The Prachakorn

ในนามของความรัก: สร้างวินัยให้กับเด็กโดยไม่ต้องตีกันดีกว่า


อารี จำปากลาย

13 ตุลาคม 2563
429



เมื่อลูกชายวัยเจนวายย้ายออกไปอยู่ที่คอนโดเพื่อความสะดวกกับการเดินทางไปทำงาน แต่คอนโดไม่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ ผู้เขียนจึงได้รับมรดกจากลูกเป็นแมวสาวน้อยพันธุ์  Maine Coon นางหนึ่ง ตั้งแต่นั้นมา จากที่เคยตั้งใจว่าชีวิตนี้จะไม่มีสัตว์เลี้ยง ผู้เขียนก็กลายเป็นหนึ่งในชาวทาสแมวไปแล้วอย่างถอนตัวไม่ขึ้น :-)

ผู้เขียนรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นย่าที่กำลังเลี้ยงหลานเพื่อให้บรรดาพ่อ ๆ แม่ ๆ วัยทำงานได้ออกไปแสดงบทบาทในตลาดแรงงานโดยไม่ต้องกังวลใจว่าลูก ๆ จะอยู่กันอย่างไร ทำให้ผู้เขียนนึกถึงประเด็นวิจัยที่อยู่ในความสนใจของผู้เขียนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือความอยู่ดีมีสุขของเด็ก ๆ ที่พ่อแม่ไปทำงานต่างถิ่น โดยผู้ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลเด็กแทนพ่อแม่ส่วนใหญ่คือปู่ย่าตายาย มากกว่าหนึ่งในห้าคนของเด็กไทยเติบโตขึ้นด้วยมือที่อุ้มชูไม่ใช่พ่อแม่1 ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่เพราะพ่อแม่เสียชีวิตไปแล้ว แต่เพราะพ่อแม่ต้องไปทำงานที่อื่น นักวิจัยที่สนใจเรื่องนี้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศมองความอยู่ดีมีสุขของเด็ก ๆ ในหลายประเด็น ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพการเงิน และอื่น ๆ 

บทความนี้ไม่ได้ต้องการตอบคำถามว่าเด็ก ๆ ที่เติบโตขึ้นห่างไกลจากพ่อแม่ที่ต้องไปทำงานที่อื่นนั้นมีความอยู่ดีมีสุขเหมือนหรือต่างกันกับเด็ก ๆ ที่พ่อแม่เป็นผู้เลี้ยงดู แต่อยากชวนผู้อ่านมาขบคิดด้วยกันถึงแง่มุมหนึ่งในหลาย ๆ มุมของความอยู่ดีมีสุขของเด็ก ๆ คือ การฝึกและการสร้างระเบียบวินัยให้กับเด็ก ๆ ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่รับผิดชอบสังคมต่อไปในวันข้างหน้า ในสังคมบ้านเรา ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลาย ๆ คน มีวิธีปฏิบัติในการดูแลเด็กตามแนวทางรักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี ซึ่งสะท้อนการฝึกระเบียบวินัยเด็กด้วยวิธีการที่รุนแรง คือการใช้ความรุนแรงในนามของความรักและความปรารถนาดีที่มีต่อเด็ก

งานวิจัยชิ้นหนึ่งของผู้เขียนที่สัมภาษณ์ผู้ดูแลเด็กเล็กอายุไม่เกิน 3 ขวบ2 พบว่า ในเรื่องพฤติกรรมของผู้ใหญ่ในการสร้างระเบียบวินัยให้กับเด็กเมื่อเด็กทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม3 ผู้ใหญ่ในบ้านใช้วิธีที่ไม่มีความรุนแรงมากที่สุด เช่น การอธิบายให้เด็กฟัง (ร้อยละ 92–98) หากิจกรรมอื่น ๆ ให้เด็กทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ (ร้อยละ 67–85) หรืองดเว้นสิทธิพิเศษบางอย่าง (ร้อยละ 58–65) แต่ขณะเดียวกัน งานวิจัยเรื่องนี้พบว่า การใช้ความรุนแรงทั้งด้วยวาจาและทางร่างกายในการฝึกระเบียบวินัยให้กับเด็กก็มีมากเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ร้อยละ 80–88 ใช้ความรุนแรงทางวาจากับเด็ก เช่น ขึ้นเสียง เอ็ด ตวาด หรือตะคอกใส่เด็ก ขณะที่ประมาณหนึ่งในห้าใช้ถ้อยคำเรียกเด็กว่าโง่ ขี้เกียจหรือคำที่มีความหมายในทางลบอื่น ๆ การตีเด็กด้วยมือเปล่าก็พบในสัดส่วนที่สูงทีเดียว คือ ร้อยละ 73-87 และที่รุนแรงขึ้นไปมากกว่าการตีด้วยมือเปล่า คือการตีเด็กด้วยของแข็ง พบร้อยละ 14-29 โดยพบมากที่สุดในเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อและแม่ ข้อค้นพบเหล่านี้ชี้ว่า การสร้างวินัยให้กับเด็กด้วยวิธีการรุนแรงไม่ว่าจะด้วยวาจาหรือด้วยการตียังเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ผลการวิจัยเรื่องนี้ยังพบว่า ผู้ดูแลของเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงทางกายในการลงโทษเด็กมากกว่าผู้ดูแลที่เด็กอยู่กับพ่อแม่4

อาจมีบางคนให้เหตุผลว่า การทำโทษเด็กด้วยการตีที่ทำเพื่อฝึกระเบียบวินัย ช่วยลดพฤติกรรมไม่เหมาะสมของเด็ก และช่วยหยุดพฤติกรรมผิด ๆ ของเด็กได้อย่างรวดเร็ว แต่หากพิจารณาผลร้ายที่อาจเกิดขึ้นแล้ว คงเป็นราคาที่ไม่มีใครอยากจ่าย การตีเด็กนอกจากจะเป็นการลงโทษที่ทำลายสัมพันธภาพของคนที่ตีและคนที่ถูกตีแล้ว5 หลักฐานจากงานวิจัย และความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องเด็กชี้ว่า การลงโทษเด็กด้วยการตีนั้นมีผลเสียต่อพัฒนาการของเด็ก และอาจทำให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นคนก้าวร้าวและสมองช้า6 เด็กที่ถูกตีบ่อย ๆ ยังมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูง มีความพยายามฆ่าตัวตาย ดื่มแอลกอฮอล์ หรือติดยาเสพติดมากกว่าเด็กที่ไม่ถูกตี7 การทำโทษเด็กด้วยวิธีรุนแรงนอกจากจะไม่ได้สร้างพฤติกรรมดี ๆ แล้ว ยังอาจได้พฤติกรรมไม่พึงประสงค์มาแทน การถูกทำโทษด้วยการตีบ่อย ๆ อาจทำให้เด็กกลายเป็นคนต่อต้าน และไม่เชื่อฟัง ยิ่งเป็นการตีที่รุนแรง ใช้อารมณ์ ผสมด้วยคำพูดด่าทอดุว่า นอกจากทำให้เจ็บตัวแล้วยังทำให้เกิดบาดแผลในจิตใจ ขณะที่ผู้ใหญ่อ้างว่าตีเพราะรัก เด็กก็มีสิทธิ์ที่จะคิดว่า ผู้ใหญ่ตีเพราะไม่เข้าใจ และไม่รัก ต่อไปเด็กจะไม่มีความเชื่อมั่นและไม่ไว้วางใจ เด็กจะมองตัวเองในแง่ลบ ไม่มั่นใจ และไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง กลายเป็นคนอารมณ์ไม่มั่นคง และที่จะส่งผลต่อเนื่องต่อไปในอนาคตก็คือเด็กที่มีประสบการณ์ได้รับความรุนแรงจะซึมซับพฤติกรรมเหล่านั้น หล่อหลอมให้มีการใช้ความรุนแรงกับคนรอบข้าง8 และอาจถ่ายทอดต่อไปจากรุ่นสู่รุ่นอย่างไม่สิ้นสุด

การฝึกระเบียบวินัยเด็กให้ได้ผลดีไม่จำเป็นต้องใช้วิธีบังคับลงโทษให้เจ็บตัว หรือดุว่าให้เจ็บใจ9 การทำให้เด็กได้เรียนรู้ความผิดความถูกมีหลากหลายวิธีที่ดีกว่าการตี เช่น การปรับพฤติกรรม อย่างการตัดสิทธิ์ที่จะได้ทำในสิ่งชอบ หรือการให้ทำความดีชดเชย  แทนความคิดว่า รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กเสนอแนะให้เปลี่ยนเป็น รักวัวให้ผูก รักลูกให้กอด – สัมผัสที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากลว่ามีคุณต่อการพัฒนาเซลล์ (cell) สมองของเด็กให้ทำงานได้ดีขึ้นตั้งแต่วัยทารก การกอดเป็นสัมผัสที่สร้างความรัก ความผูกพัน และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ความรักมากกว่าวิธีการใด ๆ 

การใช้ความรุนแรงในการฝึกระเบียบวินัยให้กับเด็ก แทนที่จะสร้างเด็กคนหนึ่งให้เป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักแยกแยะผิดถูก และเป็นที่พึ่งของสังคมในอีกสิบปียี่สิบปีข้างหน้า เราอาจจะได้ผู้ใหญ่ที่จิตใจและพฤติกรรมบิด ๆ เบี้ยว ๆ คนหนึ่งโดยไม่ตั้งใจ

ก่อนจะได้เป็นย่าเลี้ยงหลานที่เป็นเด็กสักคนจริง ๆ แม้ว่ายังไม่เคย (แม้แต่จะคิด) ลงไม้ลงมือกับเจ้าเหมียวที่บ้านสักแปะถึงเจ้าตัวดีจะเล่นซุกซนจนบ้านแทบจะไม่เป็นบ้านอยู่แล้ว ผู้เขียนก็ตั้งใจว่าต่อไปจะมีเจ้าแมวน้อยในอ้อมกอดให้บ่อยขึ้นกว่าที่เคย สำหรับเด็กน้อยที่วันนี้ยังต้องพึ่งพาผู้ใหญ่นำพาชีวิต ไม่ว่าเขาหรือเธอจะมีโอกาสได้อยู่พร้อมหน้าพ่อแม่หรือไม่ หรือจะมีใครเป็นผู้ดูแล จนกว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่พึ่งพาตัวเองได้ เขาหรือเธอต้องมีสิทธิ์ที่จะได้รับการดูแล เลี้ยงดู และการปกป้องที่ปราศจากความรุนแรง ไม่ว่าจะทำในนามของความรักและความปรารถนาดี หรืออื่นใดก็ตาม

 

ภาพโดย ผู้เขียน

ภาพโดย ผู้เขียน

ภาพโดย ผู้เขียน

ภาพโดย: พอตา บุนยตีรณะ


1 National Statistical Office, Multiple Indicator Cluster Survey 2015-2016, NSO, Bangkok, 2016 https://www.unicef.org/thailand/sites/unicef.org.thailand/files/2018-06/Thailand_MICS_Full_Report_EN_0.pdf
2 อารี จำปากลาย และคณะ. 2559. ผลกระทบของการย้ายถิ่นภายในประเทศที่มีต่อสุขภาวะและพัฒนาการเด็กปฐมวัย: ผลการสำรวจเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ. http://www.ipsr.mahidol.ac.th/ipsrbeta/FileUpload/PDF/Report-File-533.pdf
3 ถามพฤติกรรมในช่วง 1 เดือนก่อนการสำรวจ
4 ถามความเห็นต่อคำกล่าวที่ว่า ‘การทำโทษทางร่างกายเป็นสิ่งจำเป็นในการอบรมสั่งสอนเด็กให้เติบโตขึ้นอย่างถูกต้องเหมาะสม’
5 https://www.thaihealth.or.th
6 https://www.babybbb.com
7 https://th.theasianparent.com 
8 http://www.friendforkids.com/news/detail/178
9 http://www.mamaexpert.com/posts/content-902


 



CONTRIBUTOR

Related Posts
คำขวัญวันเด็ก

สุภาณี ปลื้มเจริญ

โครงสร้างอายุเปลี่ยนสังคม

ปราโมทย์ ประสาทกุล

โรคอ้วน

วรชัย ทองไทย

ประชากรไทยในปี 2564

กาญจนา เทียนลาย

คุกโลก......ล้น

อมรา สุนทรธาดา

วิถีใหม่

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th