The Prachakorn

ทำความรู้จัก “สารประชากร” อีกสักทีจะดีเพียงใด?


ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

14 ธันวาคม 2563
708



“สารประชากร” เป็นชื่อเรียกสั้นๆ ของชื่อเต็มว่า “สารประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล” สิ่งตีพิมพ์ประเภทหนึ่งในหน่วยโครงการเผยแพร่ข่าวสารและการศึกษาด้านประชากร ที่บรรจงผลิตโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้สาธารณะได้นำไปใช้ประโยชน์เชิงวิชาการ

สารประชากร คืออะไร?

เมื่อผู้อ่านได้เลือกเข้ามาอ่านบทความนี้ของเดอะประชากร ก็อาจตั้งคำถามในใจว่า เคยมีการเขียนเกี่ยวกับสารประชากรด้วยหรือ? พอตั้งคำถามแล้ว ก็อาจพยายามค้นย้อนหลัง ซึ่งจะค้นอย่างไร ๆ ก็ไม่พบสักที ผู้เขียนขอบอกให้ทราบเลยว่า ในเดอะประชากรนั้น ยังไม่เคยมีเรื่องนี้ แต่ผู้เขียนนั้น เคยเขียนไว้เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ภายใต้ชื่อเรื่อง เบื้องลึก เบื้องหลังการจัดทำ “สารประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล” ในหนังสือ “ประชากรและสังคม 2548 : ประชากรของประเทศไทย ณ พ.ศ. 2548” (หน้า 180 – 191) สถาบันฯ ได้จัดทำสารประชากรฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. 2535 ดังนั้น ในปีหน้า (2564) สารประชากรก็จะเป็นฉบับปีที่ 30 แล้ว ถ้าเป็นคน ก็เรียกได้ว่าสั่งสมประสบการณ์มาพอตัวทีเดียว

เริ่มแรกของการจัดทำ สารประชากรเป็นเอกสารแผ่นเดียวขนาดเท่ากระดาษ A4 ด้านหน้าแสดงข้อมูลคาดประมาณทางประชากรและสถิติชีพสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางประชากร ส่วนด้านหลังเป็นการแสดงถึงวัตถุประสงค์ แหล่งที่มาของข้อมูลต่าง ๆ ที่นำมาใช้ รวมทั้ง คำอธิบายข้อมูล การออกสารประชากรในปีแรก ๆ นับว่าบ่อยมาก คือทุก ๆ 3 เดือน หรือปีละ 4 ฉบับ (ฉบับเดือน ก.ค. ต.ค. ม.ค. และ เม.ย.) อย่างไรก็ตาม ได้มีการลดเหลือปีละ 2 ฉบับ เมื่อ พ.ศ. 2539 (ฉบับเดือน ก.ค. และ ม.ค.) และในที่สุด นับตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา การออกสารประชากรก็ลดเหลือเพียงปีละฉบับเท่านั้น โดยจะออกในเดือนมกราคมของทุกปี เหตุผลสำคัญของการลดจำนวนฉบับที่ออกก็คือ ข้อมูลตัวเลขรวมทั้งสถิติต่าง ๆ ที่เผยแพร่เป็นตัวเลขประมาณการ ซึ่งแทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลยในช่วงเวลาสั้น ๆ เช่น สามเดือน หกเดือน การออกสารประชากรเพียงปีละครั้งจึงเพียงพอสำหรับการประมาณทางประชากรและสถิติชีพต่าง ๆ ของปีนั้น ๆ 

นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงการออกสารประชากรแล้ว เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่อะไร ๆ ก็กลายเป็นดิจิทัล สถาบันฯ จึงเลิกผลิตสารประชากรฉบับกระดาษตั้งแต่ฉบับปีที่ 24 พ.ศ. 2558  คงเหลือไว้เพียงไฟล์อิเล็คทรอนิกส์ที่วางอยู่บนเว็บไซต์ของสถาบันฯ เพื่อให้ผู้ที่สนใจดาวน์โหลดสารประชากรไปใช้ประโยชน์ได้ที่ http://www.ipsr.mahidol.ac.th/ipsrbeta/th/Gazette.aspx

มาถึงตรงนี้ ผู้เขียนหวังใจว่าผู้อ่านคงพอเห็นภาพสารประชากรอย่างคร่าว ๆ กันบ้าง ไม่มากก็น้อย

การใช้ประโยชน์จากสารประชากร

หากใครเป็นแฟนพันธุ์แท้ของสารประชากร ก็คงพอสังเกตเห็นว่า รายการข้อมูลต่าง ๆ ที่เสนออยู่ในนั้นเกือบทั้งหมดเป็นรายการที่ไม่เปลี่ยนแปลง (ไม่เปลี่ยนเฉพาะรายการ แต่เปลี่ยนตรงตัวเลขที่นำเสนอ) ยกเว้นเฉพาะรายการล่างสุดเท่านั้นที่มีการปรับเปลี่ยนทุกปี สำหรับรายการข้อมูลที่ไม่เปลี่ยนแปลงสามารถแบ่งเป็น 5 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ 1) กลุ่มจำนวนประชากร 2) กลุ่มอายุคาดเฉลี่ย 3) กลุ่มอัตราชีพ 4) อัตราเจริญพันธุ์รวม และ 5) อัตราคุมกำเนิด การที่รายการข้อมูลในสารประชากรไม่เปลี่ยนแปลง ช่วยให้กระบวนการประมาณการข้อมูลแต่ละครั้งมีความคงเส้นคงวา เช่น ควรต้องเตรียมหรือต้องมีข้อมูลพื้นฐานอะไรบ้างเพื่อรองรับ จะมีสูตร มีการคำนวณอย่างไร หรือจะใช้เทคนิควิธีใดที่เหมาะสม

สำหรับการนำข้อมูลในสารประชากรไปใช้ประโยชน์นั้น ผู้เขียนเคยคิดว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องยากหรือจะมีปัญหาใด ๆ แต่จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่คลุกคลีกับสารประชากรมาถึง 17 ปีแล้ว กลับพบว่า ยังมีการนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง ที่พบบ่อยก็คือ การนำตัวเลขจากสารประชากรปีต่าง ๆ มาเรียงต่อกันในลักษณะของอนุกรมเวลา (หรือเรียงต่อกันตามลำดับเวลา) แล้วก็เขียนอธิบายว่ามีแนวโน้ม หรือมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ นี่คือตัวอย่างของการนำข้อมูลในสารประชากรไปใช้อย่างผิด ๆ

การที่จะเข้าใจว่า ทำไมจึงผิด? จำเป็นต้องทำความเข้าใจความหมายและพื้นฐานของการประมาณการกันก่อน กล่าวคือ การประมาณการ (estimation) เป็นการหาค่าอย่างเป็นระบบของสิ่งที่ยังไม่มีหรือยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น การทำอย่างเป็นระบบจึงไม่ใช่การเดาสุ่ม ซึ่งสามารถทำได้โดยรวบรวมข้อมูล (ในเรื่องนั้น ๆ) ที่มีอยู่ตั้งแต่อดีตจนถึงล่าสุดเท่าที่จะสามารถหาได้ เช่น ข้อมูลจากการจดทะเบียน การสำมะโน หรือการสำรวจ ข้อมูลเหล่านี้เป็นของจริงที่ได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่ได้มีถึงปีที่ทำประมาณการ เมื่อนำมาเรียงต่อกันตามเวลาโดยอาจใช้รูปกราฟเป็นตัวช่วย ตรงนี้สามารถทำได้โดยไม่ผิดหลักการ ก็จะทำให้เห็นลักษณะการเปลี่ยนแปลงหรือแนวโน้มของข้อมูลเหล่านั้น  ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อการเลือกใช้เทคนิควิธีประมาณการที่แตกต่างกันออกไป เช่น บางเรื่องต้องใช้สูตรเฉพาะทางด้านประชากรศาสตร์  บางเรื่องอาจใช้สมการถดถอยเชิงเส้นตรง หรือบางเรื่องอาจใช้สมการถดถอยเชิงเส้นโค้งโลจิสติก ทั้งนี้ อาจมีเงื่อนไขหรือข้อสมมุติต่างๆ กันได้ นอกจากนั้น พื้นฐานของการประมาณการที่สำคัญอีกเรื่องก็คือ เมื่อมีข้อมูลสนับสนุน (ข้อมูลจริง) ที่ใหม่กว่าเพิ่มขึ้น การประมาณการแม้ว่าจะเป็นรายการเดิม ก็จำเป็นต้องทำกันใหม่ ไม่สามารถใช้ผลการประมาณการของเดิมได้อีกต่อไป

จากความหมายและพื้นฐานของการประมาณการข้างต้น การเอาตัวเลขประมาณการในสารประชากรแต่ละฉบับมาต่อกันเพื่อดูแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง จึงไม่ถูกต้อง เพราะต้องระลึกอยู่เสมอว่า การประมาณการแต่ละครั้งตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ต่างกันนั่นเอง ส่วนการใช้อย่างถูกต้องนั้น ก็เป็นเพียงใช้ตัวเลขประมาณการ (ณ วันกลางปี) ของปีล่าสุดที่เผยแพร่เท่านั้น สถาบันฯ เอง ก็ได้พยายามให้ข้อมูลหรือเขียนคำอธิบายไว้ในด้านหลังของสารประชากรทุกฉบับ และท้ายที่สุดบนเว็บไซต์ ก็ยกขึ้นมาเป็นส่วนแรกโดยเน้นด้วยตัวหนังสือสีแดง เพื่อย้ำเตือนแก่ผู้ที่กำลังจะนำข้อมูลในสารประชากรไปใช้

ยังมีอีกรูปแบบหนึ่งของการใช้อย่างไม่ถูกต้อง รูปแบบนี้คือ การอ้างอิงตัวเลขประมาณการจากสารประชากรทั้ง ๆ ที่มีข้อมูลจริงอยู่แล้ว ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจชัดเจนขึ้นดังนี้ สมมุติว่าเราต้องการเขียนรายงานสถานการณ์ทางประชากรของประเทศไทยในปี 2563 เราสามารถอธิบายได้ว่าอัตราเกิด อัตราตาย หรืออัตราเพิ่มประชากรในปี 2563 เป็นอย่างไร โดยการอ้างอิงดัชนีเหล่านี้จากสารประชากร ฉบับล่าสุด (ฉบับปีที่ 29 พ.ศ. 2563) อย่างนี้ สามารถทำได้ เพราะการเขียนรายงานดังกล่าวทำขึ้นในปี 2563 ซึ่งตัวเลขจริง หรือข้อมูลจริงของปี 2563 ยังไม่มี (จะมีก็ต่อเมื่อต้องผ่านพ้นปี 2563 ไปแล้ว) ในทางกลับกัน แทนที่เราจะเขียนรายงานสถานการณ์ฯ ในปี 2563 เราเปลี่ยนไปรายงานสถานการณ์ฯ ในปี 2562 แทน กรณีอย่างนี้ เราจะอ้างอิงดัชนีข้างต้นจากสารประชากร ฉบับปีที่ 28 พ.ศ. 2562 ไม่ได้เช่นกัน เพราะต้องไม่ลืมว่าตัวเลขหรือดัชนีต่าง ๆ ในสารประชากรเป็นการประมาณการ แต่สำหรับปี 2562 เรามีข้อมูลเกิด ตาย ตามการจดทะเบียนของสำนักบริหารการทะเบียนแล้ว

ส่งท้าย

บทความสั้น ๆ เกี่ยวกับสารประชากรที่ผู้เขียนเขียนขึ้นครั้งนี้ มีเจตนาที่จะสื่อถึงสาระสำคัญสองประการ ประการแรกเป็นประวัติความเป็นมาอย่างย่อ เพื่อให้ผู้ที่ไม่เคยรู้ ได้รู้จัก หรือผู้ที่รู้จักแต่ลืม ๆ ไปบ้างแล้ว ได้ทบทวน ส่วนประการที่สองเป็นเรื่องของการจะนำสิ่งที่เผยแพร่อยู่ในสารประชากรไปใช้อย่างถูกต้องได้อย่างไร ซึ่งประการหลังนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก

การจะนำตัวเลขอะไรไปใช้หรืออ้างอิงตัวเลขใด ๆ เราควรต้องทำความเข้าใจที่ไปที่มาของตัวเลขเหล่านั้นก่อนเสมอ

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
ศีล 5

วรชัย ทองไทย

สูงอายุ - ย้ายถิ่น - พำนักยาว

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

คนจนในสหรัฐอเมริกา

อมรา สุนทรธาดา

โครงสร้างอายุเปลี่ยนสังคม

ปราโมทย์ ประสาทกุล

พิธีและพิธีกรรม

วรชัย ทองไทย

คุยกับ ChatGPT เรื่องนโยบายประชากร

อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

ประชากร + แฝง

ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th