The Prachakorn

ความอ่อนน้อมถ่อมตัว


วรชัย ทองไทย

18 มกราคม 2564
780



โลกาภิวัตน์ทำให้วัฒนธรรมหลายอย่างกำลังจะสูญหายไปจากสังคมไทย วิถีตะวันออกที่เน้นในจิตวิญญาณ การรู้จักควบคุมความรู้สึกของตัวเอง ความงามจากภายใน ความสุขที่เกิดจากใจ การแบ่งปันในสังคม และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ได้ถูกวิถีตะวันตกที่เน้นในสิ่งตรงกันข้าม เช่น วัตถุนิยม การแสดงความรู้สึกโดยไม่ต้องควบคุม ความงามของร่างกายภายนอก ความสุขจากการบริโภค การแข่งขันแย่งชิง และการเอาชนะธรรมชาติ ได้แพร่หลายเข้ามาจนทำให้คนไทยมีความสุขน้อยลงไปเรื่อย ๆ

ตัวอย่างหนึ่งคือ วัฒนธรรมของการอ่อนน้อมถ่อมตัว ที่กำลังถูกวัฒนธรรมโฆษณาตัวเองเข้าแทนที่ จนทำให้ต้องป่าวประกาศถึงความเก่งกล้าสามารถของตนให้คนอื่นรู้ ดังคำพังเพยที่ว่า “หมาขี้ไม่มีใครยกหาง” อันเป็นสำนวนที่ใช้ติเตียนคนที่ชอบโม้ โอ้อวดความเก่งของตัวเอง

ผู้ที่ไม่รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน มักจะเป็นคนยกตนข่มผู้อื่น มีนิสัยดูถูก ชอบโอ้อวด และหลงตนเอง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ไม่รู้จักควบคุมความรู้สึกของตัวเองนั่นเอง คนเรามักจะหลงตัวเอง ทำให้ประเมินความสามารถของตนสูงกว่าที่เป็นจริง ดังเช่นงานวิจัยทดลองที่ได้รับรางวัลอีกโนเบลในปี 2543 สาขาจิตวิทยา ของนักวิจัยชาวอเมริกัน 2 คน (David Dunning  และ Justin Kruger) ที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารบุคลิกภาพและจิตวิทยาสังคม (Journal of Personality and Social Psychology) เรื่อง “ไม่มีทักษะแล้วยังไม่รู้ตัวอีก: ทำไมคนที่ไม่รู้ตัวว่าตนเองไร้สมรรถภาพ ถึงได้ประเมินความสามารถของตนสูงกว่าความเป็นจริง” (http://www.avaresearch.com/files/UnskilledAndUnawareOfIt.pdf สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2564) อันมีบทคัดย่อดังนี้

“คนเรามักจะประเมินความสามารถทางปัญญาและอารมณ์ของตนสูงกว่าความเป็นจริง ทั้งนี้เพราะคนที่ขาดทักษะทางปัญญาและอารมณ์ มักจะไร้สมรรถภาพและมองไม่เห็นข้อเท็จจริง อันส่งผลให้ขาดความสามารถในการใช้ปัญญาที่ลึกซึ้ง (metacognitive) เพื่อจะได้ตระหนักถึงความสามารถจริงของตน จากผลการศึกษาพบว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยที่ได้คะแนนสอบในเรื่องอารมณ์ขัน ไวยากรณ์ และตรรกะต่ำกว่า 25% มักจะประเมินความสามารถของตนเองไว้สูงกว่าความเป็นจริงมาก โดยคิดว่าตนเองควรจะได้คะแนนสูงถึง 62% ทั้งๆ ที่ได้คะแนนเพียง 12% เท่านั้น ซึ่งความผิดพลาดในการประเมินตนเองนี้ เป็นผลมาจากการขาดทักษะที่จะใช้ปัญญาที่ลึกซึ้ง หรือไม่มีความสามารถที่จะแยกแยะความถูกต้องจากข้อผิดพลาด อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้เข้าร่วมวิจัยได้ปรับปรุงทักษะและเพิ่มความสามารถทางปัญญาให้สูงขึ้น ก็จะช่วยให้เกิดความตระหนักถึงข้อจำกัดในความสามารถของตนเอง”

สรุปแล้วความอ่อนน้อมถ่อมตัวจะเกิดขึ้นได้ เมื่อเราได้ศึกษาพัฒนาให้รู้จักตนเอง ด้วยการรู้จักใช้ปัญญาที่ลึกซึ้ง ซึ่งก็คือ “โยนิโสมนสิการ” นั่นเอง


รางวัลอีกโนเบล: รางวัลสำหรับงานวิจัยที่ “ทำให้หัวเราะก่อนคิด”

หมายเหตุ: ปรับปรุงจาก “คนหลงตัว” ใน ประชากรและการพัฒนา 29(6) สิงหาคม - กันยายน 2552: 6

รูปนำบทความ

ภาพกระจกสีความอ่อนน้อมถ่อมตัว (Humility Stained Glass) ส่วนหนึ่งของหน้าต่างในวิหาร Cathedral Notre-Dame de Lausanne ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ที่มา: https://s3.amazonaws.com/dfc_attachments/public/documents/3268319/Humility_Stained_Glass.png สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2564



CONTRIBUTOR

Related Posts
ศีลธรรม

วรชัย ทองไทย

สังคมยุคดิจิทัล

เพ็ญพิมล คงมนต์

การเดินทางไกลที่คุ้มค่า

ปราโมทย์ ประสาทกุล

สุขอย่างไร……..สุขแบบคนไทย ๔.๐

ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

สมมุติฐาน

วรชัย ทองไทย

เงิน….. งาน…… บันดาลสุขอย่างไร? ในวันที่ต้อง Work From Home

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

สุขอย่างไร……..สุขแบบคนไทย ๔.๐

ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

สมุดเบาใจ พินัยกรรมชีวิต

สุริยาพร จันทร์เจริญ

หาว

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th