

วรชัย ทองไทย

การเดินทางไกลที่คุ้มค่า

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ประเด็นทางประชากรและสังคม

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

กายิกสุข

วรชัย ทองไทย

สุขอย่างไร……..สุขแบบคนไทย ๔.๐

ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

เพศหลากหลาย Happy SDG กับ ภาพจำ ที่เปลี่ยนผ่าน?

วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

ปฐมบทของการผ่อนคลายด้วยดนตรีบำบัด

สุภิรัฐพงศ์ พงศ์ศักดิ์ศรี

สมมุติฐาน

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th