The Prachakorn

ออมเพื่อเก็บ และ ออมเพื่อลงทุน


เฉลิมพล แจ่มจันทร์

07 มิถุนายน 2565
626



การเตรียมตัวสำหรับชีวิตในวัยสูงอายุเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนัก วางแผน และเตรียมการตั้งแต่ในช่วงวัยทำงานโดยเฉพาะด้านการเงิน เพื่อการมีหลักประกันความมั่นคงทางรายได้ที่เพียงพอให้กับตัวเอง ในช่วงวัยที่ความสามารถในการทำงานเริ่มถดถอย และการคาดหวังความช่วยเหลือสนับสนุนจากครอบครัว รวมถึง สวัสดิการรัฐอาจเป็นไปได้น้อยลง

การสนับสนุนให้คนไทยวัยทำงาน มีพฤติกรรม “การออม” เพื่อชีวิตในวัยสูงอายุ หรือหลังเกษียณจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ อย่างไรก็ตาม การให้ออมเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ แต่ควรต้องสนับสนุนไปพร้อมกับการให้ความรู้และทักษะการวางแผนทางการเงิน รวมถึงการลงทุนเพื่อให้เงินออมที่เก็บไว้ สามารถก่อให้เกิดรายได้และผลตอบแทนที่คุ้มค่าในระยะยาวด้วยเช่นกัน การลงทุนในทุกลักษณะย่อมมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่การลงทุนทำกิจการส่วนตัว แต่ความเสี่ยงนั้นก็มาพร้อมกับผลตอบแทนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการออมเป็นเงินสด หรือการฝากธนาคารไว้เฉยๆ ซึ่งหากผู้ลงทุนมีความรู้และทักษะที่เพียงพอ รวมถึงสามารถประเมินและจัดการความเสี่ยงที่ยอมรับได้ได้อย่างเหมาะสม ความเสี่ยงจากการลงทุนที่ล้มเหลว หรือขาดทุนก็ย่อมลดลง

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) อัตราเงินปันผลตอบแทนของตลาดเฉลี่ยในปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ลดลงจากร้อยละ 3 กว่าๆ ในปีก่อนหน้า ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 แต่อัตราผลตอบแทนนี้ก็ยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ถึง 8 เท่า หรือ ดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่ธนาคารพาณิชย์ถึง 4-5 เท่า (แผนภูมิ 1 และ 2)

แผนภูมิ 1 อัตราเงินปันผลตอบแทนของตลาด SET (ร้อยละ)


แผนภูมิ 2 อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ธนาคารพาณิชย์ (ธ.ค. 2564)

ที่มา: (1) สถิติภาพรวมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรายปี (https://www.set.or.th/static/mktstat/Market_Statistics_th_TH.xls;) (2) อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับบุคคลธรรมดาของธนาคารพาณิชย์ (กรุงไทย กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ และกรุงศรีอยุธยา) วันที่ 29 ธันวาคม 2564, ธนาคารแห่งประเทศไทย

โครงการวิจัย “ความคาดหวัง การวางแผนและการเตรียมตัวของประชากรวัยทำงานต่างรุ่นอายุและรูปแบบการอยู่อาศัยต่อชีวิตในวัยสูงอายุ” โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการสำรวจออนไลน์กับกลุ่มประชากรไทยวัยทำงานจำนวน 1,734 คน ในปี 2564 พบว่า รูปแบบการออมของคนวัยทำงานไทยส่วนใหญ่ ยังเป็นลักษณะ “ออมเพื่อเก็บหรือสะสม” มากกว่า “ออมเพื่อลงทุน”

ในภาพรวม (แผนภูมิ 3) กว่า 3 ใน 5 ของกลุ่มตัวอย่าง (ร้อยละ 61.9) มีการออมแบบเก็บสะสมเพียงอย่างเดียว (ทั้งการเก็บสะสมระยะสั้นที่มีสภาพคล่องสูง เช่น เก็บเป็นเงินสด หรือฝากธนาคาร และการเก็บสะสมระยะยาวที่มีสภาพคล่องต่ำกว่า เช่น การทำประกันชีวิตแบบออมหรือ เงินบำนาญ กองทุนรวมเพื่อการออมระยะยาว พันธบัตรรัฐบาล หรือกองทุนชุมชน เป็นต้น) ขณะที่ มีเพียงร้อยละ 38.1 ที่มีการออมทั้งแบบเก็บสะสมและออมแบบลงทุนควบคู่กัน (เช่น ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ทำกิจการ รวมถึง บิตคอยน์) โดยกลุ่มประชากรเจเนอเรชัน Y มีสัดส่วนที่ออมแบบเก็บสะสมและออมแบบลงทุนควบคู่กัน รวมถึงออมแบบลงทุนเพียงอย่างเดียว สูงกว่าเจเนอเรชันอื่น

แผนภูมิ 3 รูปแบบการออมของคนวัยทำงาน (อายุ 18-59 ปี) จำแนกตามเจเนอเรชัน

ที่มา: จงจิตต์ ฤทธิรงค์ เฉลิมพล แจ่มจันทร์ พิมลพรรณ นิตย์นรา และณัฐณิชาลอยฟ้า. (2565). ความคาดหวัง การวางแผนและการเตรียมตัวของประชากรวัยทำงานต่างรุ่นอายุ และรูปแบบการอยู่อาศัยต่อชีวิตในวัยสูงอายุ. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

การวิเคราะห์ทางสถิติ เกี่ยวกับปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการออมนี้ ให้ข้อค้นพบและข้อเสนอแนะที่น่าสนใจว่า ในการส่งเสริมให้คนไทยวัยทำงานมีพฤติกรรมการออมเพื่อลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าและสามารถสร้างความมั่นคงทางรายได้ในวัยสูงอายุได้ดีกว่าการออมแบบเก็บสะสมเพียงอย่างเดียวนั้นแม้ว่าต้องครอบคลุมให้ความสำคัญกับคนวัยทำงานทุกคน แต่ก็อาจมุ่งเน้นเป็นพิเศษในกลุ่มคนวัยทำงานเพศหญิง ผู้ที่จบการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ผู้ที่ประกอบอาชีพในสถานภาพการทำงานที่นอกเหนือไปจากการประกอบธุรกิจส่วนตัว (ซึ่งในกลุ่มนี้ มักเป็นกลุ่มที่มีการลงทุนเพื่อทำกิจการใดประกอบเป็นอาชีพอยู่แล้ว) เช่น ลูกจ้างและพนักงาน ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงนักเรียนนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ และประชากรวัยทำงานที่อาศัยอยู่นอกเขตเมือง



CONTRIBUTOR

Related Posts
ครัวเรือนผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

กาญจนา เทียนลาย,ศุทธิดา ชวนวัน,ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น

ผู้สูงอายุกับราวจับ

ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

Longevity Star ในประเทศจีน

ศุทธิดา ชวนวัน

กินคาวไม่กินหวานสันดานไพร่

ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์

ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Prachakorn Forum EP.7 | สูงวัยในเมืองหลวง

สุรีย์พร พันพึ่ง,ตะวันชัย​ จิ​ร​ประมุข​พิทักษ์

โลกเราเปลี่ยนไปตามวัย

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ออมก่อน พร้อมก่อน

วรรณี หุตะแพทย์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th