The Prachakorn

60…ใช่ว่าต้องหยุด (ทำงาน)


เฉลิมพล แจ่มจันทร์

08 ตุลาคม 2563
833



สถานการณ์สังคมสูงอายุของประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนเกือบถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด การพิจารณากำหนดแนวทางและขับเคลื่อนมาตรการรับมือจัดการผลกระทบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ ของผู้สูงอายุและสังคมโดยรวมของประชากรทุกช่วงวัยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ หนึ่งในนั้นที่ไม่พูดถึงไม่ได้เป็นเรื่องการสนับสนุนส่งเสริมการทำงานและการคงอยู่ในกำลังแรงงานของประชากรไทยให้ยาวนานขึ้น โดยเฉพาะในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่คนไทยจำนวนมากยังยึดติดกับความคิดว่าเป็นเกณฑ์อายุเกษียณที่ควรหยุดทำงานและพักผ่อน ซึ่งก็ไม่ผิดอะไรเนื่องจากอายุเกษียณในภาครัฐของไทยยังคงกำหนดไว้ที่อายุ 60 ปี แต่น่าจะดีกว่าหากเราสามารถช่วยกันสร้างค่านิยมใหม่ได้ว่า “เกษียณอายุ หรือสูงวัยแล้ว ใช่ว่าต้องหยุดทำงาน”

บทความนี้ขอนำเสนอข้อมูลบางประการที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำงานของผู้สูงอายุไทยที่เป็นข้อค้นพบจากโครงการวิจัย “สถานการณ์และแนวโน้มสภาพการทำงานของผู้สูงอายุไทย: การวิเคราะห์จากข้อมูลการสำรวจระดับประเทศ” ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)

ร้อยละผู้มีงานทำของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปขึ้นไป
รูป 1 ร้อยละผู้มีงานทำของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปขึ้นไป
แหล่งข้อมูล: วิเคราะห์จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร พ.ศ. 2562 (ไตรมาส 3) สำนักงานสถิติแห่งชาติ

จากรูป 1 ซึ่งแสดงร้อยละผู้มีงานทำของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป (ข้อมูลปี 2562 ไตรมาส 3) จะเห็นได้ว่าประชากรไทยมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานสูงที่สุดในช่วงอายุ 30-49 ปีทั้งผู้ชาย (ร้อยละ 94) และผู้หญิง (ร้อยละ 80-82) โดยผู้หญิงเริ่มออกจากกำลังแรงงานหรือหยุดการทำงานเร็วกว่าผู้ชายคือตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ขณะที่ผู้ชายจะเริ่มออกจากกำลังแรงงานชัดเจนที่อายุ 55 ปีขึ้นไป ในภาพรวม เมื่อเข้าสู่อายุ 60 ปี ร้อยละผู้มีงานทำของประชากรทั้งหมดลดลงอย่างมากจากร้อยละ 77 ในช่วงอายุ 55-59 ปี เหลือเพียงร้อยละ 55 ในช่วงอายุ 60-64 ปี และในภาพรวมผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีเพียงร้อยละ 34.5 หรือ 1 ใน 3 เท่านั้น ที่ยังคงทำงาน จากการวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติม การทำงานของแรงงานสูงอายุไทย (ผู้สูงอายุที่ยังคงมีงานทำ) ส่วนใหญ่ร้อยละ 60.3 อยู่ในภาคเกษตร (อีกร้อยละ 32.1 อยู่ในภาคบริการและการค้า) ร้อยละ 62.0 มีสถานภาพการทำงานเป็นการประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง (อีกร้อยละ 20.4 ช่วยธุรกิจครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง) และสูงถึงร้อยละ 88.0 เป็นแรงงานนอกระบบ (ตามคำจำกัดความของสำนักงานสถิติแห่งชาติ) แม้ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยจะมีมาตรการและนโยบายในการส่งเสริมการทำงานและมีงานทำของผู้สูงอายุมากพอสมควร แต่จากการวิเคราะห์ข้อมูลในช่วงปี 2547-2562 พบว่าร้อยละของผู้มีงานทำในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลับมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี โดยในกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ทำงานหรือหยุดทำงานนั้น พบว่ามีสาเหตุมาจากเหตุผลการเกษียณอายุจากการทำงานหรือต้องการพักผ่อนเพิ่มมากขึ้นถึง 2 เท่า การส่งเสริมการมีงานทำและการคงอยู่ในตลาดแรงงานของผู้สูงอายุให้ยาวนานขึ้น ควรมุ่งเน้นไปที่ประชากรกลุ่มอายุ 60-64 ปี

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา แรงงานทุกกลุ่มวัย รวมถึงแรงงานสูงอายุย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในทุกภาคเศรษฐกิจ ทั้งจากการหยุดหรือปิดกิจการของสถานประกอบการ การถูกเลิกจ้างหรือไม่ต่อสัญญา (ซึ่งการศึกษาจำนวนหนึ่งในต่างประเทศ ชี้ว่าแรงงานสูงอายุเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มถูกพิจารณาเลิกจ้างเป็นกลุ่มแรก ๆ) การถูกลดชั่วโมง/วันทำงานและสวัสดิการคุ้มครองต่าง ๆ ปัญหาการขาดทุนของผลประกอบการและผลผลิตทั้งในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การค้าและบริการจากการลดลงของกำลังซื้อภายในประเทศและการส่งออกที่หดหาย ล้วนเป็นปัจจัยความเสี่ยงที่ทำให้แรงงานจำนวนมากอาจต้องตกงานหรือเลิกกิจการ ซึ่งกลุ่มที่มีความเปราะบางไม่ใช่เฉพาะเพียงแรงงานสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่รวมถึงแรงงานก่อนวัยสูงอายุโดยเฉพาะกลุ่มอายุ 50-59 ปี ที่ยังอยู่ในช่วงวัยที่ควรต้องทำงานเก็บเงินสำหรับวัยสูงอายุ ซึ่งหากถูกเลิกจ้างหรือตกงานก็จะมีโอกาสในการได้งานใหม่หรือกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ค่อนข้างน้อย

สำหรับแรงงานสูงอายุที่ยังคงอยู่ในตลาดแรงงาน การปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตการทำงานใหม่ ที่มีแนวโน้มต้องพึ่งพาเทคโนโลยีการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ก็เป็นความท้าทายที่สำคัญต่อแรงงานสูงอายุในการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะใหม่ที่จำเป็นเหล่านี้

รูป 2 การใช้อินเทอร์เน็ตของแรงงานไทย
แหล่งข้อมูล: วิเคราะห์เฉพาะผู้มีงานทำ จากการสำรวจ ICT พ.ศ. 2561, สำนักงานสถิติแห่งชาติ

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
ประชากรไทยเริ่มลดลงแล้ว

ปราโมทย์ ประสาทกุล

การเดินทางไกลที่คุ้มค่า

ปราโมทย์ ประสาทกุล

คุกโลก......ล้น

อมรา สุนทรธาดา

มาชะลอวัยกันเถอะ!

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Work from home ไม่เหงา...เท่า Care from home

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th