ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจ บริการ และอุตสาหกรรมในประเทศไทยเป็นจำนวนมากต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 องค์กรจำนวนมากจำเป็นต้องปิดกิจการ และอีกจำนวนไม่น้อยต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานหรือการดำเนินธุรกิจเพื่อหาหนทางอยู่รอด อาจกล่าวได้ว่า โควิด-19 ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อองค์กรและคนทำงานในประเทศไทยเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างย่อมมีสองด้านเสมอ ในบทความนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอว่า โควิด-19 ได้สร้างผลกระทบเชิงบวกในรูปแบบใดและอย่างไรต่อคนทำงานและองค์กรในประเทศไทย
จากการสำรวจความสุขของคนทำงาน (ในองค์กร) ระดับประเทศ ปี 2563 (ตุลาคม พ.ศ. 2563–มีนาคม พ.ศ. 2564) ดำเนินงานโดยโครงการศึกษาวิจัยนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร เพื่อนำไปสู่องค์กรสุขภาวะและความยั่งยืน สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า ความสุขภาพรวมของคนทำงานในประเทศไทยอยู่ที่ 59.5 คะแนน และเมื่อเปรียบเทียบกับค่าคะแนนความสุขภาพรวมของคนทำงานในปี 2562 พบว่า อยู่ในระดับคะแนนใกล้เคียงกัน คือ ปี 2562 อยู่ที่ 60.2 คะแนน เมื่อพิจารณาความสุขรายมิติในปี 2563 พบว่า 2 มิติความสุขที่มีค่าคะแนนสูงที่สุด ได้แก่ มิติจิตวิญญาณดี (Happy Soul) 67.4 คะแนน และมิติน้ำใจดี (Happy Heart) 64.5 คะแนน ซึ่งเป็นสองมิติที่มีค่าคะแนนความสุขสูงที่สุดเช่นเดียวกับผลการสำรวจในปี 2562 (ดังแผนภูมิ)
แผนภูมิ คะแนนความสุขของคนทำงานฯ ในมิติต่างๆ ปี 2563
ความน่าสนใจจากการสำรวจความสุขฯ ในปี 2563 คือ มีข้อคำถามในประเด็นผลกระทบต่อทุกมิติความสุขจากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งผลกระทบทางบวกและทางลบ โดยพบว่า ผลกระทบของโควิด-19 ต่อคนทำงานในองค์กรในมิติครอบครัวดี (Happy Family) และมิติน้ำใจดี (Happy Heart) เป็นสองมิติความสุขที่คนทำงานส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบเชิงบวกมากกว่าผลกระทบเชิงลบอย่างชัดเจน หมายถึง คนทำงานในองค์กรเห็นว่า โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อมิติความสุขด้านครอบครัวดี และน้ำใจดี โดยในมิติครอบครัวดี ประกอบด้วยข้อคำถามในเรื่องการมีเวลาอยู่กับครอบครัวเพียงพอการได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว และมีความสุขกับครอบครัว ส่วนมิติน้ำใจดี ประกอบด้วยข้อคำถามในเรื่องการมีความรู้สึกเอื้ออาทร ห่วงใย และให้ความช่วยเหลือคนรอบข้าง การทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
ผลกระทบเชิงบวกดังกล่าว อาจตีความได้ว่า ในสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย องค์กรจำนวนมากปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ทำให้คนทำงานมีโอกาสได้อยู่บ้านมากขึ้น สามารถใช้เวลาร่วมกับครอบครัวเพิ่มมากขึ้น และได้ทำกิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัวเพิ่มขึ้น สำหรับในด้านมิติน้ำใจดี ในช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบากหรือประสบปัญหา คนไทยมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และเต็มใจให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น การบริจาคเงินและสิ่งของเครื่องใช้ การจัดทำตู้ปันสุข รวมถึงการบริจาคอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการทำงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
ผลกระทบเชิงบวกทั้งสองประการช่วยสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าในช่วงวิกฤตโควิด-19 สถาบันครอบครัวยังคงเป็นสถาบันหลักของสังคมไทยในการสร้างแรงใจให้กับคนทำงานเพื่อมีพลังต่อสู้กับวิกฤต รวมถึงความมีน้ำใจช่วยเหลือสังคมและเพื่อนมนุษย์ของคนไทยแสดงให้เห็นว่า เรายังเป็นสังคมแห่งความช่วยเหลือเกื้อกูล ดังคำพูดที่ว่า “คนไทยไม่ทิ้งกัน” ทั้งสองมิติความสุขดังที่ได้กล่าวมา คือ ครอบครัวดีและน้ำใจดี จึงนับได้ว่าเป็นวัคซีนสำหรับคนทำงานและองค์กรในการต่อสู้กับผลกระทบจากโควิด-19 และเป็นแสงสว่างในยามมืดมิดให้กับประเทศไทย เพื่อให้รอดพ้นวิกฤตในครั้งนี้
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ
สุรีย์พร พันพึ่ง
วรชัย ทองไทย
บุรเทพ โชคธนานุกูล
กาญจนา เทียนลาย
กุลภา วจนสาระ
ธีรนงค์ สกุลศรี
สุริยาพร จันทร์เจริญ
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ
สุดปรารถนา ดวงแก้ว
สาสินี เทพสุวรรณ์
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
ภูเบศร์ สมุทรจักร
ปราโมทย์ ประสาทกุล
สลาลี สมบัติมี
ปราโมทย์ ประสาทกุล
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
จรัมพร โห้ลำยอง
สุภรต์ จรัสสิทธิ์
ปราโมทย์ ประสาทกุล
วรรณี หุตะแพทย์
วิภาพร จารุเรืองไพศาล
สุภิรัฐพงศ์ พงศ์ศักดิ์ศรี
ปราโมทย์ ประสาทกุล
สุชาดา ทวีสิทธิ์
จรัมพร โห้ลำยอง
สิรินทร์ยา พูลเกิด
วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต
นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์
ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น
อมรา สุนทรธาดา
ปราโมทย์ ประสาทกุล
นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์
ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต
ปราโมทย์ ประสาทกุล
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
อภิชัย อารยะเจริญชัย
กัญญาพัชร สุทธิเกษม
ศุทธิดา ชวนวัน
วรรณี หุตะแพทย์
มนสิการ กาญจนะจิตรา
มนสิการ กาญจนะจิตรา