The Prachakorn

บริการการดูแลทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ


ณปภัช สัจนวกุล

13 ตุลาคม 2565
970



ขณะที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับการสูงวัยของประชากรอย่างรวดเร็ว คำถามที่คนทุกรุ่นวัย ไม่เฉพาะคนที่เข้าใกล้วัยสูงอายุอาจคิดกังวลอยู่ คือเมื่อแก่ตัวแล้วจะไปอยู่ที่ไหน อยู่กับใครหรืออยู่กันอย่างไร โดยเฉพาะยิ่งเมื่อคนรุ่นหลังมีแนวโน้มจะต้องดำรงชีวิตอยู่ตัวคนเดียวมากขึ้นกว่าที่เป็นมา

ปัจจุบันกระแสการสูงวัยในถิ่นที่อยู่ (ageing in place) เป็นแนวทางที่นานาประเทศต่างสนับสนุนให้เกิดขึ้นเพื่อทดแทนหรือชะลอการเพิ่มขึ้นของการดูแลเชิงสถาบัน (institutional care) เพราะนอกจากจะเป็นแนวคิดที่สนับสนุนให้ผู้สูงอายุสามารถยังคงอยู่ในบ้านและชุมชนเดิมของตนเอง ใช้ชีวิตได้อย่างอิสระและได้รับบริการดูแลที่จำเป็นเพื่อคงคุณภาพชีวิตที่ดีได้แล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการอยู่อาศัยในบ้านพักคนชรา

ผู้เขียนเชื่อว่าเมื่อแก่ตัวลง หากเลือกได้ พวกเราส่วนใหญ่ (ไม่ใช่เฉพาะคนไทย) ก็คงอยากอาศัยอยู่ในบ้านของเรา มากกว่าที่จะพาตัวเองย้ายไปอยู่ในบ้านพักคนชราหรือสถานอื่นใดที่มีลักษณะใกล้เคียง แต่หลายคนก็อาจตั้งคำถามว่า แล้วเราจะอยู่ในบ้านเดิมของเราเองได้จริงหรือ โดยเฉพาะเมื่อไม่มีใครคอยดูแลเมื่อยามที่เราไม่สามารถดูแลตัวเองได้ดีเหมือนเดิม หรือไม่มีบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในพื้นที่ชุมชนที่เราอาศัยอยู่

ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องมีการจัดระบบ “บริการการดูแลทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ” (aged care services) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้สูงอายุสามารถสูงวัยในถิ่นที่อยู่ได้จริงในทางปฏิบัติ1

ขอบเขตของบริการการดูแลทางสังคมอาจครอบคลุมบริการมากมาย ไม่ว่าจะเป็น (1) การดูแลส่วนบุคคล (personal care) เช่น การช่วยอาบน้ำแต่งตัว (2) ความช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน(daily-living assistance) เช่น บริการอาหาร การทำความสะอาด การทำสวน การจ่ายบิล และ (3) การดูแลทางสังคม (social care) เช่น การพาไปทำธุระ ไปหาหมอ การช่วยซื้อของ แต่บริการการดูแลทางสังคมนี้จำเป็นต้อง “เชื่อมต่อ” เข้ากับบริการทางสุขภาพอย่างไร้รอยต่อด้วยเช่นกัน


รูป: การดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว
ที่มา: https://www.familyhappiness.co/family-care/talking-with-elderly-person/ สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน 2565

ปัจจุบัน การดูแลทางสังคมส่วนใหญ่ในสังคมไทยมีการจัดบริการทั้งโดยภาครัฐและภาคเอกชน แต่ส่วนใหญ่ยังกระจัดกระจายและไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบเพื่อเชื่อมต่อเข้ากับบริการทางสุขภาพ จากผลการศึกษาในโครงการวิจัย2 ที่ได้รวบรวมข้อมูลอุปทานของการจัดบริการดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า การจัดบริการการดูแลทางสังคมที่มีการดำเนินการอยู่ในประเทศไทย มีลักษณะที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้

(1) ประเภทองค์กรที่จัดบริการ – ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างมีศักยภาพและมีหน้างานที่หลากหลาย แต่กลับไม่พบความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการร่วมจัดบริการดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ประสบการณ์ในต่างประเทศชี้ให้เห็นว่า ท้องถิ่นควรรับบทบาทเป็นเพียงนายหน้า (broker) หรือผู้สร้างภาคี (matchmaker) ของการจัดบริการ แต่ไม่จำเป็นต้องรับหน้าที่เป็นผู้ให้บริการ (provider) โดยตรง ภาคเอกชนควรได้รับการส่งเสริมให้ทำ.หน้าที่เป็นผู้ให้บริการ ภายใต้การกำกับดูแลและกำหนดมาตรฐานรวมถึงราคาโดยภาครัฐ

(2) ลักษณะบริการ – บริการที่พบส่วนใหญ่ยังเน้นการดูแลและฟื้นฟูกลุ่มผู้สูงอายุในศูนย์ดูแล (1,148 แห่ง) รองลงมาคือบริการที่บ้าน (664 แห่ง) นอกจากนี้ยังพบบริการรูปแบบใหม่ๆ แต่ในจำนวนที่ค่อนข้างน้อย (35 แห่ง) เช่น ธุรกิจพาหนะรับส่ง ธุรกิจจัดหาผู้ดูแลผู้สูงอายุ แต่บริการเหล่านี้ยังมีราคาที่ค่อนข้างสูงเพราะมุ่งตอบโจทย์วิถีชีวิตของชนชั้นกลางและเน้นการเข้าถึงบริการผ่านโซเชียลมีเดีย

(3) พื้นที่การจัดบริการ – บริการโดยภาคเอกชนส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่เขตเมืองมากกว่าเขตชนบท แต่ในพื้นที่ที่ไม่ปรากฏบริการของภาคเอกชน กลับพบว่ามีบริการที่จัดโดยภาครัฐ โดยศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ ดังนั้น ศพอส. จึงเป็นกลไกสำคัญที่มีศักยภาพในการช่วยเติมเต็มบริการสำหรับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ซึ่งไม่มีกำลังมากพอที่จะเข้าถึงบริการจากภาคเอกชน แต่ขณะเดียวกัน ศพอส. จำเป็นต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งด้วยการขยายเครือข่ายความร่วมมือและเพิ่มขีดความสามารถในการระดมทุนและทรัพยากรต่างๆ เพื่อทำให้ ศพอส. เป็นศูนย์กลางการจัดบริการและสามารถเข้าถึงผู้สูงอายุในระดับชุมชนได้อย่างทั่วถึง

หากสังคมไทยเริ่มตื่นตัวและลงทุนกับการสร้างระบบบริการการดูแลทางสังคมกันอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ ในอนาคตคนรุ่นหลังอาจไม่ต้องกังวลและตั้งคำถามกันอีกต่อไปว่า เราจะอยู่กันที่ไหนหรืออย่างไรเมื่อแก่ตัวลง เพราะเราจะมีบ้านที่อยู่ได้อย่างสะดวกสบาย และมีบริการที่ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างอิสรเสรีจนชั่วชีวิตของเรา


  1. ณปภัช สัจนวกุล, ณัฐนี สัจนวกุล, นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์, ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น, ณัฐณิชา ลอยฟ้า, สุรีย์พร พันพึ่ง, และ ปราโมทย์ ประสาทกุล. (2565). เอกสารสรุปการวิจัย เรื่อง การสูงวัยในถิ่นที่อยู่: ข้อเสนอตัวแบบนโยบายจากบทเรียนต่างประเทศ. https://ipsr.mahidol.ac.th/wp-content/uploads/2022/07/Research-Brief-Ageing_in_Place_Research_Brief.pdf
  2. ณปภัช สัจนวกุล, กัญญาพัชร สุทธิเกษม, ปาริฉัตร นาครักษา, และ ปราโมทย์ ประสาทกุล.  (2565). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง โอกาสและความท้าทายในการสร้างระบบบริการการดูแลทางสังคมที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย ระยะที่ 1.

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
คุยกับ ChatGPT เรื่องนโยบายประชากร

อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

ผมกำลังเตรียมตัวตาย

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Longevity Star ในประเทศจีน

ศุทธิดา ชวนวัน

มาชะลอวัยกันเถอะ!

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Prachakorn Forum EP.7 | สูงวัยในเมืองหลวง

สุรีย์พร พันพึ่ง,ตะวันชัย​ จิ​ร​ประมุข​พิทักษ์

บริโภคนิยม

วรชัย ทองไทย

ดูแลผู้ดูแลสักนิด

กาญจนา ตั้งชลทิพย์,อารี จำปากลาย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th