The Prachakorn

การใช้แคมเปญรณรงค์และสื่อสาธารณะ เพิ่มการกินผักและผลไม้ของคนไทยให้ได้ตามเกณฑ์โลก


สาสินี เทพสุวรรณ์,สิรินทร์ยา พูลเกิด

04 ตุลาคม 2565
621



การส่งเสริมการกินผักและผลไม้ให้ได้เพียงพอตามเกณฑ์แนะนำโลก คือ อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน1 มีความสำคัญต่อการส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชากร แต่ในขณะเดียวกันก็มีความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกใช้มาตรการที่มีประสิทธิผล รวมถึงมาตรการรณรงค์เพื่อสร้างการรับรู้ในระดับประชากร

มาตรการสำคัญในการสร้างการรับรู้ในระดับกว้างที่สำคัญในปัจจุบันคงหนีไม่พ้นการโฆษณารณรงค์ต่างๆ ผ่านช่องทางที่สามารถเข้าถึงประชากรได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางโซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือผ่านทางการสื่อสารอื่นๆ เช่น โทรทัศน์ หรือวิทยุ ฯลฯ การรณรงค์ส่งเสริมเรื่องอาหารที่ดีต่อสุขภาพจึงถูกนำมาใช้ในหลากหลายระดับ ได้แก่ 1) ระดับสื่อมวลชน (mass media campaigns: MMC) ซึ่งเป็นการดำเนินการสื่อสารทางเดียวเพื่อให้ข้อมูลผ่านป้ายโฆษณา ใบปลิว ทีวี และวิทยุ เช่น การรณรงค์เรื่อง “The 2&5” (ส่งเสริมการบริโภคผลไม้ 2 ส่วน และผัก 5 ส่วน) ของประเทศออสเตรเลียที่พบว่ามีประสิทธิภาพดีเยี่ยม2 สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้ดำเนินการ MMC เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการ รวมไปถึงการลดไขมัน/น้ำตาล/เกลือ และส่งเสริมให้บริโภคผักและผลไม้เพิ่มขึ้น3 2) การรณรงค์สื่อการตลาดเพื่อสังคม (Mass media social marketing campaigns: MMSMC) ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมและสภาพแวดล้อมเพื่อให้ทางเลือกแก่ประชาชนผ่านสื่อมวลชน เช่น ทีวี วิทยุ เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย งานประชาสัมพันธ์ผ่านการจัดเวทีสาธารณะ และสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น การรณรงค์เรื่อง 2:1:1 (บริโภคผัก 2 ส่วน ข้าวและเนื้อ 1 ส่วน) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)4 และ 3) การรณรงค์ในชุมชน (Community-based campaigns: CBC) ซึ่งเป็นการรณรงค์ในระดับอำเภอและตำบล โดยทั่วไปจะดำเนินการโดยองค์กรภาคประชาสังคม ชาวบ้าน และอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นที่น่าสนใจว่าอิทธิพลของการรณรงค์ในระดับข้างต้น (MMC, MMSMC และ CBC) รวมถึงปัจจัยทางประชากรและสังคมมีผลต่อการบริโภคผักและผลไม้เพียงพออย่างไร บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของการรณรงค์ในระดับ MMC, MMSMC และ CBC รวมถึงปัจจัยทางประชากรและสังคมที่มีผลการบริโภคผักและผลไม้เพียงพอของประชากร

จากข้อมูลของโครงการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคผักและผลไม้ของคนไทย ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเก็บข้อมูล 2 รอบ คือ รอบที่ 1 ปี 2561 และรอบที่ 2 ปี 2562 โดยศึกษาเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 4,649 คน พบว่า การรณรงค์แบบ MMC และการรณรงค์แบบ CBC ส่งผลต่อการกินผักและผลไม้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังไม่พบผลกระทบต่อการกินผักและผลไม้ให้ได้เพียงพอตามเกณฑ์โลก ในขณะที่การรณรงค์แบบ MMSMC ของ สสส. ในประเด็น 2:1:1 กลับพบว่า มีผลต่อการกินผักและผลไม้เพียงพออย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังพบปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อการกินผักและผลไม้เพียงพอ ได้แก่ การศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไป การมีอาชีพ และการมีกิจกรรมทางกาย

จากผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่า การรณรงค์แบบ MMSMC สามารถช่วยให้ประชากรบรรลุการกินผักและผลไม้ได้ตามเกณฑ์โลก อย่างไรก็ตาม การรณรงค์แบบ MMC และการรณรงค์แบบ CBC ก็ยังมีความสำคัญ เนื่องจากมีส่วนช่วยให้ประชากรเพิ่มการกินผักและผลไม้ได้ ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ดังนั้นควรดำเนินการรณรงค์ผ่านการสร้างและพัฒนาสื่อต่างๆ ที่มีเป้าหมายเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการอื่นๆ อย่างต่อเนื่องและในระยะยาว


ที่มา

Phulkerd, S., Thapsuwan, S., Chamratrithirong, A., Gray, R. S., Pattaravanich, U., Ungchusak, C., & Saonuam, P. (2022). Implementing population-wide mass media campaigns: Key drivers to meet global recommendations on fruit and vegetable consumption. PloS one, 17(8), e0273232.

อ้างอิง

  1. World Health Organization. 2003. Fruit and vegetable promotion initiative: A meeting report, Geneva, 25-27 August 2003. Geneva: World Health Organization.
  2. Carter OBJ, Pollard CM, Atkins JFP, Marie Milliner J, Pratt IS. ‘We’re not told why–we’re just told’: qualitative reflections about the Western Australian Go for 2&5® fruit and vegetable campaign. Public Health Nutrition. 2011; 14(6):982–8. https://doi.org/10.1017/S1368980010003381 PMID: 21205404
  3. Department of Health. AnamaiMedia Nonthaburi: Department of Health, Ministry of Public Health; n.d. [Available from: https://multimedia.anamai.moph.go.th/help-knowledge/categories/nutrition/].
  4. Thai Health Promotion Foundation. Fruits and vegetables Bangkok: Thai Health Promotion Foundation; n.d. [Available from: https://www.thaihealth.or.th/search.html].

 



CONTRIBUTORS

Related Posts
บริโภคนิยม

วรชัย ทองไทย

หัวใจ

วรชัย ทองไทย

คนไร้บ้านในสิงคโปร์

อมรา สุนทรธาดา

แรด

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th