The Prachakorn

ซาลซ์บวร์ก (Salzburg) ช่วงโควิด


ขวัญชนก ใจซื่อกุล

08 มิถุนายน 2564
658



เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา (ปี 2564) ผู้เขียนมีโอกาสได้เดินทางไปศึกษาวิจัย ณ มหาวิทยาลัยซาลซ์บวร์ก ประเทศออสเตรีย ซึ่งการเดินทางไปต่างประเทศในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ไม่น้อยสำหรับผู้เขียน นอกจากการขอวีซ่าแล้ว ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศออสเตรียต้องทำการกรอกเอกสาร Pre-Travel Clearance หรือ PTC และนำผลการตรวจโควิด-19 แบบ PCR Test ที่เป็นลบหรือไม่พบเชื้อที่มีอายุไม่เกิน 72 ชั่วโมงไปแสดงก่อนเข้าประเทศ โดยสายการบินจะตรวจสอบเอกสารของผู้โดยสารอย่างละเอียด บรรยากาศที่สนามบินสุวรรณภูมินั้นค่อนข้างเงียบเหงา ระหว่างเดินไปยังอาคารผู้โดยสาร ผู้เขียนเห็นหลายส่วนของสนามบินอยู่ระหว่างการปรับปรุงตกแต่ง จำนวนผู้โดยสารบนเครื่องบินนั้นน้อยบางตาอย่างเห็นได้ชัดจนสามารถนอนยาวบนที่นั่งได้

บรรยากาศเมืองซาลซ์บวร์ก จากริมแม่น้ำ Salzach ภาพถ่ายโดยผู้เขียน

เมื่อเดินทางมาถึงท่าอากาศยานนานาชาติเวียนนา ประเทศออสเตรีย ด่านตรวจคนเข้าเมืองได้แจ้งกับผู้เขียนว่าให้ทำการกักตัวอยู่ในบ้านเป็นเวลา 10 วัน ทั้งนี้การกักตัวในวันที่ 5 ผู้เขียนสามารถออกจากบ้านเพื่อไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง และหากผลเป็นลบก็สามารถยุติการกักตัวที่บ้านได้ การนัดหมายเพื่อขอตรวจโควิด-19 ทำได้ง่ายและสะดวก โดยการพิมพ์ชื่อเมือง แล้วตามด้วยคำว่า “testen” (ตรวจเชื้อ) เช่น Salzburg testen ก็จะเจอศูนย์ตรวจที่เปิดให้บริการตรวจโควิด-19 บุุคคลทั่วไปสามารถทำการนัดหมายวัน เวลาและสถานที่ที่ต้องการไปตรวจได้ และเมื่อถึงวันนัดหมายก็สามารถแสดงบาร์โค้ดที่ได้รับจากการลงทะเบียนให้แก่เจ้าหน้าที่ ซึ่งในวันที่ 5 ของการกักตัว ผู้เขียนเดินทางไปยังศูนย์ตรวจตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ การตรวจครั้งแรกของผู้เขียนมีเจ้าหน้าที่ทำการ swab หรือ เก็บสารคัดหลั่งบริเวณหลังโพรงจมูกให้ แต่ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา จะเปลี่ยนเป็นการแจกชุดทดสอบแทน แล้วให้ผู้รับการตรวจทำทดสอบเอง ก่อนที่จะนำตัวอย่างไปยื่นให้แก่เจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นภายใน 15-30 นาที ผลตรวจจะถูกส่งกลับมาให้ทราบทั้งทาง SMS และ email ที่ลงทะเบียนไว้ เมื่อได้รับผลก็ถือเป็นอันเรียบร้อย โดยผู้เขียนได้รับแจ้งผลตรวจที่เป็นลบจึงสามารถยุติการกักตัวได้ทันที

ผู้คนต่อแถวรอตรวจโควิด ณ ศูนย์ตรวจ Kongresshaus ภาพถ่ายโดยผู้เขียน

สถานการณ์โควิด-19 ที่ประเทศออสเตรียในช่วงเดือนพฤษภาคมค่อนข้างมีแนวโน้มที่ดีขึ้นหลังจากที่มีการระบาดสูงในช่วงต้นเดือนเมษายน ซึ่งมีผลทำให้บางเมือง เช่น เวียนนาต้องประกาศล็อกดาวน์ พ่อค้าร้านไอศกรีมแถวมหาวิทยาลัยบอกกับผู้เขียนว่า เขารู้สึกได้ว่านี่คือช่วงท้ายๆของโควิด-19 แล้ว จำนวนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนนั้นมากขึ้นและจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง อีกไม่นานการใช้ชีวิตแบบเดิมจะกลับมา ส่วนเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งกล่าวกับผู้เขียนว่า ขอให้ผู้เขียนใช้เวลาเที่ยวชมเมืองซาลซ์บวร์กอย่างเต็มที่ เนื่องจากซาลซ์บวร์กเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีนและอินเดีย แต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เมืองนี้ค่อนข้างเงียบเหงา อย่างไรก็ตาม เธอเชื่อว่าอีกไม่นานนักท่องเที่ยวจะกลับมาเยือนที่นี่เป็นปกติอย่างเดิม

การใช้ชีวิตกับโควิด-19 ในช่วงเดือนพฤษภาคมค่อนข้างผ่อนคลาย ประชาชนสามารถถอดหน้ากากอนามัยได้เมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้งและมีอากาศถ่ายเท แต่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยเมื่อใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ เมื่อเข้าไปในตัวอาคาร หรือเมื่อต้องการซื้อสินค้าในร้านค้าและร้านอาหาร โดยจะเป็นการซื้อสินค้าในลักษณะการนำกลับไปทานที่บ้าน และเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ทางการก็มีการผ่อนปรนมาตรการ โดยอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจากประเทศในทวีปยุโรปสามารถเดินทางเข้ามายังประเทศออสเตรียได้ รวมถึงยังอนุญาตให้นั่งรับประทานอาหารที่ร้านได้ โดยทุกครั้งที่จะใช้บริการในร้านจะต้องมีการแสดงผลการตรวจโควิด-19 ที่มีอายุไม่เกิน 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทั้งเมืองก็ค่อนข้างคึกคักและมีสีสัน ในวันที่อากาศดีจะเห็นผู้คนออกมาเดินเล่นในเมือง รับประทานอาหาร พูดคุย และทำกิจกรรมกลางแจ้ง ผู้เขียนเห็นบรรยากาศดังกล่าวแล้วก็ได้แต่ภาวนาในใจขอให้คนไทยได้กลับมาใช้ชีวิตปกติแบบนี้เหมือนกัน

สุดท้ายนี้ สิ่งที่ผู้เขียนประทับใจในการจัดการเรื่องโควิด-19ของที่นี่ คือแนวคิดเรื่อง “Testen schafft Klarheit” หรือ “ตรวจให้กระจ่าง” ซึ่งทำให้การเข้าถึงการตรวจโควิด-19 เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายและสะดวก ช่วยไขข้อข้องใจที่ว่า “ตกลงเราติดหรือยัง” ซึ่งคงจะดีไม่น้อยถ้าผู้ที่อาศัยในประเทศไทยจะมีโอกาสเข้าถึงการตรวจได้แบบนี้บ้าง

 

 

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
COVID-19 โรคเปลี่ยนโลก

ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา

เงิน….. งาน…… บันดาลสุขอย่างไร? ในวันที่ต้อง Work From Home

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

หวังว่าโควิด-19 จะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

โกหกคำโต (big lie)

วรชัย ทองไทย

Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th