โดยปกติแล้ว เดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นเดือนที่โรงเรียนเปิดเทอม แต่ในปี 2564 ที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทยยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศเลื่อนการเปิดภาคเรียนจากวันที่ 1 ไปเป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2564 หลังจากที่เลื่อนมาแล้วรอบหนึ่งก่อนหน้านี้
ปีนี้เป็นปีที่ลูกชายคนเล็กของผมจะได้ไปโรงเรียนเป็นปีแรก ใจหนึ่งก็อยากให้ลูกได้ไปโรงเรียน จะได้มีประสบการณ์ใหม่ๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้กับเพื่อนและครูที่โรงเรียน แต่อีกใจหนึ่งก็กังวล ถ้าลูกไปโรงเรียนแล้วติดโควิดจะเป็นอย่างไร เรื่องที่หนักใจสำหรับผมมากที่สุดหากตัดสินใจให้ลูกไปโรงเรียนและติดโควิดขึ้นมา คือ ลูกจะรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลโดยไม่มีพ่อแม่ดูแลอยู่ข้างๆ ยิ่งลูกผมอยู่วัยเด็กอนุบาลที่ยังไม่เข้าใจเรื่องราวอะไรต่างๆ มากนักที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้ เขาจะต้องเผชิญเรื่องอะไรในโรงพยาบาลบ้าง อยากให้ไปโรงเรียนก็อยาก แต่ห่วงมากกว่าถ้าลูกต้องไปอยู่โรงพยาบาลคนเดียว เชื่อว่าพ่อแม่หลายคนคงกังวลไม่ต่างไปจากผม แค่คิดก็สงสารลูกแล้วครับ
สถานการณ์เช่นนี้ ไม่ได้สร้างความลำบากใจสำหรับพ่อแม่เพียงอย่างเดียว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ตกอยู่ในที่นั่งลำบากเช่นกันในการช่วยกันหาแนวทางที่ดีที่สุดในสถานการณ์ซับซ้อนขนาดนี้ วัคซีนสำหรับเด็กปัจจุบันยังไม่มี ถึงมีก็ไม่รู้ได้ฉีดเมื่อไหร่ คัดกรองเด็กให้มั่นใจเต็มร้อยว่าไม่ติดก่อนเข้าโรงเรียนก็เป็นไปได้ยาก ให้ควบคุมเด็กให้ใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องตลอดเวลาที่อยู่โรงเรียนก็ไม่ง่าย การเรียนออนไลน์ก็ยังคงมีความไม่พร้อม ทั้งจากฝั่งครูและฝั่งเด็กนักเรียน
ในฐานะนักการศึกษาและพ่อของเด็กชายสองคน จึงอยากชวนคิดต่อไปว่าผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกับเรื่องนี้จะทำอะไรได้บ้างในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่จะช่วยประคับประคองให้เด็กยังได้มีโอกาสเรียนรู้อย่างดีที่สุดเท่าที่สถานการณ์จะเอื้ออำนวยได้ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ
การเรียนทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต วิทยุ หรือโทรทัศน์เป็นแนวทางสำคัญที่หลายประเทศจำเป็นต้องใช้ในช่วงเวลาการล็อคดาวน์ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายหลัก คือ การเข้าถึงนักเรียนบางกลุ่ม และการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมสำหรับเด็กระดับปฐมวัย องค์กรนานาชาติอย่าง Unicef1 ชี้ให้เห็นว่ามีนักเรียนอย่างน้อย 463 ล้านคนทั่วโลกที่เข้าไม่ถึงการเรียนทางไกลในช่วงที่ต้องปิดโรงเรียนจากการระบาดของโควิด-19 คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของนักเรียนทั้งหมด ซึ่งนักเรียนที่เข้าไม่ถึงการเรียนทางไกลส่วนมากเป็นนักเรียนที่บ้านยากจนในชนบท
สำหรับกลุ่มเด็กปฐมวัย พบว่า 60% ของประเทศทั่วโลกได้ดำเนินการนโยบายการเรียนทางไกล ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำหากเปรียบเทียบกับการศึกษาในระดับอื่น (86-91% สำหรับระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมปลาย) การเรียนทางไกลอาจไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัยที่เน้นการเล่น และหากมีการเรียนทางไกลจำเป็นต้องมีพ่อแม่ช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งสำหรับครอบครัวที่พ่อแม่ทำงานทั้งคู่อาจจะจัดการได้ยาก ดังนั้นการสนับสนุนให้มีการ work from home ต่อไปจึงยังเป็นเรื่องจำเป็น เพราะนอกจากพ่อแม่จะเสี่ยงติดโควิดจากการไปทำงานน้อยลงแล้ว ยังได้มีโอกาสอยู่บ้านและแบ่งเวลาไปทำกิจกรรมการเรียนรู้กับลูกด้วย
ภาพโดย วราวรรณ ฐาปนธรรมชัย (ได้ขออนุญาตให้เผยแพร่แล้ว)
สำหรับประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการที่เป็นหน่วยงานหลักในการจัดการการเรียนการสอนได้เปิดตัว “ครูพร้อม” ที่เป็นเว็บไซต์กลางที่จะช่วยสนับสนุนครูในการจัดการเรียนการสอนก่อนเปิดเทอมจริง โดยจะเป็นคลังสื่อ ข้อมูลการเรียนรู้ และรูปแบบกิจกรรม ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนในการเรียนการสอนภายใต้การระบาดของโควิด-19 ถือเป็นความพยายามที่ดี เป็นมาตรการที่เป็นรูปธรรม แต่ยังคงต้องรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อได้ทดลองใช้จริง เพื่อมาพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นการเข้าถึงคลังสื่อของนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียม
ภาพโดย กาญจนา เทียนลาย (ได้ขออนุญาตให้เผยแพร่แล้ว)
นอกจากนี้ สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการควรให้ความสำคัญ คือการเร่งศึกษาหาแนวทางการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับรูปแบบการเรียนทางไกล เพราะรูปแบบการเรียนการไกลที่ดีแตกต่างจากรูปแบบการเรียนในห้องเรียน เช่น กระทรวงศึกษาธิการควรปรับการเรียนการสอนให้เป็นการเรียนรู้ผ่านการทำโครงการมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งการให้โจทย์กับนักเรียนให้ไปค้นคว้าต่อเองโดยมีครูเป็นผู้คอยแนะนำ น่าจะเป็นแนวทางที่ต่อยอดกระบวนการเรียนรู้ที่ดี และเหมาะสมกับรูปแบบการเรียนรู้ทางไกลมากกว่าการบรรยายในห้องเรียน
สำหรับตัวผมเอง เมื่อถึงวันหนึ่งที่ลูกได้ไปโรงเรียนจริงๆ สิ่งที่จะพอทำให้คลายกังวลได้ คือถ้าโรงเรียนมีมาตรการและซักซ้อมความเข้าใจต่างๆ ให้ชัดเจนทั้งในเชิงการป้องกันและการเผชิญเหตุการณ์หากมีนักเรียนติดโควิดขึ้นมา ผู้บริหารสถานศึกษาและครู ต้องดำเนินการมาตรการในเรื่องการป้องกันโควิดอย่างเคร่งครัด รวมถึงคอยสื่อสารและทำงานร่วมมือกับพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด ในขณะที่ผมเองก็พร้อมให้ความร่วมมือกับโรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด รวมถึงหมั่นฝึกฝนนิสัยให้ลูกรู้จักการป้องกันตัวเอง การดูแลสุขอนามัยของตนให้ดี รู้จักรักษาระยะห่างและใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องให้เป็นนิสัย
การที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนถือเป็นสถานการณ์ใหม่ที่เราไม่เคยเผชิญมาก่อน เชื่อว่าวันนี้ทุกคนก็อยากให้ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด แต่ในความเป็นจริง ยังไม่มีใครรู้ว่าจะต้องอยู่ในสถานการณ์นี้อีกนานแค่ไหน ผมในฐานะที่เป็นทั้งพ่อและนักการศึกษา ไม่อยากเห็นเด็กไทยคนไหนต้องพลาดโอกาสในการเรียนรู้และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้ด้วยกัน
อ้างอิง
รศรินทร์ เกรย์
สุดปรารถนา ดวงแก้ว
ธีระพจน์ คำรณฤทธิศร
สิรินทร์ยา พูลเกิด
ประทีป นัยนา
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ
นงนุช จินดารัตนาภรณ์
อมรา สุนทรธาดา
ณปภัช สัจนวกุล
กัญญาพัชร สุทธิเกษม
มนสิการ กาญจนะจิตรา
ปิยวัฒน์ เกตุวงศา
ปราโมทย์ ประสาทกุล
บุรเทพ โชคธนานุกูล
นงนุช จินดารัตนาภรณ์
ปราโมทย์ ประสาทกุล
จงจิตต์ ฤทธิรงค์,พรสุรีย์ จิวนานนท์
มนสิการ กาญจนะจิตรา
สุภรต์ จรัสสิทธิ์
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
ปราโมทย์ ประสาทกุล
นงนุช จินดารัตนาภรณ์
กัญญา อภิพรชัยสกุล
ปิยวัฒน์ เกตุวงศา
ถิรวัฒน์ วรรณพฤกษ์
กาญจนา เทียนลาย
กรกนก พงษ์ประดิษฐ์,ปิยวัฒน์ เกตุวงศา
ปรียา พลอยระย้า
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
มนสิการ กาญจนะจิตรา
ปรียา พลอยระย้า
สุภาณี ปลื้มเจริญ
อมรา สุนทรธาดา
กัญญาพัชร สุทธิเกษม
มนสิการ กาญจนะจิตรา
ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต,สุภรต์ จรัสสิทธิ์
วรชัย ทองไทย
สาสินี เทพสุวรรณ์,สิรินทร์ยา พูลเกิด
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
ดุสิตา พึ่งสำราญ
ขวัญชนก ใจซื่อกุล
วีรภาคย์ ซำศิริพงษ์