The Prachakorn

สังขละบุรี วิถีชีวิตอันสงบสุข


ซารีนา บราเฮง

29 ธันวาคม 2563
719



คุณเคยรู้สึกหมดหวัง หมดพลังกับชีวิตไหม เชื่อเหลือเกินว่าทุกคนคงจะตอบว่าเคยทั้งสิ้น เพราะเราก็เป็นเพียงแค่มนุษย์คนหนึ่งที่มีความรู้สึก มีเจ็บ มีสุข มีทุกข์ แต่ทุกคนก็มีวิธีเยียวยาความเจ็บปวดของตัวเองที่แตกต่างกันไป หนึ่งในนั้นคือการออกไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ จากการสำรวจความเครียดของชาวอเมริกา ของ American Psychological Association ในปี 2013 พบว่าการเที่ยวทำให้เราสามารถจัดการความเครียดและความรู้สึกไม่ดีได้ โดยการออกจากสถานที่หรือกิจกรรมที่เป็นเหตุแห่งความเครียด หากเราอยากหนีความวุ่นวายของชีวิต จากปัญหาที่เราพบ การท่องเที่ยวถือเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะทำให้เราผ่อนคลายจากความเครียดได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

หากอยากหนีจากความวุ่นวาย สังขละบุรีถือเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ควรค่าแก่การไปเยือนสักครั้ง บรรยากาศที่สงบและเย็นสบาย ที่นี่จะมีจุดเด่นคือ สะพานอุตตมานุสรณ์ หรือ สะพานมอญ ซึ่งเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยมีความยาว 850 เมตร และเป็นสะพานไม้ยาวเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสะพานไม้อูเบ็งในประเทศพม่าใช้ข้ามแม่น้ำซองกาเลีย สร้างขึ้นโดยดำริของหลวงพ่ออุตตมะ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม ระหว่าง พ.ศ.2529 - พ.ศ.2530 เพื่อให้คนไทย กระเหรี่ยงและมอญได้สัญจรไปมาหาสู่กัน นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาเยี่ยมชมสะพานเพื่อชมแสงสีทองของพระอาทิตย์ยามเช้ารวมถึงวิถีชีวิตของชาวไทยและชาวมอญ ผู้คนที่นี่ใช้ชีวิตอย่างสงบและเรียบง่าย การเดินไปยังสะพานมอญในยามเช้าทำให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนที่นี่ ชาวมอญจะสวมใส่เสื้อพื้นเมืองทั้งคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวเพื่อเข้าถึงกับบรรยากาศ สำหรับชาวพุทธจะมีการร่วมทำบุญตักบาตรมักจะมาพร้อมกับใบหน้าที่ทาด้วยแป้งทานาคา ถือเป็นเครื่องสำอางยอดนิยมของที่นี่ก็ว่าได้ เมื่อมาเยือนที่สะพานมอญแห่งนี้แล้ว จะมีน้องมัคคุเทศก์มาเล่าถึงประวัติของสะพานมอญให้ฟัง หลังจากฟังจบก็อาจจะมีสินน้ำใจให้น้องไว้เป็นค่าเล่าเรียนเล็กน้อย และบางคนก็จะบริการทาแป้งทานาคาเป็นรูปลายดอกไม้ต่างๆ ซึ่งมีความหอมอ่อนๆ บนใบหน้าอันนุ่มนวล

ภาพยามเช้า ณ สังขละบุรี
ถ่ายโดย นูรุลฮุสนา ปารามัล
ผู้เขียนได้ขออนุญาตให้เผยแพร่แล้ว

ภาพยามเย็น ณ สังขละบุรี
ถ่ายโดย ผู้เขียน

เรามักจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า ไปที่ไหนไม่สำคัญเท่ากับไปกับใคร ซึ่งบางทีอาจจะจริงสำหรับบางคนแต่อาจจะไม่ใช่สำหรับอีกหลายคน เพราะบางคนอาจชอบเดินทางไปคนเดียวแล้วเน้นสถานที่ที่จะไปมากกว่าหาเพื่อนร่วมทาง แต่สำหรับบางคนเพื่อนร่วมทางที่ไปด้วยกันมีผลต่อจิตใจมากกว่าสถานที่ที่จะไปเสียอีก อย่างไรก็ตาม ทั้งสองปัจจัยล้วนมีความสำคัญทั้งคู่อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าขึ้นอยู่กับความคิดและความรู้สึกของแต่ละบุคคล เพื่อนร่วมทางคือคนที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเราตลอดการเดินทาง เราจะสนุกหรือไม่สนุกกับการเดินทางก็ขึ้นอยู่กับเขาด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ว่าทุก ๆ การเดินทางจะมีแต่ความสุขเสมอไป ฉะนั้นจงเลือกเพื่อนร่วมทางที่สามารถทำให้คุณมีความสุขและเที่ยวอย่างสนุก และแน่นอน เราอาจมีเป้าหมายปลายทางที่จะไป แต่เรื่องราวระหว่างทางคืออีกหนึ่งความสวยงามของการเดินทางเช่นกัน  จงใช้เวลาระหว่างทางในการดื่มด่ำบรรยากาศข้างทาง ผู้คน ตลอดจนเพื่อนร่วมทางให้ได้มากที่สุด เพราะเราอาจจะได้รับบางสิ่งที่มีคุณค่าต่อจิตใจมากกว่าที่เราคาดหวังไว้เช่นกัน 

ความสวยงามระหว่างการเดินทาง
ถ่ายโดย นูรุลฮุสนา ปารามัล
ผู้เขียนได้ขออนุญาตให้เผยแพร่แล้ว

ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ภูเขา ทะเล ป่าชายเลน ตลอดจนการทำกิจกรรมผจญภัย อาทิ ปีนผา ดำน้ำ บินพารามอเตอร์ สกายไดฟ์ (Sky dive)  ซึ่งเหมาะกับคนที่ชอบผจญภัยสุดๆ อีกทั้งยังให้เราเพลิดเพลินและสนุกกับท่องเที่ยวอย่างไม่รู้ลืม หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังเครียดอยู่ ลองไหม ลองออกไปท่องเที่ยวบ้าง ลองออกไปหาประสบการณ์ ไปพบปะผู้คนใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้อาจจะเยียวยาความเครียดที่เรามีไม่มากก็น้อย แต่จะช่วยเยียวยาได้แน่นอน หาเวลาไปใช้ชีวิตที่สงบและสนุกในยามที่เรายังมีเวลาและโอกาส จงสะสมเรื่องราวมากกว่าสิ่งของ เพราะวันหนึ่งสิ่งของก็ต้องเสียหายไป แต่สำหรับความทรงจำจะยังคงอยู่ตลอดกาล ได้ทั้งประสบการณ์ชีวิต และได้รับความสุขทุกครั้งเมื่อได้นึกถึง


ที่มาของข้อมูล

1.  David K. William. (2020). Science Proves That Traveling Can Boost Your Health And Overall Well-Being. Retrieved 26 December 2020
From https://www.lifehack.org/338212/science-proves-that-travelling-can-boost-your-health-and-overall-well-being
2. สำนักงานจังหวัดกาญจนบุรี. (2553). สืบค้น 26 ธันวาคม 2563 
จาก https://ww2.kanchanaburi.go.th/travel/detail/33


 



CONTRIBUTOR

Related Posts
หาว

วรชัย ทองไทย

อาชีพกับเรื่องอ้วนๆ

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th