The Prachakorn

ก้าวสำคัญของ UNICEF ปี 2565 เพื่อเด็กและเยาวชนทั่วโลกที่ด้อยโอกาส


อมรา สุนทรธาดา

10 กุมภาพันธ์ 2565
496



ย้อนสถานการณ์ปี 2564 เด็กและเยาวชนทั่วโลกดิ้นรนเพื่อหลีกให้พ้นความรุนแรงและความยากจนจากสาเหตุหลักดังนี้ ความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่งผลต่อความสงบภายในประเทศ ภัยพิบัติธรรมชาติจากภาวะโลกร้อน และการระบาดของโควิด-19 ตลอดช่วง 3 ปี ที่ผ่านมานั้น เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบรุนแรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนอาหาร การเข้าถึงบริการสุขอนามัย รวมทั้งโอกาสเรื่องการศึกษา UNICEF เร่งระดมทุนจำนวน 933 ล้านเหรียญสหรัฐ1 เพื่อจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ เช่น อุปกรณ์ตรวจหาเชื้อ วัคซีน สำหรับเด็กและเยาวชนทั่วโลก

ในปี 2565 นี้ UNICEF มีงบประมาณ 9,400 ล้านเหรียญสหรัฐ2 ซึ่งเป็นงบที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 เปรียบเทียบกับปี 2564 เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนประมาณ 177 ล้านคน ใน 145 ประเทศรวมทั้งเขตปกครองพิเศษ ที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อน และการระบาดของโควิด-19 

งบประมาณประจำปีดังกล่าว จำนวน 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ จะจัดสรรสำหรับเด็กและเยาวชน 13 ล้านคน ในอัฟกานิสถาน เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงสุดต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและความปลอดภัยในชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศ ในจำนวนนี้ เด็ก 1 ล้านคนมีปัญหาด้านโภชนาการขั้นวิกฤต

ผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศอย่างรุนแรงในหลายประเทศ ความอดอยากผลักดันให้มีผู้ย้ายถิ่นจำนวนมหาศาลหนีออกนอกประเทศเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ผลจากวิกฤตดังกล่าวทำให้มีผู้อพยพทุกเพศวัยต้องอาศัยในค่ายรับผู้อพยพเป็นการชั่วคราว จนกว่าองค์กรนานาชาติจะดำเนินการส่งผู้อพยพไปประเทศที่สามเพื่อการตั้งถิ่นฐาน ซึ่งมีขั้นตอนมากมายเพราะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงสากลว่าด้วยการเข้าพำนักอาศัยของผู้ย้ายถิ่นหรือผู้ลี้ภัยในประเทศปลายทางหรือประเทศที่สาม ในขณะที่ประเทศที่พร้อมรับผู้ย้ายถิ่นหรือผู้ลี้ภัยเพื่อการตั้งถิ่นฐานมีจำนวนลดลง

รูป: เยาวชนจากโมร็อกโกเสี่ยงชีวิตใช้ขวดพลาสติกเปล่าพยุงตัวว่ายน้ำข้าม ช่องแคบยิบรอลตาร์ เพื่อขึ้นฝั่งที่เมือง Ceuta เขตปกครองพิเศษภายใต้ ข้อตกลงระหว่างโมร็อกโกและสเปน
ที่มา: https://www.reuters.com/world/europe/spain-deploys-army-ceuta-patrol-border-with-morocco-after-migrants-break-2021-05-18/ สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2565

เนื่องจากเด็กและเยาวชนที่มีสถานะผู้อพยพหรือผู้ย้ายถิ่น มีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยเพราะไม่สามารถดูแลตนเองได้ เช่น กรณีการไม่ได้เดินทางพร้อมครอบครัว บางกรณีถูกลักพาตัวและสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ UNICEF ได้ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยสูงสุดสำหรับเด็กและเยาวชนที่พลัดถิ่น โดยมีแนวทางการปฏิบัติดังนี้3

  1. คุ้มครองเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์หรือความรุนแรง
  2. หลีกเลี่ยงการจับกุมคุมขังเยาวชนพลัดถิ่น จากสถานะผู้ต้องขังให้เป็นผู้อพยพชั่วคราวหรือผู้ย้ายถิ่น
  3. ไม่แยกเด็กและเยาวชนจากครอบครัว และดำเนินการเรื่อง สถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย
  4. สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพและบริการขั้นพื้นฐานอื่นๆ
  5. ดำเนินการด้านนโยบายระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขสถานการณ์ หรือสาเหตุการอพยพย้ายถิ่น 
  6. เสริมทักษะเพื่อขจัดการตื่นกลัว การถูกเลือกปฏิบัติต่อผู้ย้ายถิ่น ในถิ่นต้นทาง ศูนย์อพยพชั่วคราวและประเทศปลายทาง

UNICEF ตั้งเป้าหมายภารกิจปี 25652 ดังนี้

  • เด็ก 7.2 ล้านคน ที่มีภาวะทุพโภชนาขั้นรุนแรง จะได้รับการช่วยเหลือ
  • เด็ก 62.1 ล้านคน จะได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด
  • ประชากร 53.4 ล้านคน จะมีน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคและบริโภค
  • เด็กและผู้ดูแล 27.9 ล้านคน จะได้รับบริการและคำปรึกษาด้านสุขภาพจิต
  • เด็กและสตรี 21.3 ล้านคน สามารถเข้าถึงการบริการและรับคำปรึกษาเพื่อลดความเสี่ยงด้านความรุนแรง
  • ประชากร 51.9 ล้านคน จะมีช่องทางเพื่อขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในกรณีที่ถูกคุกคามทางเพศ
  • เด็ก 77.1 ล้านคน สามารถเข้าถึงโอกาสการศึกษาทั้งในและนอกระบบ

รูป: อุปกรณ์ยังชีพและน้ำสะอาดสร้างรอยยิ้มให้ประชากร 2 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนและน้ำท่วมอย่างหนักในเวียดนาม
ที่มา: https://www.unicef.org/stories/something-to-smile-about สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2565

ปี 2565 ช่วยกันสร้างโลกที่ปลอดภัย สำหรับเด็กและเยาวชนทั่วโลกให้มากกว่าปีที่ผ่านมา


  1. อัตราแลกเปลี่ยน 1 US$ = 33.6 บาท
  2. https://www.unicef.org/press-releases/unicef-launches-us94-billion-emergency-funding-appeal-children-affected-conflict. สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2565
  3. UNICEF. (2017). Global Framework on Children on the Move. https://www.unicef.org/media/62986/file. สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2565

ภาพปก https://abkhazworld.com/aw/current-affairs/1309-the-implementation-of-the-project-of-unicef-in-abkhazia-can-be-extended สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2565



CONTRIBUTOR

Related Posts
ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ภูมิแพ้ รู้สาเหตุ รู้ทางแก้

วิภาพร จารุเรืองไพศาล

ดูแลผู้ดูแลสักนิด

กาญจนา ตั้งชลทิพย์,อารี จำปากลาย

คำขวัญวันเด็ก

สุภาณี ปลื้มเจริญ

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th