The Prachakorn

มาทำความรู้จักกับความเหงา...ผลพวงโรคระบาดที่ไม่ควรมองข้าม


มนสิการ กาญจนะจิตรา

20 ธันวาคม 2564
1,288



นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 โลกได้พบกับความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความพยายามในการควบคุมการระบาดของโรคผ่านมาตรการต่างๆ การเร่งพัฒนาวัคซีนและยาต่างๆ การบริหารจัดการทรัพยากรสาธารณสุขที่มีอย่างจำกัด และการประคับประคองเศรษฐกิจให้ยังคงเดินหน้าต่อไป 

ท่ามกลางความวุ่นวายโกลาหลเหล่านี้ หลายครั้งทำให้ผลกระทบของโควิด-19 ต่อสภาพจิตใจถูกมองข้ามไป แต่ความบาดเจ็บทางจิตใจจากวิกฤติโรคระบาดนั้น ได้เริ่มสั่งสมในสังคมตั้งแต่แรกเริ่มของการระบาด และจะเป็นสิ่งที่ยังคงเหลือต่อไปแม้จะควบคุมการระบาดได้แล้วก็ตาม 

ผลกระทบทางจิตใจที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีจากการระบาดของโควิด-19 ได้แก่ ความเครียด ความกังวล และความเหนื่อยล้า แต่มีอีกผลกระทบหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ ความเหงา

ที่มา: https://www.th.depositphotos.com สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2564 

ความเหงา คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อความสัมพันธ์ทางสังคมที่บุคคลหนึ่งมีในขณะนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าที่บุคคลนั้นต้องการ หมายความว่า ความเหงาจะเกิดขึ้นเมื่อคนๆ หนึ่งรู้สึกว่าปฏิสัมพันธ์ที่ตนเองมีกับผู้อื่น “ยังน้อยเกินไป” เมื่อเทียบกับความต้องการ ซึ่งหมายความว่า คนที่อยู่คนเดียวไม่ได้จำเป็นต้องเหงาเสมอไป หากคนนั้นพอใจในระดับความสัมพันธ์ทางสังคมที่มี และในทางกลับกันคนที่อยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย ก็อาจรู้สึกเหงาได้เช่นกัน

ความเหงาส่งผลต่อสุขภาพทั้งกายและจิตใจมากกว่าที่คิด การศึกษาจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าความเหงามีความเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคหัวใจ การใช้แอลกอฮอล์และสารเสพติด ความรุนแรงในครอบครัว และการฆ่าตัวตาย 

ตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด-19 ได้มีการสำรวจความเหงาในระดับโลกในปี 2561 โดยมีผู้เข้าร่วมการสำ.รวจนี้มากกว่า 55,000 คน จากมากกว่า 237 ประเทศ งานศึกษานี้พบว่า ประเทศที่มีวัฒนธรรมความเป็นปัจเจกสูง เช่น ในสังคมตะวันตก มีระดับความเหงาสูงกว่าประเทศที่มีความพึ่งพาอาศัยกันสูงกว่า เช่น ในสังคมตะวันออก

งานวิจัยนี้ยังพบว่า กลุ่มที่มีโอกาสเหงาสูงสุด คือกลุ่มเยาวชนอายุ 16-24 ปี ซึ่งขัดกับความเข้าใจของหลายคนที่คิดว่าผู้สูงอายุน่าจะมีความเหงาสูงสุด แต่แท้ที่จริงแล้ว กลุ่มคนหนุ่มสาวเป็นกลุ่มคนที่มีความคาดหวังด้านความสัมพันธ์สูงเมื่อเทียบกับคนที่มีอายุมากกว่า ทำให้เยาวชนจำนวนมากยังรู้สึกไม่เติมเต็มด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น

แน่นอนโควิด-19 ทำให้โอกาสการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน แม้กระทั่งกับครอบครัวลดลง ส่งผลให้จำนวนคนเหงาทะยานสูงขึ้นตั้งแต่แรกเริ่มของการระบาดเป็นต้นมา การสำรวจระดับประเทศในสหรัฐอเมริกาในช่วงเดือนตุลาคม 2563 โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่าผู้ตอบแบบสอบถาม 36% มีอาการเหงาอย่างรุนแรง (คือรู้สึกเหงาบ่อยครั้ง หรือเกือบตลอดเวลา) ในช่วงระยะเวลา 4 สัปดาห์ก่อนการตอบแบบสอบถาม โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อความเหงาสูงสุด คือ กลุ่มเยาวชนอายุ 18-25 ปี ที่กว่า 61% รายงานว่ามีอาการเหงาอย่างรุนแรง (43% ของเยาวชนรายงานว่ารู้สึกเหงามากขึ้นตั้งแต่มีโรคระบาด) และกลุ่มแม่ลูกอ่อน 51% ที่รายงานว่ามีอาการเหงาอย่างรุนแรง (47% ของแม่ลูกอ่อนรายงานว่ารู้สึกเหงามากขึ้นตั้งแต่มีโรคระบาด) 

การสำรวจในประเทศอังกฤษพบผลที่คล้ายคลึงกัน คือ กลุ่มเยาวชน และกลุ่มพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว มีระดับความเหงาสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ เช่นเดียวกับการสำรวจในประเทศญี่ปุ่น แต่สำหรับประเทศญี่ปุ่นพบว่า ถึงแม้โดยรวมกลุ่มเยาวชนมีสัดส่วนคนเหงาสูงกว่า แต่โควิด-19 เพิ่มสัดส่วนคนเหงาในกลุ่มผู้สูงอายุสูงที่สุด

สำหรับแนวทางในการช่วยจัดการความเหงาในประชากร มีการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ได้เสนอแนวทางไว้ 3 ข้อ ดังนี้ 

  1. ให้ความรู้ในการจัดการกับความเหงา รวมถึงความคิดและพฤติกรรมที่บั่นทอนตนเองที่อาจนำไปสู่ความเหงามากขึ้น เพราะความเหงามักนำไปสู่ความรู้สึกไม่ดีกับตนเอง ความรู้สึกว่าคนอื่นไม่ใส่ใจ ทำให้ไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งนำไปสู่ความเหงาที่เพิ่มขึ้น 
  2. สนับสนุนโครงสร้างทางสังคมให้มีการเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น เช่น ในโรงเรียนควรมีการสร้างเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงนักเรียนหรือผู้ปกครองเข้าหากัน ที่ทำงานควรมีการพูดคุยเพื่อประเมินระดับความเหงาของพนักงาน
  3. ฟื้นฟูวิถีสังคมในการดูแลเอาใจใส่คนรอบข้าง ดังที่ได้เกริ่นไปในตอนต้น ว่าสังคมที่มีความเป็นปัจเจกสูงมักมีจำนวนคนเหงาสูงตามไปด้วย ดังนั้น การมีเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็งที่คอยดูแลถามไถ่ความเป็นอยู่ของกันและกัน จะนำไปสู่สังคมที่คนจะไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอีกต่อไป 

อ้างอิง

  • 16-24 year olds are the loneliest age group according to new BBC Radio 4 survey. (2018, October 1). BBC. https://www.bbc.co.uk/mediacentre/latestnews/2018/loneliest-age-group-radio-4
  • Weissbourd, R. et al. (2021). Loneliness in America How the Pandemic Has Deepened an Epidemic of Loneliness and What We Can Do About It. https://static1.squarespace.com/static/5b7c56e255b02c683659fe43/t/6021776bdd04957c4557c212/1612805995893/Loneliness+in+America+2021_02_08_FINAL.pdf
  • Khan & Kadoya. (2021). Loneliness during the COVID-19 Pandemic: A Comparison between Older and Younger People. International Journal of Environmental Research and Public Health. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8345648/


CONTRIBUTOR

Related Posts
เงิน….. งาน…… บันดาลสุขอย่างไร? ในวันที่ต้อง Work From Home

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

ด้วยรักและโรคระบาด

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

COVID-19 : รักษาระยะห่าง ดูแลระยะใจ 

พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

พิธีในยุคโควิด-19

วรชัย ทองไทย

โกหกคำโต (big lie)

วรชัย ทองไทย

วิถีใหม่

วรชัย ทองไทย

โควิด-19 กับ มูลค่าชีวิตคน

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

เมื่อโควิด-19 กำลังจะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

หวังว่าโควิด-19 จะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ

นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th