The Prachakorn

โควิด-19: การคุ้มครองเด็กข้ามชาติ


กัญญา อภิพรชัยสกุล

11 สิงหาคม 2565
618



ประเทศไทยมีมาตรการในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่อยู่อาศัยในประเทศเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก1 แบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ 1) สิทธิการมีชีวิต 2) สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง 3) สิทธิในการได้รับการพัฒนา และ 4) สิทธิในการมีส่วนร่วม โดยเด็กหมายถึงเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จะต้องได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ตามกลไกของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ซึ่งมีการจัดทำความร่วมมือของหน่วยงานเพื่อกำหนดแนวทางมาตรการแทนการกักตัวเด็กเพื่อรอการส่งกลับ  สำหรับเด็กที่เข้าประเทศโดยไม่ถูกตามกฎหมายปัจจุบันประเทศไทยไม่มีเด็กที่ต้องถูกกักขังรวมกับผู้ใหญ่ และนับเป็นการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานให้แก่เด็กต่างด้าวในประเทศ2

สำหรับจำนวนเด็กข้ามชาติในประเทศไทย จากการคาดประมาณของยูนิเซฟ คาดว่ามีประชากรข้ามชาติในประเทศไทยรวม 3.6 ล้านคน และในจำนวนนี้เป็นกลุ่มประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ร้อยละ 14 ซึ่งคิดเป็นจำนวนประชากรเด็กประมาณ 500,000 คน3

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบมากมายต่อประชากรไทย ไม่เว้นแม้แต่ประชากรข้ามชาติที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย ทั้งยังส่งผลกระทบต่อลูกหลานของแรงงานข้ามชาติอีกด้วย ผลการศึกษาจากโครงการวิจัย “การประเมินสถานการณ์เด็กข้ามชาติในประเทศไทยและผลกระทบจากโควิด-19” พบว่า เด็กข้ามชาติมีความเสี่ยงด้านการคุ้มครองหลายด้าน สำหรับความเสี่ยงเด็กเล็กได้แก่ ความรุนแรงในครอบครัวการดูแลและการเลี้ยงดู ส่วนความเสี่ยงเด็กโต ได้แก่ ความรุนแรงในครอบครัว การออกสู่ตลาดแรงงาน การแต่งงานก่อนวัยอันควร และพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ที่นำไปสู่ความรุนแรง

ความเสี่ยงในเด็กเล็ก พบว่า พ่อแม่ผู้ปกครองต้องหยุดงาน ทำให้ขาดรายได้มีปัญหาด้านการเงิน ส่งผลให้เกิดความเครียด และความเครียดในครอบครัวนี่เองที่เป็นปัจจัยส่งผลให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว ความเสี่ยงด้านการดูแลหรือการเลี้ยงดู พบว่า เมื่อศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติต้องปิดลง พ่อแม่ผู้ปกครองไม่กล้าปล่อยเด็กไว้เพียงลำพัง จึงพาเด็กไปทำงานหรือไปที่ทำงานด้วย ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงจากผลกระทบจากสารเคมีสำหรับพ่อแม่ที่ทำอาชีพภาคเกษตร ในภาคประมงเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากการทำงานได้เช่นกัน

สำหรับความเสี่ยงในเด็กโต พบว่า เด็กที่ต้องหยุดเรียนเนื่องจากโรงเรียนปิด ส่วนใหญ่จะออกไปช่วยพ่อแม่ผู้ปกครองทำงาน ซึ่งพอจะมีรายได้เล็กน้อยนำมาช่วยเหลือจุนเจือครอบครัว เด็กกลุ่มนี้เสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา และออกสู่ตลาดแรงงาน เนื่องจากการหยุดเรียนเป็นเวลานาน การกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้งเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเด็กโตขึ้น เมื่อสามารถทำงานและมีรายได้จึงอยากทำงานมากกว่า นอกจากนี้เด็กกลุ่มนี้ยังเสี่ยงต่อการแต่งงานก่อนวัยอันควรอีกด้วย

การแก้ปัญหาผลกระทบด้านการดูแลคุ้มครองเด็กข้ามชาติ กับครอบครัวของเด็กผ่านพ่อแม่ผู้ปกครอง บางมาตรการในการช่วยเหลือและเยียวยาเด็กกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับหรือยังไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่นเดียวกับนโยบายการขึ้นทะเบียนแรงงาน การต่อใบอนุญาตทำงานที่ยังพบว่ายังมีข้อจำกัดอยู่ ในเรื่องของกระบวนการ เช่น การตรวจร่างกาย และค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ปัญหาความล่าช้าในกระบวนการดำเนินการที่เป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 ล้วนส่งผลกระทบต่อสิทธิและสถานภาพในการทำงานของพ่อแม่แรงงานข้ามชาติ ทั้งในด้านรายได้และด้านสถานภาพการมีเอกสารที่ถูกต้อง

เกี่ยวกับการคุ้มครองเด็กข้ามชาติที่ยังมีข้อจำกัดในหลายๆ ประเด็น ในการดำเนินงานควรจะมีกลไกความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นจากภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคม และองค์กรชุมชน โดยอาจเป็นการจัดตั้งคณะทำงานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ บูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติรวมถึงเด็กข้ามชาติ เช่น การประสานงานส่งต่อความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ให้กับเด็กข้ามชาติและแรงงานข้ามชาติให้ได้อย่างทั่วถึงในช่วงวิกฤต ซึ่งคณะทำงานดังกล่าวยังสามารถเป็นกลไกในการดำเนินงานเชิงป้องกันให้กับหน่วยงานต่างๆ ได้อีกด้วย

ที่มา: การจัดประชุมเพื่อนำเสนอผลและร่วมกำหนดนโยบาย. (27 พฤษภาคม 2565). โครงการวิจัย “การประเมินสถานการณ์เด็กข้ามชาติในประเทศไทยและผลกระทบจากโควิด-19”


อ้างอิง

  1. องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กคืออะไร. เข้าถึงข้อมูล 25 มิถุนายน 2565 สืบค้นจาก https://www.unicef.org/thailand/th/what-is-crc#:~:text=อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิ, ลิดรอนไปจากเด็กได้.
  2. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ. (2562). การคุ้มครองสิทธิเด็ก: กรณีผลสำเร็จเรื่องการกำหนดมาตรการแทนการกักตัวเด็กในสถานกักตัวคนต่างด้าว. เข้าถึงข้อมูล 25 มิถุนายน 2565 สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=G6L4ht-E8WY
  3. องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย. (2564). ชีวิตที่ไม่มีใครเห็น 48 ปี สถานการณ์เด็กไร้สัญชาติในประเทศไทย. เข้าถึงข้อมูล 25 มิถุนายน 2565 สืบค้นจาก https://www.unicef.org/thailand/media/5861/file/Invisible%20Lives:%2048%20Years%20of%20the%20Situation%20of%20Stateless%20Children%20in%20Thailand.pdf.

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
ครอบครัวของเด็กซีอัลฟา

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

Smartphone: พี่เลี้ยงเด็กคนใหม่

กรกนก พงษ์ประดิษฐ์

แกะกล่อง Baby Box รอบโลก

มนสิการ กาญจนะจิตรา

แรงงานไทยในต่างแดน

กาญจนา เทียนลาย

COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

พลเมืองไอซ์แลนด์

อมรา สุนทรธาดา

Show & Share ความสุขของ “เอก”

ปิยะวัฒน์ สวัสดิ์จู,สุภาณี ปลื้มเจริญ

เงิน….. งาน…… บันดาลสุขอย่างไร? ในวันที่ต้อง Work From Home

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

เมื่อโควิด-19 กำลังจะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

วิถีใหม่

วรชัย ทองไทย

Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

ผู้หญิงในสถานการณ์โควิด-19

กัญญาพัชร สุทธิเกษม

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th