The Prachakorn

การแต่งงานของเด็กข้ามชาติในช่วงวิกฤตโควิด -19


วาทินี บุญชะลักษี

15 พฤศจิกายน 2564
749



เด็ก หมายถึง ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี การแต่งงานในวัยเด็ก (Child Marriage) หรือการแต่งงานก่อนวัยอันควร (Early Marriage) หมายถึง การอยู่กินร่วมกันฉันท์สามีภรรยาหรือการมีคู่ครองของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี การแต่งงานในวัยเด็กอาจเป็นการแต่งงานระหว่างเด็กกับเด็กหรือเด็กกับผู้ใหญ่ เด็กบางคนอาจถูกบังคับให้แต่งงานโดยที่ตนเองไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ บางประเทศเด็กต้องแต่งงานก่อนวัยอันควรอันเนื่องมาจากขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา วัฒนธรรม และความเชื่อที่ถือปฏิบัติสืบเนื่องต่อกันมาเนิ่นนานอาทิเช่นในประเทศอินเดีย การแต่งงานก่อนวัยอันควรส่วนใหญ่มักเกิดกับเด็กหญิงมากกว่าเด็กชาย และเกิดกับเด็กข้ามชาติซึ่งมีพ่อแม่เป็นแรงงานรับจ้าง

ปัจจุบันอายุการแต่งงานที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ระบุไว้ในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันออกไป บางประเทศกำหนดไว้ที่อายุ 16 ปี บางประเทศกำหนดไว้ที่ 18 หรือ 20 ปี ถ้าอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดจะต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง สำหรับประเทศไทยกฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์

ที่ผ่านมาองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ซึ่งเป็นองค์การที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กจะพยายามรณรงค์ต่อต้านไม่ให้มีการแต่งงานก่อนวัยอันควรอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงมีปรากฏให้เห็นอยู่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่ยากจนและมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี เด็กซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางจำนวนไม่น้อยขาดโอกาสที่ดีในชีวิตก็เพราะการแต่งงานก่อนวัยอันควร การแต่งงานก่อนวัยอันควรทำให้เด็กขาดโอกาสในการศึกษาเล่าเรียน และมีผลกระทบต่อชีวิตที่ดีในอนาคต  เด็กบางคนจำต้องแต่งงานเพื่อช่วยลดภาระหนี้สินให้แก่ครัวเรือนเพราะพ่อแม่มีลูกหลายคนและครอบครัวยากจน

ผลการศึกษาบางส่วนที่ได้จากการสัมภาษณ์ระดับลึกและการจัดสนทนากลุ่มในโครงการประเมินสถานการณ์เด็กข้ามชาติในประเทศไทยและผลกระทบจากโควิด-19 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วงปี 2564 พบว่า ยังมีเด็กข้ามชาติจำนวนหนึ่งซึ่งไม่ทราบว่ามีจำนวนมากน้อยเท่าใดในจังหวัดตากและจังหวัดเชียงใหม่มีการแต่งงานก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กข้ามชาติเมียนมาและในกลุ่มเด็กชาติพันธุ์ สาเหตุหนึ่งที่พบ ก็คือ ความยากจนและการไร้สัญชาติ เด็กที่ติดตามพ่อแม่และเด็กที่เกิดและเติบโตในประเทศไทยบางส่วนต้องช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน เมื่อพ่อแม่ย้ายงานหรือเปลี่ยนงานเด็กก็ต้องย้ายตามไปด้วย หากพ่อแม่เป็นแรงงานก่อสร้างซึ่งมีการเคลื่อนย้ายบ่อยเด็กก็ต้องเคลื่อนย้ายบ่อยตามพ่อแม่ไปด้วย เด็กจึงขาดโอกาสศึกษาเล่าเรียนทั้งในระบบโรงเรียนรัฐซึ่งเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยไม่ว่าสัญชาติใดเรียนฟรี 15 ปี และขาดโอกาสเรียนในศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กข้ามชาติ (MLC)  เด็กข้ามชาติบางคนก็มีอายุเกินเกณฑ์ที่จะเข้าเรียนตามชั้นปกติ ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ก็ยิ่งเหมือนเร่งให้เกิดการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเด็กเร็วขึ้น อันนำไปสู่การแต่งงานก่อนวัยอันควร ซึ่งการแต่งงานก่อนวัยอันควรนี้อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกกลุ่ม รวมทั้งในกลุ่มเด็กข้ามชาติที่กำลังเรียนอยู่ในระบบโรงเรียนด้วย เพราะเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน ไม่ต้องไปโรงเรียน และมีปัจจัยเสริมที่สำคัญ ก็คือ สภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยที่แออัดและอยู่ร่วมกันหลายคนหลายครอบครัว จึงมีกรณีเด็กข้ามชาติหญิงอายุต่ำกว่า 18 ปีแต่งงานก่อนวัยอันควรเกิดขึ้น เช่น ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นการแต่งงานระหว่างเด็กกับเด็ก เพราะเกิดตั้งครรภ์ ต้องออกจากโรงเรียน พ่อแม่ไม่อยากรับผิดชอบ อยากให้ออกจากบ้าน หางานทำเพื่อเลี้ยงตนเองและสร้างครอบครัวใหม่

ปรากฏการณ์การแต่งงานก่อนวัยอันควรในกลุ่มเด็กข้ามชาติขณะนี้เริ่มกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆด้วย ไม่เฉพาะ ที่อำเภอแม่สอดเท่านั้น  การแต่งงานก่อนวัยอันควรเป็นประเด็นสำคัญ เพราะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ในชีวิตเด็ก เนื่องจากความไม่พร้อมที่จะมีครอบครัว และเป็นการลดโอกาสที่ดีของเด็กในอนาคต และเกิดผลเสียต่อสุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์ของเด็กด้วย

 “UNICEF คาดการณ์ว่าผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของจำนวนการแต่งงานในวัยเด็ก (child marriage) ถึง 10 กว่าล้านรายทั่วโลก ในระยะ 10 ปี ต่อจากนี้”


 
ที่มา UNICEF. (March 2021). COVID-19 A threat to progress against child marriage. https://data.unicef.org/wp-content/uploads/2021/03/UNICEF-report-_-COVID-19-_-A-threat-to-progress-against-child-marriage-1.pdf

รองศาสตราจารย์ ดร.วาทินี บุญชะลักษี
ทีมวิจัยโครงการ“การประเมินสถานการณ์เด็กข้ามชาติในประเทศไทยและผลกระทบจากโควิด-19”
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล



CONTRIBUTOR

Related Posts
วิถีใหม่

วรชัย ทองไทย

Long COVID เจอ เจ็บ แต่ไม่จบ ?

สุริยาพร จันทร์เจริญ

COVID-19 : รักษาระยะห่าง ดูแลระยะใจ 

พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

หวังว่าโควิด-19 จะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

โกหกคำโต (big lie)

วรชัย ทองไทย

Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

สมองไทยย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

มองประชากรศึกษาผ่านกรอบเควียร์

ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง

คำขวัญวันเด็ก

สุภาณี ปลื้มเจริญ

เด็กปฐมวัย...โอกาสทองสร้างคน

มนสิการ กาญจนะจิตรา

โกหก

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th