ไม่ใช่แค่อายุเท่านั้นที่ทำให้ Gen Z ได้เข้ามาเป็นพนักงานใหม่ในองค์กร เพราะเขามาพร้อมกับศักยภาพที่นายจ้างต้องการ ด้วยความเป็นคนชนเผ่าดิจิทัลอย่างแท้จริง เพราะคน Gen Z เกิดมาในยุคที่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตอยู่รอบตัว รู้จักทุกช่องทางสื่อสาร ฉลาดพอที่จะระมัดระวัง และปรับตัวได้กับแอพพลิเคชั่นใหม่ๆที่จะเกิดขึ้น และถึงแม้ Gen Z จะเป็นน้องใหม่ในที่ทำงาน แต่เขาไม่ใช่สตรอเบอรี่ที่จะบอบช้ำได้ง่ายๆ อย่าลืมว่าเขานั่งมองน้ำท่วมในย่านศูนย์กลางทางการเงินในช่วงวัยรุ่น โตมาพร้อมกับวิกฤตการเมืองแบบมาราธอน และได้มองเห็นภาพความล่มสลายของระบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง คนกลุ่มนี้จึงจะเลือกทางเดินชีวิตแบบระมัดระวัง ไม่ตกใจง่าย ไม่เพ้อฝัน วางเป้าหมายในการทำงานบนฐานของความเป็นจริง เขามีแรงจูงใจในตนเอง และ มีทักษะในการจัดการปัญหาได้เป็นอย่างดี
ภาพโดย อวิรุทธ์ สิริสินวิบูลย์ - ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่จากบุคคลในภาพ
ความต้องการและความคาดหวังของคน Gen Z กำลังจะเปลี่ยนภาพโลกแห่งการทำงาน ไปสู่มิติใหม่ ด้วยค่านิยม ทัศนคติ และประสบการณ์แวดล้อมที่แตกต่างจากคนทำงานรุ่นพี่ ส่งผลให้ความคาดหวังและเป้าหมายในการทำงานของคน Gen Z แตกต่างไป ผลการสำรวจภายใต้โครงการองค์กร 4G มีสุข2 ชี้ให้เห็นข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับคนทำงาน Gen-Z ที่นายจ้างควรจะรู้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับคลื่นคนทำงานรุ่นใหม่ในองค์กร
วันเวลาได้พาเรามาถึงจุดที่การจ้างงานระยะยาว (lifetime employment หรือ long-term employment) ไม่ใช่เป้าหมายที่คนรุ่นใหม่คาดหวังจากองค์กร โดยร้อยละ 65.3 ของกลุ่มตัวอย่าง Gen Z วาดภาพตนเองเกษียณจากธุรกิจส่วนตัว และ อีกร้อยละ 6.7 เกษียณจากการเป็นฟรีแลนซ์ มีเพียงร้อยละ 14.9 คาดหวังที่จะเกษียณจากองค์กรภาครัฐ และ 5.7 จากองค์กรเอกชน
ภาพที่ 1 งานสุดท้ายที่ทำก่อนเกษียณ ในภาพวาดการทำงานของ Gen Z (N=475)
ลักษณะเด่นของ Gen Z คือ มีความเป็นอิสระ เชี่ยวชาญเทคโนโลยี มีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง เรียนรู้เร็ว ทันสมัย และคิดนอกกรอบ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ เป็นที่ต้องการของบริษัทน้อยใหญ่ ถ้าGen Z พกทักษะเหล่านี้ไปใช้ในการทำงาน จะยิ่งผลักดันให้องค์กรก้าวหน้าได้อย่างแน่นอน แต่ทักษะเหล่านี้ ก็เหมาะมาก ที่จะนำมาใช้สร้างกิจการของตนเอง ด้วยความที่คนกลุ่มนี้มีทักษะการประกอบการสูง (high entrepreneurship skill) การเป็นผู้ประกอบการเสียเองก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
ร้อยละ 16.4 ของปัญญาชน Gen Z มุ่งมั่นว่างานแรกของเขา คือ ทำธุรกิจส่วนตัว อีกร้อยละ 4.6 จะเริ่มงานแรกในชีวิตด้วยการเป็นฟรีแลนซ์ และร้อยละ 2.9 จะนำทักษะที่มีคุณค่าของตนเองนี้ ไปสร้างความก้าวหน้าให้กับที่บ้าน ด้วยการทำงานในธุรกิจครอบครัว เรียกได้ว่า 1 ใน 4 ของ Gen Z จะเริ่มชีวิตการทำงานด้วยลำแข้งของตนเอง
แม้ว่ากว่าครึ่งหนึ่งของ Gen Z (ร้อยละ 63.9) จะเริ่มงานแรกในภาคการทำงานปกติ คือ ทำงานให้กับภาครัฐและองค์กรเอกชน แต่เมื่อเวลาผ่านไปจุดหนึ่ง คนกลุ่มนี้จะลาออกเป็นส่วนใหญ่ และผันตัวเป็นผู้ประกอบการ หรือเลือกเป็นฟรีแลนซ์ เพื่อควบคุมเป้าหมายและกำหนดความก้าวหน้าในงานด้วยตนเอง ผลการสำรวจชี้ว่า ร้อยละ 64 ของ Gen Z ที่เลือกรับราชการเป็นงานแรกในชีวิต และร้อยละ 77 ที่เริ่มงานกับองค์กรเอกชน ไม่ได้คาดหวังที่จะอยู่กับองค์กรเหล่านี้ไปจนเกษียณ แต่มุ่งหวังที่จะเกษียณจากกิจการของตนเองหรือทำงานอิสระจากการเป็นฟรีแลนซ์
ภาพที่ 2 งานแรกที่ทำเมื่อจบการศึกษา ในภาพวาดการทำงานของ Gen Z (N=475)
การย้ายงานแต่ละครั้ง มีความสำคัญกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิต เพราะการย้ายงาน ทำให้คนทำงานต้องเปลี่ยนเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน สภาพแวดล้อม และรายได้ แต่สำหรับคน Gen Z ที่โตมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงนั้น การย้ายงานเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในชีวิตการทำงานของเขา โดยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 83) คาดหวังว่าตนเองจะเปลี่ยนนายจ้างหรือย้ายบริษัทอย่างน้อย 1 ครั้ง มีเพียงร้อยละ 17 เท่านั้นที่ไม่ได้คาดหวังจะเปลี่ยนนายจ้างหรือย้ายบริษัทเลย ในตลอดช่วงชีวิตการทำงานของเขา
ภาพที่ 3 จำนวนครั้งที่คาดหวังจะเปลี่ยนนายจ้างหรือย้ายบริษัท ในตลอดช่วงชีวิตการทำงาน (N=347)
เราทุกคนกำลังเดินอยู่บนช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว แม้จะไม่รู้อนาคต แต่ที่แน่ใจได้ก็คือ โลกของวันพรุ่งนี้ไม่มีทางจะเหมือนกับเมื่อวาน ภายใต้สภาวะของความไม่แน่นอน และวิกฤตภัยคุกคามที่คาดเดาไม่ได้ องค์กรที่จะอยู่รอดได้ ไม่ใช่องค์กรที่มีแผนกลยุทธ์ล้ำเลิศที่วางไว้ล่วงหน้า แต่เป็นองค์กรที่มีความสามารถในการรับรู้อย่างต่อเนื่อง และตอบสนองต่อข้อมูลใหม่ได้อย่างทันท่วงที ความพร้อมของคนทำงานเป็นสิ่งสำคัญที่จะกำหนดความอยู่ “รอด” หรือ “ร่วง” ให้กับองค์กร การมีคนทำงานที่ใช่จะช่วยให้องค์กรผ่านวิกฤตต่างๆ ไปได้
หาก Gen Z มีทักษะที่องค์กรของคุณต้องการ การบริหารจัดการรูปแบบการทำงานและสวัสดิการเพื่อดึงดูดคนทำงาน Gen Z เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
อ้างอิง
ชณุมา สัตยดิษฐ์
ถิรวัฒน์ วรรณพฤกษ์
สุภาณี ปลื้มเจริญ
กุลวีณ์ ศิริรัตน์มงคล
กุลวีณ์ ศิริรัตน์มงคล
มนสิการ กาญจนะจิตรา
จรัมพร โห้ลำยอง
กาญจนา เทียนลาย
วรชัย ทองไทย
ปราโมทย์ ประสาทกุล
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
ปรียา พลอยระย้า
ณัฐณิชา ลอยฟ้า
พิมลพรรณ นิตย์นรา