The Prachakorn

เสียงหัวเราะของยักษ์ตัวที่ 3 ที่พยายามกลืนโลก


ปิยวัฒน์ เกตุวงศา

05 ตุลาคม 2566
1,020



เกือบตลอดช่วงเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ UN General Assembly ครั้งที่ 78 (UNGA78) ที่ 193 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับทิศทางและนโยบายของการพัฒนาของประเทศต่างๆ ในการประชุมดังกล่าวได้ออกแบบให้มีการประชุมคู่ขนานที่สำคัญอีกหลายเวที หนึ่งในเวทีที่ได้รับความสนใจคือ เวทีประชุมด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Summit) มีการหยิบยก 5 ประเด็นที่น่าจับตามองและให้ความสำคัญประกอบด้วย 1) ความเคลื่อนไหวนานาประเทศหลังผ่านครึ่งแรกของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2) การจัดการและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3) การทบทวนบทเรียนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 4) การเปิดแผนจัดเวทีแห่งอนาคต หรือ Summit of the Future และ 5) การยกระดับประเด็นด้านความเท่าเทียม

การประชุมได้เปิดเผยข้อมูลที่มีใจความสำคัญโดยสรุป คือ ภายใต้ภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่มีความผันผวนและสลับซับซ้อน ผนวกกับภัยพิบัติธรรมชาติ ความขัดแย้ง และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความคืบหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมีแนวโน้มที่จะถดถอยลง ทั้งนี้พบว่า ประเทศสมาชิกทั่วโลกที่สามารถดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายได้เพียงร้อยละ 12 เท่านั้น ดังนั้นแต่ละประเทศจำเป็นต้องเร่งคิด หารือ และวางแผน เพื่อให้ช่วงเวลา 7 ปีข้างหน้าที่เหลือก่อนจะถึงเป้าหมายในปี 2573 ทุกประเทศสามารถผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ประสบความสำเร็จร่วมกันได้

จาก 5 ประเด็นหลักของการประชุม มีอยู่ 3 ประเด็นที่เป็นอุปสรรคและเงื่อนไขที่ฉุดรั้งการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่างๆ ซึ่งบทความนี้อุปลักษณ์ (Metaphor) ให้เป็น “ยักษ์ 3 ตัว” ที่กลืนกินกระบวนการพัฒนาที่ควรจะเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก (ยกเว้นประเด็นที่ 1 และ 3) โดยจะขอจับเอา “ยักษ์ตัวที่ 3” ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านความเท่าเทียมในมิติต่างๆ ของสังคม มาเสนอและชวนทุกท่านได้ร่วมคิดร่วมอภิปรายกัน

ในการประชุม UNGA 78 ครั้งนี้ ประเด็นด้านความเท่าเทียม นับเป็นประเด็นที่ถือเป็นศูนย์กลางของทุกประเด็น โดยจุดเน้นในการพูดคุยของเรื่องนี้อยู่ที่การชวนให้แต่ละประเทศได้คิดและวางแผนกลไกทางการเงิน ที่จะใช้ผลักดันโครงการเพื่อสร้างความเท่าเทียมต่างๆ เพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อาทิ การให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มคนชายขอบ การจัดการกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ท้าชนความรุนแรงที่ผู้หญิงต้องเผชิญ ปิดช่องว่างระหว่างวัย การปราศจากการเลือกปฏิบัติ และประเด็นอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมไปถึงเรื่องการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Healthcare Coverage - UHC) และการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์โรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

หากจะว่าไปแล้ว ยักษ์ตัวที่ 3 นี้ เป็นยักษ์ที่ฆ่าไม่ตายและอยู่ในสังคมของมนุษย์เรามาช้านาน สร้างความเหลื่อมล้ำ กีดกันโอกาส และกดทับความเจริญก้าวหน้าของคนหลายกลุ่มในสังคม เป็นยักษ์ที่หลายประเทศต่างต้องการที่จะหาอาวุธหนักมาใช้ปราบให้กำราบ แต่ยังหาไม่เจอหรือทำไม่ได้ ส่งผลให้เหล่ายักษ์กลุ่มนี้ได้ใจหัวเราะเยาะเย้ย พร้อมกับแพร่ขยายสายพันธุ์ใหม่ไปในหลายสังคมที่ขาดภูมิคุ้มกันในการรับมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา ผู้เขียนขอใช้โอกาสนี้แนะนำทุกท่านให้รู้จักอีกหนึ่งสายพันธุ์ใหม่ของยักษ์ตัวที่ 3 ที่มีฤทธิ์ในการสร้างความเหลื่อมล้ำด้านกิจกรรมทางกาย และกำลังถูกพูดถึงในหลายสังคมมากขึ้นทุกขณะ

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม โดยโครงการติดตามเฝ้าระวังพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ระหว่างปี 2562 ถึง 2564 ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลต่อเนื่องระยะยาวกับกลุ่มตัวอย่างจำนวนประมาณ 8,000 คนในประเด็นสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของการมีกิจกรรมทางกายในช่วงก่อน-ระหว่าง-และหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 17 ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของความเหลื่อมล้ำในมิตินี้ ที่อาศัยจังหวะของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทวีความรุนแรงของปัญหาไปยังผู้คนกลุ่มต่างๆ ในสังคม เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลในรายละเอียดพบกลุ่มประชากรที่กำลังเผชิญความเหลื่อมล้ำอยู่ในสถานการณ์ขาดกิจกรรมทางกายมากที่สุด 3 อันดับแรก ประกอบด้วย 1) กลุ่มผู้ไม่มีรายได้และไม่มีงานทำ 2) กลุ่มผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่สุขภาวะ และ 3) กลุ่มประชากรผู้สูงอายุ ตามลำดับ

ดังนั้น กลไกทางการเงินที่จะนำมาใช้เพื่อการผลักดันโครงการเพื่อสร้างความเท่าเทียมด้านกิจกรรมทางกายได้อย่างมีประสิทธิผลแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดกับกลุ่มประชากรที่ตรงกับปัญหา นับเป็นสิ่งสำคัญที่ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งมองเห็น เข้าใจ และผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อจัดการกำราบยักษ์ตัวที่ 3 ไม่ให้สามารถหัวเราะคำรามเสียงกึกก้องในสังคมไทยได้ต่อไป


เอกสารอ้างอิง

Widyastari, D. A., Khanawapee, A., Charoenrom, W., Saonuam, P., &    Katewongsa, P. (2022). Refining index to measure physical activity    inequality: which group of the population is the most vulnerable? International Journal for Equity in Health, 21(1), 123. doi:10.1186/s12939-022-01725-1

ดาวน์โหลดบทความฉบับเต็ม

 

ภาพปก freepik.com (premium license)



CONTRIBUTOR

Related Posts
เพศหลากหลาย Happy SDG กับ ภาพจำ ที่เปลี่ยนผ่าน?

วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

ส้วม

วรชัย ทองไทย

ผู้หญิงในสถานการณ์โควิด-19

กัญญาพัชร สุทธิเกษม

COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

มารู้จักวัคซีนโควิด 19

มนสิการ กาญจนะจิตรา

COVID-19 : รักษาระยะห่าง ดูแลระยะใจ 

พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

แก่นเรื่อง

วรชัย ทองไทย

หวังว่าโควิด-19 จะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ด้วยรักและโรคระบาด

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

วิถีใหม่

วรชัย ทองไทย

โกหกคำโต (big lie)

วรชัย ทองไทย

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

HAPPY FAMILY TALK

กัญญาพัชร สุทธิเกษม

อาชีพกับเรื่องอ้วนๆ

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ

นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

คนไทยกับกิจกรรมทางกาย

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th