ภาวะโลกรวนกำลังแสดงให้ประชากรโลกเห็นถึงผลกระทบจากภัยพิบัติอันเนื่องจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น 1 องศา จะทำให้น้ำระเหยมากขึ้นและปริมาณน้ำฝนจะเพิ่มขึ้น 5% หลักฐานที่เกิดขึ้นในแคว้นต่างๆ ของปากีสถานที่ประสบภัยพิบัติชี้ให้เห็นถึงปริมาณน้ำฝนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 5-9 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาและพื้นที่เดียวกันในปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำฝนร่วมกับภาวะน้ำแข็งบนภูเขาละลายทำให้ 1 ใน 3 ของพื้นที่ในปากีสถานถูกน้ำท่วม และประชากร 33 ล้านคนได้รับผลกระทบ บ้านเรือนเสียหายกว่า 1.4 ล้านหลัง จำนวนผู้เสียชีวิตจนถึงวันนี้ (5 กันยายน 2565) เกินกว่า 1,200 คนแล้ว1
ผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับปากีสถานในปี 2565 นี้ นอกจากบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างจะจมอยู่ใต้น้ำแล้ว โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น ถนนและสะพาน เสียหายอย่างหนัก กระทบระบบขนส่ง พื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 2 ล้านเอเคอร์ หรือกว้างประมาณ 5 เท่าของพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด ปศุสัตว์เสียหายอย่างมาก สัตว์ที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ตายกว่า 8 แสนตัว คาดประมาณมูลค่าความเสียหายเกินกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ พื้นที่เกษตรที่เสียหายนี้เป็นพื้นที่ผลิตอาหารเกินกว่าครึ่งหนึ่งของอาหารที่ผลิตได้ในประเทศ ดังนั้นผลกระทบที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ คือ ประชากรจะขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มสะอาด ราคาอาหารสูงขึ้นจนไม่สามารถซื้อได้ และเงินเฟ้อสูงถึงเกือบ 25% ปากีสถานจะต้องนำเข้าอาหาร จำพวกธัญพืชจากต่างประเทศ และผักจากประเทศเพื่อนบ้านที่สัมพันธภาพไม่ดีนักอย่างอินเดีย ปากีสถานจะไม่สามารถเพาะปลูกได้จนกว่าจะถึงฤดูกาลหน้าในราวเดือนตุลาคม แต่ดูเหมือนว่าการฟื้นฟูประเทศจะไม่สามารถทำได้ในเวลาอันใกล้นี้ หรืออาจต้องใช้เวลาอีกหลายปี2 ดังนั้นปากีสถานอาจต้องประสบปัญหาวิกฤตความไม่มั่นคงทางอาหารไปอีกอย่างน้อยหลายเดือนหรือหลายปี
ปากีสถานมีพื้นที่ 796,095 ตารางกิโลเมตร ซึ่งขนาดใหญ่กว่าประเทศไทยประมาณ 1.6 เท่า ตั้งอยู่ในเอเชียใต้ ทิศตะวันออกติดกับอินเดียและทิศตะวันตกติดกับอัฟกานิสถานและอิหร่าน ปี 2565 ปากีสถานมีประชากรจำนวน 236 ล้านคน สัดส่วนประชากรเด็ก (0-14 ปี) 36.6% ประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) 56.7% และประชากรสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) 6.8% จึงถือได้ว่าปากีสถานมีอัตราส่วนพึ่งพิงวัยเด็ก (65%) สูงกว่าอัตราส่วนพึ่งพิงวัยสูงอายุ (12%)3 กล่าวคือ ประชากรวัยแรงงานต้องดูแลเด็กมากกว่าผู้สูงอายุ ภัยพิบัติครั้งนี้ทำให้ราคาอาหารสูงจนครอบครัวไม่สามารถซื้อได้ในปริมาณที่ต้องการ จึงอาจทำให้เด็ก 86 ล้านคนในปากีสถานได้รับอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของร่างกาย นักวิเคราะห์ระบุว่าเดือนมีนาคม-เมษายน ปี 2565 ประชากร 4.66 ล้านคนในพื้นที่ชนบทจะประสบความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลันในระดับสูง (ดังแสดงด้วยแผนที่ในรูป 1) เนื่องจากราคาอาหารที่สูงขึ้น ความแห้งแล้ง ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ และโรคระบาดในสัตว์เลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร การระบาดโควิด-19 ยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งรุนแรงขึ้น4 ข้อมูลและการวิเคราะห์ดังกล่าวเผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2565 ที่ผ่านมา จึงยังไม่ได้รวมผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วมที่ชาวปากีสถานกำลังประสบอยู่ขณะนี้ เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า ภาวะขาดแคลนอาหารในปากีสถานจะยิ่งทวีความรุนแรงและครอบคลุมพื้นที่กว้างมากขึ้น
รูป 1 ปากีสถาน: สถานการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลันในระดับสูงช่วงเดือนตุลาคม ปี 2021 – เดือน เมษายน ปี 20224
หมายเหตุ: สีส้ม หมายถึง พื้นที่วิกฤตความไม่มั่นคงทางอาหารระดับรุนแรง
บทเรียนจากปากีสถานที่เกิดจากภัยพิบัติและภาวะโลกร้อน ที่อาจเป็นสัญญาณเตือนภัยให้กับประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยเพื่อเตรียมรับมือวิกฤตความไม่มั่นคงทางอาหาร (food insecurity) ด้วยมาตรการที่พอจะช่วยบรรเทาความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติที่ไม่อาจคาดเดาว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไรและพื้นที่ใด ระบบสำรองอาหารหรือบางประเทศเรียก “ธนาคารอาหาร (food bank)” จะสามารถช่วยบรรเทาความอดอยากได้ทันท่วงที ซึ่งขึ้นอยู่กับแผนการกระจายอาหารสู่พื้นที่ประสบภัยอย่างทั่วถึงและทันต่อสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม อาจต้องคำนึงถึงการปฏิบัติงานในระดับพื้นที่เมื่อการเดินทางด้วยเส้นทางถนนไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ ประเทศไทยอาจต้องการแผนระยะยาวโดยการกระจายพื้นที่เพาะปลูกอาหารหลักของประชากร เช่น ข้าว ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรอย่างเฉพาะเจาะจงกับพื้นที่ หรือ “เกษตรแม่นยำ (precision agriculture)” ซึ่งเป็นการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ภายในฟาร์ม โดยต้องมีการจัดการข้อมูลและบริหารจัดการพื้นที่ในฟาร์ม เช่น คุณสมบัติดินเพื่อคำนวณและปรับปริมาณแร่ธาตุอย่างเหมาะสมและพอเพียงต่อพืชแต่ละชนิดและสายพันธุ์ ความชื้นและอุณหภูมิผิวดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช การเก็บข้อมูลปริมาณน้ำฝนรายเดือน และบริหารจัดการนำมาใช้อย่างเหมาะสมและแม่นยำ
อันที่จริงแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศไทยได้ประสบภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารอันเนื่องจากโรคอุบัติใหม่ ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติรูปแบบหนึ่ง ในช่วงต้นของการแพร่ระบาดโควิด-19 และมาตรการปิดเมือง ก่อให้เกิดความไม่สะดวกในห่วงโซ่อุปทานอาหาร ได้แก่ กระบวนการผลิต แปรรูป ขนส่ง และการค้าอาหาร ทำให้วัตถุดิบอาหารราคาสูงขึ้น 20-30% ไข่ไก่ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของคนไทยมีราคาสูงขึ้น โดยไข่ไก่เบอร์ 0 ราคาสูงถึงฟองละ 5 บาท5 หากย้อนไปช่วงภัยพิบัติน้ำท่วมในปี 2554 ราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 14% (ดูรูป 2)6 แม้สถานการณ์ความขาดแคลนอาหารของไทยจะไม่รุนแรงเท่ากับกรณีที่เกิดขึ้นในปากีสถาน แต่ราคาไข่ไก่ที่สูงขึ้นจนกระทบกับความเป็นอยู่ของประชากรกลุ่มเปราะบาง จึงถือเป็นวิกฤตความไม่มั่นคงทางอาหารอันเนื่องมาจากภัยพิบัติด้วยเช่นกัน
รูป 2 ราคาไข่ไก่สดเฉลี่ยขายที่ฟาร์มในประเทศไทย ปี 2542-2564
แหล่งข้อมูล: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ภาพ: จัดทำโดยคณะวิจัยโครงการระบบอาหารของประเทศไทย7
ความมั่นคงทางอาหารจะเกิดขึ้นได้เมื่อประชาชนสามารถเข้าถึงอาหารที่มีโภชนาการอย่างเหมาะสมและเพียงพอต่อร่างกาย ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่หลายคนตกงานและมีรายได้ลดลง ไม่สามารถซื้ออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพียงพอให้แก่สมาชิกครอบครัวได้ โดยเฉพาะกลุ่ม “คนจนเมือง” เพราะเป็นประชากรเปราะบางที่มีรายได้รายวัน เมื่อไม่ได้ทำงานเพราะกิจการต่างๆ ปิดตัวลงหรืองดให้บริการ จึงกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประชากรเมือง การอาศัยอยู่ในเมืองมีข้อจำกัดของพื้นที่เพื่อการปลูกพืชอาหาร จึงเห็นได้ว่าในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้เกิดโครงการเกษตรในเมืองหลายแห่ง เช่น สวนผักคนเมืองที่ก่อตั้งและดำเนินงานโดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน การปลูกผักในชุมชนหรือบนดาดฟ้าเพื่อใช้ในธุรกิจอาหารและแบ่งปันในชุมชน
มาตรการเพื่อการฟื้นคืน (resilience) ระบบอาหารของประเทศไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ ประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มูลค่า 1,497,813 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 17.6 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด6 แม้ประเทศไทยจะมีอาหารส่วนเกิน (surplus) เพื่อส่งออก แต่หากเกิดภัยพิบัติรุนแรงอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในปากีสถาน เราอาจไม่มีข้าวกินเพราะน้ำท่วมนาข้าวยาวนานหลายเดือน หรือ ขาดแคลนไข่ไก่เพราะฟาร์มไก่จมอยู่ใต้น้ำ หรือ พื้นที่แห้งแล้งจนไม่สามารถปลูกพืชผักได้ ดังเช่นในมาดากัสการ์8 ดังนั้น การสร้างความมั่นคงทางอาหารจะช่วยให้เราไม่ต้องอดอยากหรือทนหิว เพราะรอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ
อ้างอิง
ปาริฉัตร นาครักษา,สิรินทร์ยา พูลเกิด
กัญญาพัชร สุทธิเกษม
นงนุช จินดารัตนาภรณ์
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
รุ้งทอง ครามานนท์
พิมลพรรณ นิตย์นรา
วรชัย ทองไทย
อมรา สุนทรธาดา
อมรา สุนทรธาดา
เสฎฐวุฒิ ยุทธาวรกูล
อมรา สุนทรธาดา
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
อมรา สุนทรธาดา
ณัฐณิชา ลอยฟ้า
อมรา สุนทรธาดา