The Prachakorn

“การสูงวัยในที่เดิม” เป็นคำตอบหรือไม่ของสังคมสูงวัยในประเทศไทย


ณปภัช สัจนวกุล

20 ตุลาคม 2563
773



ปัจจุบันการสูงวัยของประชากรไทยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากอัตราเกิดที่ลดลงและการที่ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น สศช. คาดประมาณว่าในปี 2565 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” (complete aged society) คือจะมีสัดส่วนของประชากรสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด แต่หนึ่งในปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิตอย่างที่อยู่อาศัยยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ท้าทายคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไทย ทั้งในแง่ความเพียงพอคุณภาพ และความเหมาะสม

ในเวทีเสวนาวิชาการประเด็นนโยบายและการจัดการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย ที่จัดโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ (มส.ผส.) เมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมนำเสนอผลการศึกษาจากโครงการ “การทบทวนและวิเคราะห์นโยบายรัฐด้านการจัดการที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุไทย” เพื่อร่วมกันหาคำตอบว่า ที่ผ่านมาภาครัฐดำเนินนโยบายด้านการจัดการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุอย่างไร และควรจะดำเนินนโยบายดังกล่าวต่อไปในรูปแบบใด

ผลการศึกษาของผู้เขียน พบว่า แม้สังคมไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา แต่นโยบายของภาครัฐที่เกี่ยวกับการจัดการที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับสังคมสูงวัย เพิ่งปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ “มาตรการรองรับสังคมสูงวัย” ซึ่งการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุและการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เป็น 2 ใน 4 มาตรการที่รัฐให้ความสำคัญ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ

ในภาพรวม รัฐบาลมีมาตรการ/โครงการด้านการจัดการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่หลากหลายภายใต้การดำเนินงานของหลายหน่วยงานแต่โดยรวมแล้วเป็นไปตาม 2 แนวทางหลัก ๆ ด้วยกันคือ (1) แนวทางการสร้างที่อยู่อาศัยเชิงสถาบัน (institutional-based living) ที่มุ่งเน้นการนำผู้สูงอายุมาอาศัยอยู่รวมกัน ทั้งในรูปแบบสถานสงเคราะห์และรูปแบบที่พักอาศัยที่มาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกแบบครบวงจร และ (2) แนวทางการส่งเสริมการสูงวัยในที่เดิม (ageing in place) ที่มุ่งเน้นการอยู่อาศัยร่วมกันหลายรุ่นวัย ทั้งในรูปแบบการซ่อมแซมบ้าน เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก หรือปรับปรุงสภาพแวดล้อมในพื้นที่สาธารณะ และรูปแบบการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ตามแนวคิด “การออกแบบเพื่อทุกคน” (universal design) เพื่อให้สามารถอยู่อาศัยในบ้าน ครอบครัว และชุมชนเดิมของตัวเองได้ตลอดชีวิต

แม้ว่าจะมีบางหน่วยงานรัฐได้สนับสนุนแนวทางการสูงวัยในที่เดิมที่เน้นการอยู่อาศัยร่วมกันหลายรุ่นวัยอยู่บ้าง แต่การเทน้ำหนักไปที่แนวทางการสร้างที่อยู่อาศัยเชิงสถาบันด้วยการนำผู้สูงอายุมาอาศัยอยู่รวมกันกลับมีความโดดเด่นมากกว่าแนวทางแรกอย่างน้อยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

และแม้ว่าการสร้างที่อยู่อาศัยเชิงสถาบันจะมีรูปแบบและเป้าหมายที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้ปานกลางลงมา แต่แนวทางดังกล่าวอาจยังไม่สามารถ “ตอบโจทย์” รูปแบบและความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ได้ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงบริบทและเงื่อนไข 4 ประการสำคัญของสังคมไทย ได้แก่ (1) ข้อจำกัดเรื่องงบประมาณรัฐ (2) บทบาทนำของภาคเอกชนในตลาดที่อยู่อาศัยที่ดูแลกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูงอยู่แล้ว (3) รูปแบบการอยู่อาศัยของคนไทยส่วนใหญ่ที่ยังยึดติดกับที่อยู่อาศัยเดิม และ (4) การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ครอบคลุมและทั่วถึง “ทุกกลุ่มรายได้” โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่มักมีทางเลือกอยู่อย่างจำกัด

เป็นไปได้หรือไม่ว่า นโยบายที่สนับสนุนแนวทางการสูงวัยในที่เดิมที่มุ่งเน้นการอยู่อาศัยร่วมกันหลายรุ่นวัยอาจจะเป็น “คำตอบที่เหมาะสมที่สุด” ที่ภาครัฐควรเลือกเป็นทิศทางหลักในการดำเนินนโยบาย จึงอยากชวนผู้อ่านร่วมขบคิดไปด้วยกันว่า “แนวทางแบบไหน คือแนวทางที่ใช่ และเหมาะสมสำหรับสังคมสูงวัยภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดของประเทศไทย?” 

ขอบเขตนโยบายรัฐด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย จำแนกตามรูปแบบที่อยู่อาศัยและระดับรายได้ของผู้สูงอายุ

ขอบเขตนโยบายรัฐด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย จำแนกตามรูปแบบที่อยู่อาศัยและระดับรายได้ของผู้สูงอายุ

ที่มา: สิรินทร์ยา พูลเกิด, ณปภัช สัจนวกุล, ณัฐนี อมรประดับกุล, ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น และประทีป นัยนา. (2563). รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการวิจัยเรื่อง การทบทวนและวิเคราะห์นโยบายรัฐด้านการจัดการที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุในประเทศไทย. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

ภาพปกโดย:  People vector created by pch.vector - www.freepik.com



CONTRIBUTOR

Related Posts
การเดินทางไกลที่คุ้มค่า

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Long COVID เจอ เจ็บ แต่ไม่จบ ?

สุริยาพร จันทร์เจริญ

Web Accessibility คืออะไร?

เพ็ญพิมล คงมนต์

Highlight ศตวรรษิกชนปี 2024

ศุทธิดา ชวนวัน

บริโภคนิยม

วรชัย ทองไทย

คนจนในสหรัฐอเมริกา

อมรา สุนทรธาดา

ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th