The Prachakorn

แบบเสนอกระบวนการวิจัยของโครงการ South East Asia Obesogenic Food Environment Study (SEAOFE) เพื่อใช้ออกแบบนโยบายเพื่อการจัดการภาวะทุพโภชนาการ ผ่านการส่งเสริมอาหารขายปลีกที่ดีต่อสุขภาพ


สิรินทร์ยา พูลเกิด,ธีรนงค์ สกุลศรี,ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์

02 มีนาคม 2565
422



บทความตีพิมพ์นี้ถูกเขียนขึ้นภายใต้ความร่วมมือของทีมวิจัยจาก 4 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ภายใต้โครงการวิจัยชื่อ South East Asia Obesogenic Food Environment Study หรือ SEAOFE สนับสนุนทุนโดย The International Development Research Centre ประเทศแคนนาดา โครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมทางอาหารขายปลีก มุมมองของผู้บริโภคและผู้ค้าปลีกต่อการค้าปลีกอาหาร และนโยบายที่มีอยู่ที่มีอิทธิพลต่อการค้าปลีกอาหาร ใน 4 ประเทศข้างต้น โดยมุ่งเน้นศึกษาในพื้นที่เขตเมืองที่ยากจน เพื่อนำผลการศึกษาที่ได้ไปใช้พัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อไป

โครงการฯ นี้ได้เสนอการศึกษาออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การวิเคราะห์ลักษณะสิ่งแวดล้อมทางอาหารขายปลีกในปัจจุบันของแต่ละประเทศ โดยเก็บข้อมูลด้วยการทบทวนวรรณกรรมและเอกสารวิจัยที่เกี่ยวข้อง ระยะที่ 2 การสำรวจประสบการณ์ผู้บริโภคต่อสิ่งแวดล้อมทางอาหารขายปลีก ในชุมชนยากจนในเขตเมือง โดยเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม และจะทำการประเมินสิ่งแวดล้อมทางอาหารขายปลีกด้านการทำการตลาดอาหารของร้านค้าปลีกร่วมด้วย โดยใช้เครื่องมือประเมินภายในร้านค้า (in-store audit tool) ที่เคยมีการทดสอบความแม่นยำและเที่ยงตรงในประเทศพัฒนาแล้วมาเรียบร้อยแล้ว ระยะที่ 3 การวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้ค้าปลีกอาหารในการทำธุรกิจ และการรับรู้และทัศนคติต่อนโยบายค้าปลีกอาหารของประเทศ โดยเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ค้าปลีกอาหาร และระยะที่ 4 การวิเคราะห์นโยบายรัฐที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทางอาหารขายปลีกของประเทศ โดยเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายดังกล่าว ซึ่งการศึกษาทั้ง 4 ระยะนี้ จะมีการเชิญให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละประเทศเข้าร่วมกระบวนการด้วย เพื่อให้ได้เครื่องมือและการเก็บข้อมูลที่สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทในแต่ละประเทศมากที่สุด

ผลการศึกษาของโครงการที่ได้จะนำไปสู่การพัฒนาเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมทางอาหารขายปลีกของแต่ละประเทศและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เอื้อต่อการส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพของประชากร เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะทุพโภชนาการ และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง


ที่มา: Phulkerd, S., Rachmi, C. N., Sameeha, M. J., Borazon, E. Q., Thow, A.-M., Trevena, H., Saptari, A. F., Cheah, Y. K., Wel, C. A. C., Marquez, V. T., Sakulsri, T., Thongcharoenchupong, N., & Poh, B. K. (2022). Identifying Opportunities for Strategic Policy Design to Address the Double Burden of Malnutrition through Healthier Retail Food: Protocol for South East Asia Obesogenic Food Environment (SEAOFE) Study. International Journal of Environmental Research and Public Health, 19(1), 528. https://doi.org/10.3390/ijerph19010528



CONTRIBUTORS

Related Posts
ฟันปลอม...จำเป็นจริงหรือ?

สาสินี เทพสุวรรณ์

ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

ปราโมทย์ ประสาทกุล

โรคอ้วน

วรชัย ทองไทย

คนจนในสหรัฐอเมริกา

อมรา สุนทรธาดา

ช้าง

วรชัย ทองไทย

คูถและมูตร

วรชัย ทองไทย

การเดินทางไกลที่คุ้มค่า

ปราโมทย์ ประสาทกุล

บริโภคนิยม

วรชัย ทองไทย

ขยะมือสองกับนักรณรงค์ Freegans

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th