The Prachakorn

การก้าวข้ามบาดแผลทางใจร่วมของสังคมในยุคโควิด-19


ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

16 มิถุนายน 2564
892



ช่วงนี้ใครเป็นแบบนี้บ้างคะ

เช้า

อาบน้ำ แปรงฟัน รับประทานอาหารเช้า เช็คข่าวจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ฉันจะติดเชื้อไหมนะ พ่อแม่พี่น้องเราปลอดภัยดีไหม

กลางวัน

รับประทานอาหารกลางวันไปฟังข่าวเที่ยงไป คนฉีดวัคซีนไปแล้วกี่คน วัคซีนจะพอมั้ย เมื่อไรฉันจะได้ฉีด จะมาอีกกี่โดส สิ้นปีนี้จะฉีดครบ 100 ล้านโดสไหม

เย็น

ออกจากบ้านไปซื้อของ ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ สวนหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ เอ๊ะ คนนั้นติดเชื้อไหมนะ แม่ค้าที่เราซื้อของด้วยไปไหนมาบ้าง รีบเดิน รีบกลับ ออกจากตลาดล้างมือด้วยแอลกอฮอล์อีกรอบ เข้าบ้านแล้วก็ต่อด้วยการล้างมือถูสบู่ หรือไม่ก็อาบน้ำไปเลย

ตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 ชีวิตของเราก็ไม่เหมือนเดิมอีกเลย นอกจากเราจะต้องปรับตัวจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปซึ่งก็ให้เกิดความเครียดแล้ว หลาย ๆ คนยังต้องพบเจอกับปัญหาอีกหลายด้านที่เป็นผลกระทบจากโรคระบาด เช่น ความกังวลต่อการติดโรค เป็นห่วงคนในครอบครัว สัมพันธภาพในครอบครัวตึงเครียดมากขึ้น ต้องอยู่ห่างจากครอบครัวและเพื่อน ประสบปัญหาเศรษฐกิจย่ำแย่ รายได้ลดลง กิจการต้องปิดตัวลง ถูกสั่งให้ออกจากงาน การปรับตัวเพื่อทำงานที่บ้าน การเลี้ยงลูกที่บ้าน การเรียนออนไลน์ของลูก ความสิ้นหวัง การรอคอยวัคซีน การรอคอยให้โรคร้ายหายไป และอื่น ๆ อีกมาก

ในช่วงสถานการณ์โควิค-19 นี้ทำให้ประชาชนต้องพบเจอกับความท้าทายและความเครียดเรื้อรังที่อยู่กับเรายาวมากว่าหนึ่งปี แต่ความเครียด ความกังวล หรือแม้กระทั่งภาวะซึมเศร้าที่หลาย ๆ คนพบเจอนั้น อาจไม่ได้เป็นสถานการณ์เฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น แต่อาจเป็นสัญญาณของบาดแผลทางใจร่วมของสังคม (collective trauma) อีกด้วย

ที่มา Microsoft Office Stock Images

คำว่า บาดแผลทางใจ (trauma) โดยทั่วไปแล้วหมายถึงผลกระทบจากเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจของบุคคลอย่างรุนแรง แต่คำว่า บาดแผลทางใจร่วมของสังคม (collective trauma) นั้น หมายถึง ประสบการณ์ที่ส่งผลต่อจิตใจของกลุ่มคน ชุมชน หรือสังคม บาดแผลทางใจร่วมของสังคมไม่เพียงจะนำไปสู่ความตึงเครียดและผลกระทบเชิงลบต่อคนในสังคมเท่านั้น แต่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมและชุมชนอย่างลึกซึ้งอีกด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงลักษณะความสัมพันธ์ของคนในสังคม การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐ การเปลี่ยนแปลงการทำงานของโครงสร้างทางสังคม หรือบรรทัดฐานทางสังคม ตัวอย่างเช่น หลังเหตุการณ์ 9/11 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเผชิญกับการก่อการร้าย ทำให้นโยบายความปลอดภัยในการการเดินทางทางอากาศเปลี่ยนไปนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นเกือบ 20 ปีมาแล้ว แต่นโยบายดังกล่าวก็ยังใช้อยู่จวบจนถึงปัจจุบัน1

มีสถานการณ์หลายรูปแบบที่สามารถนำไปสู่บาดแผลทางใจร่วมของสังคม เช่น สงคราม ภัยธรรมชาติ การก่อการร้าย โรคระบาด ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ภาวะความหิวโหยและความยากจนอย่างรุนแรง1 ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ก็ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่นำไปสู่บาดแผลทางใจร่วมของสังคมได้เช่นเดียวกัน

สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคงจะเป็นความเศร้าโศกในวงกว้างที่เกิดขึ้นในสังคม2  จากข่าวการสูญเสียชีวิตรายวัน ยิ่งไปกว่านั้นผู้ที่ต้องสูญเสียคนรักหรือญาติจากโรคร้ายนี้ ก็แทบจะไม่ได้เยี่ยมเยียนหรือบอกลากันต่อหน้า ซึ่งการเว้นระยะห่างในห้วงเวลาของการสูญเสียได้ทิ้งบาดแผลทางจิตใจให้ญาติผู้เสียชีวิต โควิด-19 ยังทำให้เราปรับเปลี่ยนตัวเองในระดับพฤติกรรม การใช้ชีวิตเต็มไปด้วยความวิตกกังวลว่าตนเองจะติดเชื้อหรือไม่ คนในครอบครัวจะเป็นอย่างไร การงาน การเงิน อาชีพ จะไปทางไหน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความวิตกกังวลในวงกว้างที่เราเห็นพบเห็นและประสบด้วยตัวเองในปัจจุบัน

ในระดับสังคมและนโยบาย เราได้เห็นการปรับเปลี่ยนนโยบายตามสำนักงานต่าง ๆ ให้มีการทำงานที่บ้านเพิ่มมากขึ้น หลายที่ระบุว่าอาจให้พนักงานทำงานลักษณะนี้ไปจนถึงช่วงหลังโรคระบาด รัฐบาลออกนโยบายกำหนดจำนวนคนที่เข้ารับบริการในสถานที่ต่าง ๆ และมาตรการเว้นระยะห่าง เช่น สถานที่ราชการ ร้านอาหาร ร้านค้า และถึงแม้ว่าประชาชนจะได้ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังต้องใส่หน้ากากอนามัยต่อไปตามนโยบายของรัฐ มาตรการเหล่านี้อาจอยู่กับเราไปอีกนานเป็นปีหลังจากสถานการณ์โรคระบาดหมดลง เพราะเชื้อไวรัสอาจกลายพันธุ์และเกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นมาอีก ความไม่แน่นอนเหล่านี้อาจยังคงอยู่ไปอีกระยะหนึ่งแม้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปบ้างแล้ว

แล้วเราจะก้าวข้ามบาดแผลทางใจร่วมทางสังคมได้อย่างไร?

ความแตกต่างของบาดแผลทางใจของบุคคลกับบาดแผลทางใจร่วมของสังคม คือ เมื่อประสบกับบาดแผลทางใจร่วมของสังคม ผู้คนไม่รู้สึกว่าตนเองเดียวดาย แต่ยังมีผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกันหรือมีผู้ที่ทุกข์ยากกว่าเราอีกจำนวนมาก เราจะเห็นถึงความช่วยเหลือทางสังคมที่เกิดขึ้น มีการบริจาคอาหารให้ผู้กักตัว การบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาล ผู้คนในสังคมมองเห็นถึงความยากลำบากของกันและกัน และหยิบยื่นความช่วยเหลือแก่คนที่ลำบากกว่า การช่วยเหลือผู้อื่นนี้ถือว่าเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยเยียวยาจิตใจของทั้งผู้ให้และผู้รับ3  และสะท้อนถึงการก้าวข้ามปัญหาไปด้วยกันของคนในสังคม

การให้ความหมาย (meaning-making) ต่อเหตุการณ์ก็อาจเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยให้สังคมก้าวข้ามบาดแผลทางใจได้เช่นกัน เช่น การสร้างจุดประสงค์ร่วมของคนในสังคมหรือการออกนโยบายที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกและความเท่าเทียมกันในสังคม เป็นต้น3

ที่มา Microsoft Office Stock Images

ในระดับบุคคล ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ผู้ที่ประสบกับบาดแผลทางใจเล่าถึงความยากลำบากของตนเองให้ผู้อื่นได้รับรู้ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักบำบัดหรือจิตแพทย์ เพื่อให้สามารถก้าวข้ามบาดแผลทางใจที่เกิดขึ้น การลดการใช้สื่อโซเชียล การพักผ่อนหย่อนใจ การออกกำลังกาย หรือการทำงานอดิเรก ก็สามารถช่วยเยียวยาจิตใจได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ทั้งนั้นกิจกรรมที่จะนำไปสู่การเยียวยาของแต่ละคนไม่เหมือนกันและคงไม่มีวิธีไหนที่จะเป็นวิธีที่แก้ปัญหาให้กับทุกคนได้3,4  อย่างไรก็ตาม การก้าวข้ามบาดแผลทางใจนั้นเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา และเราควรจะให้เวลากับทั้งตัวเองและสังคมในการทำความเข้าใจกับสถานการณ์และสภาพจิตใจ ก่อนที่จะไปสู่หนทางเยียวยาและข้ามผ่านสถานการณ์เหล่านี้ไปได้


อ้างอิง

  1. Turmaud, D. R. (2020, May 23). What is collective trauma? How it could be impacting us. Retrieved from Psychology Today: https://www.psychologytoday.com/us/blog/lifting-the-veil-trauma/202005/what-is-collective-trauma
  2. Prideaux, E. (2021, February 4). How to heal the 'mass trauma' of Covid-19. Retrieved from BBC: https://www.bbc.com/future/article/20210203-after-the-covid-19-pandemic-how-will-we-heal
  3. Bologna, C. (2021, April 9). How is collective trauma different from individual trauma? Retrieved from Huffington Post: https://www.huffpost.com/entry/collective-trauma-meaning_l_606cc3cfc5b6c70eccaa99cd
  4. Ringer, J. (2021, May 5). Understanding the long-term collective trauma from COVID-19. Retrieved from Loma Linda University: https://news.llu.edu/health-wellness/understanding-long-term-collective-trauma-from-covid-19


CONTRIBUTOR

Related Posts
Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

ผู้หญิงในสถานการณ์โควิด-19

กัญญาพัชร สุทธิเกษม

COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ

นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

ด้วยรักและโรคระบาด

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

โกหกคำโต (big lie)

วรชัย ทองไทย

เมื่อโควิด-19 กำลังจะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

อาชีพกับเรื่องอ้วนๆ

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th