The Prachakorn

ผู้บริหารในมหาวิทยาลัย ทำงานหนักน้อยกว่าเดิมไหม ในช่วงโควิดระบาด


จรัมพร โห้ลำยอง

16 ธันวาคม 2564
956



ผู้บริหาร เปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางของระบบการจัดการขององค์กร ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีอำนาจมหาศาล ได้รับความเชื่อมั่นในการตัดสินใจต่างๆ เพื่อองค์กร รวมถึงเป็นผู้รับผิดชอบหลักทั้งในความสำเร็จและความล้มเหลวขององค์กร ภาระอันใหญ่หลวงมักจะพ่วงมากับงานที่หนักทั้งกายและใจ ลองมาดูผลสำรวจกันดีกว่าไหมว่า ในกลุ่มผู้บริหารกลุ่มมหาวิทยาลัยไทย ต้องทำงานหนักมากน้อยแค่ไหน ในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 

ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยทำงานเฉลี่ย 51 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ข้อมูลการสำรวจคุณภาพชีวิต ความสุข และความผูกพัน ภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข ปี 2564  ที่รวบรวมโดยโครงการการสนับสนุนระบบปัญญานิเวศ เพื่อสร้างเสริมมหาวิทยาลัยแห่งความสุขสู่องค์กรสุขภาวะที่ยั่งยืน ซึ่งการสำรวจนี้มีการถามถึงจำนวนวันโดยเฉลี่ยที่ทำงานในหนึ่งสัปดาห์ และจำนวนชั่วโมงโดยเฉลี่ยที่ทำงานในแต่ละวัน พบว่าคนทำงานในมหาวิทยาลัยมีชั่วโมงการทำงานที่สูงกว่าชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ที่กฎหมายแรงงานไทยกำหนด ซึ่งคนทำงานกลุ่มนี้มีบทบาทเป็นทั้งผู้สร้าง ผู้ใช้ และผู้สอนนวัตกรรมความรู้ที่ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ โดยผลการสำรวจในกลุ่มบุคลากรมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่ผู้บริหาร ประกอบด้วยคณาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรสายสนับสนุน 6,668 คน จาก 6 มหาวิทยาลัยตัวอย่างในประเทศไทย ปี 2564 พบว่าทำงานเฉลี่ย 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (เอาจำนวนวันต่อสัปดาห์คูณด้วยจำนวนชั่วโมงต่อวัน) และผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นว่าชั่วโมงการทำงานของผู้บริหาร ได้แก่ อธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี รองคณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน/สำนัก รองผู้อำนวยการ หรือ ผู้อำนวยการกอง 246 คน เฉลี่ยเท่ากับ 51 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าของบุคลากรที่ไม่ใช่ผู้บริหารเพียงเล็กน้อย (ภาพที่ 1)  


 
ภาพที่ 1 ชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์ของผู้บริหารและบุคลากรอื่นในมหาวิทยาลัย ปี 2564
ที่มา: คำนวณจากฐานข้อมูลการสำรวจคุณภาพชีวิต ความสุข และความผูกพัน ภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข ปี 2564 

ชั่วโมงการทำงานของผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ลดลงเล็กน้อยในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

โดยเมื่อเปรียบเทียบชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ในปี 2562 และ 2564 ซึ่งเป็นช่วงก่อนและหลังการแพร่ระบาด พบว่า ชั่วโมงการทำงานของผู้บริหารลดลงจาก 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (จำนวนตัวอย่างในปี 2562 389 ราย) เหลือเพียง 51 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (ภาพที่ 2) คาดเดาได้ว่าเวลาที่น้อยลงน่าจะเกิดจากการประหยัดเวลาในการเดินทางไปยังสำนักงาน ในช่วง Work From Home ซึ่งคงจะเป็นข้อดีที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนวิถีการทำงาน  แต่ในอีกมุมหนึ่ง วิถีการทำงานแบบใหม่คงจะเพิ่มภาระที่ท้าทายชิ้นใหม่ให้แก่ผู้บริหารร่วมด้วย เพราะวิถีใหม่ในการทำงานมาพร้อมกับการบริหารจัดการกำลังคนระบบใหม่ ที่ต้องปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป  

 

ภาพที่ 2 ชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์ของผู้บริหารในมหาวิทยาลัย ปี 2562 และ 2564
ที่มา: คำนวณจากฐานข้อมูลการสำรวจคุณภาพชีวิต ความสุข และความผูกพัน ภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข ปี 2562 และ ปี 2564 

ชั่วโมงการทำงานของผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมีความหลากหลาย

บางกลุ่มมีชั่วโมงการทำงานไม่มากนัก แต่บางกลุ่มมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน  โดยผลการสำรวจคุณภาพชีวิต ความสุข และความผูกพัน ภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข ปี 2564 พบว่า ร้อยละ 3.6 ของผู้บริหารในมหาวิทยาลัย ทำงานน้อยกว่า 5 วันต่อสัปดาห์ (ภาพที่ 3) ในขณะที่เกือบหนึ่งในห้าของผู้บริหาร (ร้อยละ 17.9) ทำงานแบบมาราธอน  7 วันต่อสัปดาห์ ผู้บริหารจำนวนมากใช้เวลานั่งทำงานเนิ่นนานในแต่ละวัน เรียกได้ว่าทำงานแข่งกับตะวันเลยก็ว่าได้ โดยร้อยละ 12.2 ทำงาน 11-12 ชั่วโมงต่อวัน และอีกร้อยละ 7.7 นั่งทำงานนานกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน (ภาพที่ 4) 

ภาพที่ 3 ร้อยละของผู้บริหารในมหาวิทยาลัย จำแนกตามจำนวนวันทำงานต่อสัปดาห์ ปี 2564
ที่มา: คำนวณจากฐานข้อมูลการสำรวจคุณภาพชีวิต ความสุข และความผูกพัน ภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข ปี 2564 

ภาพที่ 4 ร้อยละของผู้บริหารในมหาวิทยาลัย จำแนกตามจำนวนชั่วโมงการทำงานต่อวัน ปี 2564
ที่มา: คำนวณจากฐานข้อมูลการสำรวจคุณภาพชีวิต ความสุข และความผูกพัน ภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข ปี 2564 

ผู้บริหารส่วนใหญ่มักจะลืมไป ว่าเสาร์-อาทิตย์ไม่ใช่วันทำงาน

รองศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย ชี้ว่า 

“ความหนักเบาของงาน ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริหารต้องทำอะไรบ้าง เช่น ผู้บริหารการศึกษาที่ต้องบริหารคน หรือต้องขับเคลื่อนงานวิจัย มักต้องเผชิญกับงานหนักทั้งใจและกาย เช่นเดียวกันกับผู้บริหารที่ต้องรับผิดชอบงานหลายด้าน อาจจะต้องรับภาระงานมาก และต้องใช้เวลามากในการทำงาน” 

ชั่วโมงทำงานที่ยาวนานเป็นเครื่องพิสูจน์ความทุ่มเทในการทำงาน องค์กรการศึกษาไทยได้ผู้ที่มีใจมุ่งมั่นทุ่มเทที่จะพัฒนาการศึกษาขั้นสูงให้ก้าวหน้าเทียบเท่ากับประเทศอื่น อย่างไรก็ตาม ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานบั่นทอนคุณภาพชีวิตของคนทำงาน และอาจไม่ส่งผลดีต่อการทำงานเสมอไป โดยงานวิจัยจาก City University of London ชี้ว่า การทำงานหนักมากเกินไปมีผลเสียต่อ ความก้าวหน้าอาชีพ ความมั่นคงในงาน และการได้รับการยอมรับในองค์กร (Avgoustaki & Frankort, 2019) ดังนั้น การหยุดพักระหว่างวัน และการหยุดงานในบางวัน จึงควรเป็นกิจกรรมที่ผู้บริหารให้ความสำคัญ และเลือกที่จะทำงานเฉพาะในเวลาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะคงไม่มีใครอยากให้ผู้บริหารที่เป็นความหวังในวงการศึกษาไทยรู้สึกเหนื่อยล้าในการทำงานอย่างแน่นอน


อ้างอิง

  • Avgoustaki, A., & Frankort, H. T. (2019). Implications of work effort and discretion for employee well-being and career-related outcomes: An integrative assessment. ILR Review, 72(3), 636-661.


CONTRIBUTOR

Related Posts
ยูนิฟอร์มสร้างสุข

สุภาณี ปลื้มเจริญ

All Gen – Enjoy กับสุขภาพแค่ไหน

สุภาณี ปลื้มเจริญ

สมุดเบาใจ พินัยกรรมชีวิต

สุริยาพร จันทร์เจริญ

สุขอย่างไร……..สุขแบบคนไทย ๔.๐

ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

ปฐมบทของการผ่อนคลายด้วยดนตรีบำบัด

สุภิรัฐพงศ์ พงศ์ศักดิ์ศรี

สุขอย่างไร……..สุขแบบคนไทย ๔.๐

ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

การเดินทางไกลที่คุ้มค่า

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Show & Share ความสุขของ “เอก”

ปิยะวัฒน์ สวัสดิ์จู,สุภาณี ปลื้มเจริญ

เพศหลากหลาย Happy SDG กับ ภาพจำ ที่เปลี่ยนผ่าน?

วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th