The Prachakorn

วิกฤตโควิด-19 กับงบสวัสดิการสังคมที่หายไป


ณปภัช สัจนวกุล

30 กรกฎาคม 2564
334



ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 

ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ที่สาหัสและรุนแรงยิ่งกว่าการแพร่ระบาดในระลอกที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ (21 ก.ค. 2564) มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเกินหมื่นรายต่อวัน มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นวันละร่วมร้อยราย รวมแล้วประเทศไทยมียอดผู้เสียชีวิตสะสมจากโควิด-19 มากถึง 3,500 ราย1 แม้ตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศไทยอาจดูไม่มากนักเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ แต่เราต้องไม่ลืมว่า ทุกการสูญเสียที่เกิดขึ้นล้วนหมายถึงชีวิตคน

วิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้คนไทยนับล้านคนต้องตกงาน ใครไม่เคยเป็นหนี้จำต้องตกอยู่ในสภาวะของการเป็นหนี้ บางคนกลับมีหนี้มากขึ้น มีหลายครอบครัวต้องล้มละลาย หลายกิจการต้องปิดตัวลง บางคนมีบ้านมีรถแต่ต้องปล่อยให้ธนาคารยึดไปเพราะไม่มีกำลังจะผ่อนชำระไหว เด็กจบใหม่หลายแสนคนไม่มีแม้แต่โอกาสจะได้เข้าสู่ระบบการทำงาน มีเด็กนักเรียนอีกไม่น้อยที่ต้องหลุดจากระบบการศึกษาไปเพราะพ่อแม่ไม่มีกำลังพอจะจ่ายค่าเทอม ยังไม่ต้องพูดถึงวิกฤตความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในทุกระดับของสังคม

หน้าที่รัฐกับการสร้างตาข่ายรองรับทางสังคม

วิกฤตครั้งนี้มีแนวโน้มจะรุนแรงยิ่งกว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540 และบางทีวิกฤตครั้งนี้อาจมีผลสืบเนื่องไปอีกนานแม้การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จะสิ้นสุดลง ดังนั้น ในช่วงวิกฤตแบบนี้ คือช่วงเวลาที่รัฐบาลมีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงที่ต้องกางและขึง “ตาข่ายรองรับทางสังคม” (social safety net) ให้กว้างและแข็งแรงที่สุด เพื่อช่วยรองรับประชาชนที่ล้มจากวิกฤตโควิด-19 ให้ลุกขึ้นยืนเองได้เร็วที่สุด ซึ่งวิธีการที่ทำได้นั่นก็คือการสร้างระบบสวัสดิการสังคมที่เพียงพอ รวดเร็ว และเป็นธรรม

งบสวัสดิการของประชาชนที่หายไป

หากลองดูร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จะพบว่า งบประมาณประเทศในปี 2565 ถูกปรับลดลง 5.7% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยมีวงเงินอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านบาท2 แต่คงเป็นเรื่องปกติในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ที่รัฐบาลไม่อาจเก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้การจัดสรรงบฯ ไปยังหน่วยงานต่างๆ ถูกปรับลดลงอย่างถ้วนหน้า

แต่หากจำแนกงบประมาณตามลักษณะงาน กลับพบว่า งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการสังคม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้าง “ตาข่ายรองรับทางสังคม” ให้แก่ประชาชนในภาวะวิกฤตแบบนี้ กลับถูกปรับลดลงแทบทุกรายการ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม (ลดลง 47.1%) ด้านสังคมสงเคราะห์ (ลดลง 19.8%) และด้านสาธารณสุข (ลดลง 10.8%) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการปรับลดลงของงบด้านการป้องกันประเทศ (ลดลง 4.9%) ทุกวันนี้ผู้เขียนเองไม่แน่ใจว่า ประเทศเรายังจำเป็นต้องทำสงครามกับใคร ถ้าจะมีอยู่ตอนนี้ก็เห็นจะเป็นแต่การทำสงครามกับเชื้อโรคที่ช่างยืดเยื้อจริงๆ ในรายละเอียด พบว่า งบสวัสดิการของประชาชนในปี 2565 ถูกปรับลดลงเมื่อเทียบกับงบปี 2564 จำนวนหลายรายการ เช่น งบการเคหะแห่งชาติ (ลดลง 53.2%) กองทุนการออมแห่งชาติ (ลดลง 50.5%) กองทุนประชารัฐสวัสดิการฯ (ลดลง 39.4%) กองทุนประกันสังคม (ลดลง 30.7%) รวมถึงงบบัตรทอง (ลดลง 1.3%)3 การตัดงบสวัสดิการของประชาชนเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในการจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาลที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ประชาชนกว่าค่อนประเทศกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก เปราะบาง และต้องการความช่วยเหลือจากรัฐมากที่สุด

ตารางเปรียบเทียบงบประมาณรายจ่ายจำแนกตามลักษณะงาน (ปีงบประมาณ 2564-65) 

ลักษณะงาน ปีงบประมาณ ปีงบประมาณ 2565 เทียบกับ ปีงบประมาณ 2564
2564 2565
จำนวน ร้อยละ จำนวน ร้อยละ จำนวน ร้อยละ
การบริหารทั่วไป 1,148,817.5 35.0  1,120,424.3 36.1 -28,393.2 -12.60
การบริหารทั่วไปของรัฐ 736,591.5 22.4 733,030.8 23.6 -3,560.7 -0.50
การป้องกันประเทศ 210,203.3 6.4 199,820.7 6.4 -10,382.6 -4.90
การรักษาความสงบภายใน 202,022.7 6.2 187,572.8 6.1 -14,449.9 -7.20
การเศรษฐกิจ 669,622.6 20.4 691,452.5 22.3 21,829.9 3.30
การเศรษฐกิจ 669,622.6 20.4 691,452.5 22.3 21,829.9 3.30
การบริการชุมชนและสังคม 1,467,522.4 44.6  1,288,123.2 41.6 -179,399.2 -102.50
การสิ่งแวดล้อม 16,143.4 0.5 8,533.8 0.3 -7,609.6 -47.10
การเคหะและชุมชน 147,594.8 4.5 131,707.3 4.3 -15,887.5 -10.80
การสาธารณสุข 343,906.2 10.4 306,699.4 9.9 -37,206.8 -10.80
การศาสนา วัฒนธรรมและนันทนาการ 20,438.9 0.6  18,696.1 0.6 -1,742.8 -8.50
การศึกษา 482,764.5 14.7 456,240.1 14.7 -26,524.4 -5.50
การสังคมสงเคราะห์ 456,674.6 13.9 366,246.5 11.8 -90,428.1 -19.80
รวมทั้งสิ้น 3,285,962.5 100.0  3,100,000.0 100.0 -185,962.5 -111.80

ที่มา: สำนักงบประมาณ. (2564). งบประมาณโดยสังเขป ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565.

แม้รัฐบาลอาจมองว่าสามารถนำงบที่ได้จากการกู้เงิน (รวมกว่า 2.4 ล้านล้านบาท) ซึ่งแยกออกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี มาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 และเพื่อช่วยเหลือเยียวยาให้กับประชาชน รวมทั้งเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 เป็นการเฉพาะ แต่การปรับลดงบด้านสวัสดิการของประชาชนในสัดส่วนที่มากกว่างบประมาณส่วนอื่นๆ จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีแบบนี้ อาจลดทอนประสิทธิภาพในการจัดสวัสดิการสังคม และมีโอกาสส่งผลในทางลบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน

วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนไม่ได้ก่อ รัฐบาลก็เช่นกัน แต่เมื่อวิกฤตเกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลย่อมมีหน้าที่โดยตรงในการนำเงินภาษีทุกบาททุกสตางค์มาใช้เพื่อปกป้อง คุ้มครอง และดูแลชีวิตประชาชน รวมถึงพาประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด ดังนี้แล้ว จึงขอชวนผู้อ่านมาร่วมกันตั้งคำถามไปด้วยกันว่า รัฐบาลได้ทำหน้าที่พื้นฐานเหล่านี้อย่างสมบูรณ์แล้วหรือยัง


  1. WorkPointNews. (2564). ยืนยันตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั้งหมดใน ประเทศไทย. https://covid19.workpointnews.com
  2. สำนักงบประมาณ. (2564). งบประมาณโดยสังเขป ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565. 
  3. สำนักงบประมาณ. (2564). ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565.
     


CONTRIBUTOR

Related Posts
สถานการณ์โลกปี 2566

อมรา สุนทรธาดา

ทุนสังคม พลังสังคม

ภูเบศร์ สมุทรจักร

Work From Home คำ.ตอบ Work-Life Balance?

มนสิการ กาญจนะจิตรา

มหาวิทยาลัยแบบไหนครองใจนักศึกษาไทย

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

นโยบาย Replacement Migration กับ โควิด-19

อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

COVID-19 โรคเปลี่ยนโลก

ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา

มารู้จักวัคซีนโควิด 19

มนสิการ กาญจนะจิตรา

ผู้หญิงในสถานการณ์โควิด-19

กัญญาพัชร สุทธิเกษม

มองโลกในแง่ดีในปีใหม่

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th