The Prachakorn

ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัว การย้ายถิ่น และมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้


กาญจนา ตั้งชลทิพย์,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์,อารี จำปากลาย

18 กุมภาพันธ์ 2565
739



ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในสามจังหวัดชายแดนใต้สะท้อนความไม่สงบสุขในพื้นที่ กระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม เชื่อมโยงไปกับแรงผลักทางเศรษฐกิจทำให้มีการย้ายถิ่นไปที่อื่นเพื่อหางานทำ ไม่ต่างกับคนในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ และการย้ายถิ่นส่งผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่นและครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปี 2557 อารี จำปากลาย และคณะ1 เริ่มงานวิจัยที่ศึกษาการย้ายถิ่นของมุสลิมในปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยออกแบบให้เป็นการศึกษาระยะยาว 3 ปี เพื่อดูผลกระทบของเหตุการณ์ความรุนแรงต่อการย้ายถิ่นไปทำงานที่อื่น ผลการศึกษาไม่ยากเกินการคาดเดา คือพบว่า สถานการณ์ความไม่สงบมีส่วนเร่งให้คนสามจังหวัดชายแดนใต้ตัดสินใจไปทำงานที่อื่น รวมทั้งการไปทำงานที่มาเลเซีย 

แม้การไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียเป็นการย้ายถิ่นกระแสหลักของมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ และเรียกได้ว่าเป็นวิถีชีวิตของคนในพื้นที่มานานตั้งแต่ในยามที่ยังไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุผลของระยะทางที่ใกล้ เดินทางสะดวก มีภูมิหลังทางศาสนา วิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกันทำให้คุ้นชินกว่าการไปทำงานที่อื่น อย่างไรก็ตาม การศึกษาพบว่า มุสลิมที่ไปทำงานที่มาเลเซียมีทุนมนุษย์ด้านการศึกษา วัย และสถานะสุขภาพ ด้อยกว่ามุสลิมที่ไปทำงานในถิ่นปลายทางอื่น นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบผลกระทบต่อสภาวะจิตใจของผู้ย้ายถิ่น และสมาชิกครอบครัวที่อยู่ในถิ่นต้นทาง 

การย้ายถิ่นของมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ ยังมีประเด็นสำคัญและน่าสนใจอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตของผู้คนท่ามกลางความไม่สงบ อีกทั้งมีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามาเพิ่มความยากลำบาก เป็นความเสี่ยงซ้ำซ้อน ทำให้คนทุกช่วงวัยได้รับผลกระทบ และเมื่อผู้ย้ายถิ่นที่เป็นพ่อแม่ต้องไปทำงานไกลบ้านทั้งในและนอกประเทศ และให้ลูกอยู่ในความดูแลของสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ โดยเฉพาะปู่-ย่า-ตา-ยาย ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจยิ่งทวีความซับซ้อนและจำเป็นต้องทำความเข้าใจ

ปีที่แล้ว ผู้เขียน ได้ดำเนินโครงการวิจัยต่อเนื่อง2 จากโครงการเดิมเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของการย้ายถิ่นต่อชีวิตของมุสลิมในสามจังหวัดที่ครอบคลุมทั้งผลกระทบต่อความอยู่ดีมีสุขของลูกของผู้ย้ายถิ่น และความอยู่ดีมีสุขของผู้ดูแลลูกของผู้ย้ายถิ่นที่อยู่ในถิ่นต้นทางด้วย โดยเก็บข้อมูลในครัวเรือนเดิมที่เคยศึกษาครั้งแรกเมื่อ 7 ปีก่อน คือ ปี 2557 และครั้งที่สองในปี 2559 ครั้งนี้จึงเป็นการเก็บข้อมูลรอบที่สาม เพื่อจับภาพความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบในระยะยาวที่เกิดขึ้นในครัวเรือนและสมาชิกครอบครัว ตั้งแต่วัยเริ่มต้นชีวิตจนเติบโตขึ้นเป็นเด็กเล็ก (7-12 ปี) วัยรุ่น (13-17 ปี) และเยาวชน (18-24 ปี) และเพิ่มการเก็บข้อมูลผลกระทบต่อเด็กเล็กอายุ 0-6 ปีที่เพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัวหลังการเก็บข้อมูลครั้งแรก รวมทั้งผู้ดูแลที่รับผิดชอบความเป็นอยู่ของลูกที่พ่อแม่ย้ายถิ่น ทั้งผู้ดูแลที่เป็นผู้สูงวัย และก่อนสูงวัย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สะท้อนคุณภาพชีวิต ทั้งทางร่างกายและจิตใจ 

ขณะกำลังเขียนต้นฉบับ การเก็บข้อมูลของงานวิจัยนี้เสร็จลงแล้ว ด้วยความรู้สึกโล่งอกและขอบคุณของผู้วิจัยและทีมงานภาคสนามทุกคน นับเป็นการเก็บข้อมูลที่มีความยากลำบากที่สุดงานหนึ่ง ด้วยบริบทของความไม่สงบ เพิ่มเติมด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บข้อมูลเป็นการสัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ และออนไลน์ เป็นความท้าทายที่ไม่อาจลืม และเป็นการเรียนรู้ที่มีคุณค่าของการทำวิจัยในภาวะไม่ปกติ

วันนี้ผู้วิจัยยังไม่สามารถนำผลการศึกษามาแลกเปลี่ยน เพราะยังอยู่ในช่วงการจัดการข้อมูล แต่เราหวังว่าจะมีโอกาสนำมาเล่าสู่กันฟังในอนาคตอันใกล้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลการศึกษานี้จะมีส่วนช่วยทำให้เห็นช่องว่างของการยกระดับคุณภาพชีวิต และให้ข้อเสนอแนะเพื่อเติมเต็มให้ชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

รูป: พนักงานสัมภาษณ์กำลังสอบถามข้อมูลจากแม่มุสลิมที่สามีไปทำงานที่มาเลเซีย
ถ่ายภาพโดย: พนักงานสัมภาษณ์ ในการเก็บข้อมูลรอบแรก เมื่อปี 2557


  1. รศ.ดร.อารี จำปากลาย ศ.ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ และศ.ดร.แคธี่ ฟอร์ด โครงการการย้ายถิ่นของผู้หญิงมุสลิมและความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
  2. รศ.ดร.อารี จำปากลาย ศ.ดร.ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ และรศ.ดร.กาญจนา ตั้งชลทิพย์ โครงการความอยู่ดีมีสุขของลูก และความอยู่ดีมีสุขของผู้ดูแลสูงวัยกับการย้ายถิ่นของพ่อแม่ในบริบทของสามจังหวัดภาคใต้
     


CONTRIBUTORS

Related Posts
พรจากพระเจ้า

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

คุยกับ ChatGPT เรื่องนโยบายประชากร

อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

COVID-19 : รักษาระยะห่าง ดูแลระยะใจ 

พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

สันติภาพโลก

อมรา สุนทรธาดา

การเดินทางไกลที่คุ้มค่า

ปราโมทย์ ประสาทกุล

อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ

นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

มองโลกในแง่ดีในปีใหม่

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัว การย้ายถิ่น และมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้

กาญจนา ตั้งชลทิพย์,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์,อารี จำปากลาย

เพศหลากหลาย Happy SDG กับ ภาพจำ ที่เปลี่ยนผ่าน?

วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th