The Prachakorn

อคติและเกลียดชังเพราะเชื้อชาติ ......ในยุคโควิด 19


อมรา สุนทรธาดา

05 เมษายน 2564
722



สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ทั่วโลกมีจำนวนผู้ติดเชื้อ 114,055,526 ราย เสียชีวิต 2,530,895 ราย และรักษาหายแล้ว 89,609,508 ราย โดยที่สหรัฐอเมริกายังครองอันดับหนึ่ง มีผู้ติดเชื้อ 28,974,623 ราย และเสียชีวิต 518,363 ราย1 และกำลังเผชิญปัญหาการต่อต้านคนต่างชาติอย่างรุนแรงจากอคติของการแพร่ระบาดโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตที่ยากลำบากกว่าเดิม ปัญหาการว่างงาน การสูญเสียสมาชิกในครอบครัว การต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตที่คุ้นเคย เช่น การปิดเมือง (lockdown) มีผลต่อวิถีชีวิตปกติ เมื่อตกงาน รายได้ไม่มี ในขณะที่การผ่อนคลายมีข้อจำกัด สิ่งที่ตามมา คือ ความรุนแรงในครอบครัวหรือต่อบุคคลอื่นๆ ในที่สาธารณะ

โควิด 19 สร้างปรากฏการณ์ทางสังคมที่เรียกว่า ความหวาดกลัวแบบสุดโต่ง (xenophobia) ก่อให้เกิดอคติ ความเกลียดชัง และการลดทอนความเป็นมนุษย์ด้วยกันเอง ซึ่งมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนทุกเพศ วัย อาชีพ และฐานะ

ในรอบปีที่ผ่านมา ได้เกิดการจงใจทำร้ายร่างกาย จิตใจและทรัพย์สิน มุ่งเฉพาะผู้เคราะห์ร้ายที่มีหน้าตาเป็นคนเอเชีย เพราะความโกรธแค้น ที่ประเทศจีนเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดโควิด 19 เหตุการณ์ล่าสุดในอเมริกา ที่ชายไทยสูงอายุ ถูกวัยรุ่นทำร้ายจนเสียชีวิตขณะเดินออกกำลังกายในที่สาธารณะใกล้บ้าน ได้กลายเป็นปรากฏการณ์เหมารวมลุกลามอย่างรวดเร็วในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ

กลุ่มพิทักษ์สิทธิชาวเอเชียและมหาวิทยาลัยแห่งรัฐซานฟรานซิสโก สร้างฐานข้อมูล ชื่อ STOP AAPI (Africa Asia and Pacific Islands) HATE เพื่อบันทึกการแจ้งเหตุผ่านทางโทรศัพท์เกี่ยวกับการถูกคุกคามหรือการทำร้ายร่างกาย ที่มีต้นเหตุสืบเนื่องจากการระบาดโควิด 19 ซึ่งพุ่งเป้าไปที่ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและประชาชนจากหมู่เกาะแปซิฟิกที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา รวม 45 รัฐ พบว่า มีการคุกคามด้วยคำพูดมากที่สุด (70%) รองลงมาคือ การแสดงอาการรังเกียจ หลีกเลี่ยงไม่เข้าใกล้ (23%) ทำร้ายร่างกาย (8%) ไอหรือถ่มน้ำลายใส่ (7%) รวมทั้งการเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน ชุมชน ที่อยู่อาศัย หรือรถโดยสารสาธารณะ โดยในกลุ่มผู้ถูกคุกคามหรือถูกรังเกียจนี้ พบว่า คนจีนถูกกระทำมากที่สุด (37%) คนเกาหลี (15%) คนจากกลุ่มประเทศอาเซียน (11%) รองลงมาคือ คนญี่ปุ่น คนไต้หวัน ม้ง และแม้กระทั่งคนผิวขาว (ภาพที่ 1)2

ภาพที่ 1 ร้อยละของผู้ถูกคุกคาม แยกตามเชื้อชาติ
ที่มา: Stop AAPI Hate Reporting Centre (19 March-29 April 2020) สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2564

ความรุนแรงต่อเพื่อนมนุษย์ที่ต่างกันเพียงเชื้อชาติ (racist and xenophobic violence) ไม่ได้เกิดเฉพาะในกลุ่มคนทั่วไป แต่รวมถึงนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีส่วนปลุกกระแสความเกลียดชังเพิ่มระดับอีกหลายเท่า เมื่อผู้นำประเทศใช้คำพูดไม่เหมาะสม เช่น โดนัลด์ ทรัมพ์ อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ใช้คำว่า Kung flu หรือ Chinese virus แทน โควิด 19 หรือรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศบราซิลเก็บอาการไม่อยู่ ส่งข้อความแสดงความเห็นว่า เรื่องราวทั้งหมดเป็นเพราะรัฐบาลจีนวางแผนครองโลก

ผู้ว่าการเขตเวนิโต ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นเขตที่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงที่สุดของประเทศ ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่าไม่กังวลเรื่องโควิด 19 เพราะชาวอิตาลีรักความสะอาด ล้างมือบ่อย อาบน้ำเสมอ ต่างจากคนจีนที่ไม่สะอาดกินไม่เลือก อย่างไรก็ดีภายหลังก็ต้องกล่าวขอโทษผ่านสื่อ เพื่อสยบความขัดแย้ง

ในอิตาลี ได้มีกลุ่มวัยรุ่นทำร้ายร่างกายชาวต่างชาติ (racist attacks) รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต มีการทำลายร้านค้าที่มีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ การคุกคามด้วยวาจา การถ่มน้ำลายใส่ การใช้สรรพนามหยาบคายที่หมายถึงคนต่างชาติหน้าเอเชีย ความหวาดกลัวโควิด 19 กลายเป็นความหวาดระแวง เช่น ไม่ยอมซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกที่มีเจ้าของเป็นชาวเอเชีย

เมื่อความขัดแย้งกลายเป็นประเด็นทางการเมืองลุกลามในหลายประเทศ สหประชาชาติจำเป็นต้องออกมาแสดงท่าทีเพื่อขอความร่วมมือ พร้อมเสนอทางออกที่ส่งผลดีกับทุกฝ่าย เช่น เลขาธิการองค์การอนามัยโลกยืนยันว่า การเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด 19 นั้น จะไม่มีการเลือกปฏิบัติอย่างเด็ดขาด

“มาช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันสถานการณ์ลดทอนความเป็นมนุษย์ไม่ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยและทั่วโลก”


อ้างอิง

  1. https://www.worldometers.info/coronavirus/#countries สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2564
  2. https://www.hrw.org/news/2020/05/12/covid-19-fueling-anti-asian-racism-and-xenophobia-worldwide สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2564

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
อยากออกไปล็อกดาวน์ในดินแดนมังกร

นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์

COVID-19 โรคเปลี่ยนโลก

ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา

โควิด-19 กับ มูลค่าชีวิตคน

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

ด้วยรักและโรคระบาด

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

โกหกคำโต (big lie)

วรชัย ทองไทย

วิถีใหม่

วรชัย ทองไทย

คุกโลก......ล้น

อมรา สุนทรธาดา

HAPPY FAMILY TALK

กัญญาพัชร สุทธิเกษม

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th