การกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอ เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของประชากรโลก1 แม้ว่าประเทศไทยจะติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก สำหรับประเทศที่มีการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ดี2 แต่จากการสำรวจระดับประเทศในปี 25573 กลับพบว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังคงกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอ คือ กินผักและผลไม้น้อยกว่า 5 ส่วนต่อวัน หรือไม่ถึง 400 กรัมต่อวัน ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ4
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดทำโครงการศึกษาพฤติกรรมการกินผักและผลไม้ของคนไทย และวิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 6,991 คน ซึ่งมาจากการสุ่มตัวอย่างของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่สามารถนำมาเป็นตัวแทนในระดับประเทศได้ โดยศึกษาปัจจัยทางประชากรและสังคมที่มีอิทธิพลต่อการกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอของประชากรไทยกลุ่มนี้
ผลการศึกษา ชี้ให้เห็นว่า เกือบ 2 ใน 3 ของคนไทย (ร้อยละ 65.5) กินผักและผลไม้ไม่เพียงพอ โดยกินเฉลี่ยเพียง 336.9 กรัมต่อวัน (จากคำแนะนำให้กินอย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน) โดยปัจจัยด้านเพศ อายุ สถานภาพสมรส การศึกษา อาชีพ และรายได้ มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอของคนไทย
ผู้ชายมีแนวโน้มกินผักและผลไม้น้อยกว่าผู้หญิง5 ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างทางเพศ ในด้านความตระหนักด้านสุขภาพ และความจำเป็นในการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์6 ดังนั้นควรดึงดูดความสนใจของผู้ชาย โดยอาจเชื่อมโยงการกินผักและผลไม้เข้ากับการส่งเสริมความเป็นชาย เช่น การกินพืชผักช่วยในการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ เป็นต้น
กลุ่มวัยที่มีอายุน้อย (15-29 ปี) และกลุ่มผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) มีแนวโน้มกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอมากกว่าวัยอื่น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ ที่พบว่า บุคคลที่เข้าสู่วัยหนุ่มสาวจะเริ่มใช้ชีวิตอย่างอิสระและเสี่ยงต่อพฤติกรรมการกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพ7 ในขณะที่วัยผู้สูงอายุอาจเป็นผลเนื่องมาจากความพิการหรือความบกพร่องของการเคลื่อนไหว ซึ่งก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการแสวงหาผักและผลไม้มากิน
คนโสดมีแนวโน้มกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอมากกว่ากลุ่มคนที่แต่งงานแล้ว ซึ่งอาจเป็นเพราะความสัมพันธ์แบบสามีภรรยาสามารถเชื่อมโยงพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพซึ่งกันและกันของทั้งคู่ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการรับประทานอาหารที่ดีสุขภาพด้วย8
คนกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอมากกว่าคนในพื้นที่อื่น อาจเนื่องจากชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพถูกจำกัดด้วยเวลาและตารางการเดินทาง จำเป็นต้องกินอาหารนอกบ้าน และเลือกกินผักและผลไม้ได้น้อยลง9 ในขณะที่คนเมือง (ในเขตเทศบาล) และชนบท (นอกเขตเทศบาล) กลับไม่มีความแตกต่างในการกินผักและผลไม้มากนัก อาจเนื่องมาจากคนเมืองมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงผักและผลไม้ได้ไม่แตกต่างกับคนชนบท
กลุ่มพนักงานบริษัทเอกชนพบปัญหาการกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอมากที่สุด อาจเป็นเพราะที่ทำงานส่วนใหญ่มักจะมีสภาพแวดล้อมทางอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ไม่เอื้อต่อการเข้าถึงผักผลไม้ได้ง่าย10
คนมีระดับการศึกษาสูงขึ้น และคนมีรายได้สูงขึ้นมีแนวโน้มกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอลดลง11 อาจเนื่องมาจากคนกลุ่มนี้ อาจมีความความรู้ความตระหนัก และมีโอกาสในการเข้าถึงและสามารถซื้ออาหารเพื่อสุขภาพรวมไปถึงผักและผลไม้ได้มากขึ้นกว่ากลุ่มอื่น12
ที่มา:
Phulkerd, S., Thapsuwan, S., Thongcharoenchupong, N., Soottipong Gray, R. and Chamratrithirong, A. (2020), "Sociodemographic differences affecting insufficient fruit and vegetable intake: a population-based household survey of Thai people", Journal of Health Research, Vol. 34 No. 5, pp. 419-429.
จากงานวิจัย โครงการสำรวจติดตามพฤติกรรมการกินผักและผลไม้ของคนไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
อ้างอิง: