The Prachakorn

ประสบการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ตอนที่ 2: 10 วันที่หายไป


กาญจนา เทียนลาย

17 มกราคม 2565
888



ตอนที่แล้ว จบไปที่พวกเราแยกย้ายกันเข้านอน หลังจากที่รู้ว่าสามีมีผล ATK เป็นบวก

คืนนั้น เมื่อเอาลูกนอนแล้ว ขั้นต่อไปคือ การไลน์แจ้งหัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงานที่เราได้ใกล้ชิดในช่วง 10 กว่าวันที่ผ่านมา ว่าตอนนี้เราและครอบครัวมีแนวโน้มว่าจะติดโควิด-19 แล้ว พรุ่งนี้สามีก็จะไปตรวจ RT-PCR (Real Time Polymerase Chain Reaction) ที่โรงพยาบาลอีกครั้งเพื่อความชัดเจน  

เมื่อเพื่อนร่วมงานรู้ ต่างก็รีบหาชุดตรวจแบบ ATK มาตรวจกัน โดยทั้งหมดบอกว่า ผลยังเป็นลบ

เช้าวันต่อมา สามีรีบออกจากบ้านแต่เช้าเพื่อไปตรวจที่โรงพยาบาล ใช้เวลาเกือบครึ่งวันในการไปตรวจ และให้กลับมารอฟังผลที่บ้าน ระหว่างนี้พวกเราก็กักตัวกันที่บ้าน แยกห้องกันไม่ออกมาจากห้อง ยกเว้นเราคนเดียวที่ออกมาเตรียมอาหารให้ทุกคนในบ้าน โชคดีที่ในตู้เย็นยังพอมีอาหารสดอยู่บ้างจึงไม่ลำบากมากนัก

แต่เอาจริงๆ ในช่วง 2-3 วันแรก พวกเรากินอะไรแทบไม่ลง เพราะความรู้สึกเครียด กังวล สับสน ว่าเราจะต้องทำอย่างไรต่อไป หากติดแล้วจะทำอย่างไรต่อ แล้วคนรอบข้าง คนใกล้ตัวทั้งที่ทำงาน และที่บ้านที่พวกเราได้กลับไปเยี่ยมก่อนจะรู้ว่าติดโควิดเพียงวันเดียว พวกเขาเหล่านั้นจะเป็นอย่างไรกันบ้าง วัคซีนก็ได้ครบแล้ว 3 เข็ม ทำไมพอจะติดก็ติดง่ายจัง แต่เมื่อทุกอย่างเกิดขึ้นมาแล้ว เราก็ย้อนเวลาไม่ได้ จึงได้พยายามทำใจยอมรับกับเรื่องที่เกิดขึ้น หาทางจัดการ และหาทางออกให้ไวที่สุด จัดการทุกอย่างให้พร้อม หากพวกเราต้องติดโควิดจริงๆ

วันรุ่งขึ้น ผลตรวจของสามีออกมาแล้ว “ติดเชื้อโควิด-19” โดยทางโรงพยาบาลโทรศัพท์มาแจ้งผลการตรวจ และจะมีรถของโรงพยาบาลไปรับตัวมารักษาที่โรงพยาบาล พร้อมกับเสื้อผ้าอีก 1-2 ชุดเท่านั้น ซึ่งน่าจะใช้เวลาไปรักษาประมาณ 10 วัน พวกเราก็คิดว่าโชคดีมากๆ ที่ได้เตียงและได้เข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว

จากนั้นเราก็รีบแจ้งผลตรวจยืนยันของสามีให้กับที่ทำงานของเราทราบ นับว่าเป็นความโชคดีที่เราได้ทำงานในอยู่ในมหาวิทยาลัย ส่วนงานจึงได้ช่วยประสานงานกับโรงพยาบาลในการส่งตัวเราและเพื่อนร่วมงานที่ได้ใกล้ชิดกับสามีเราไปตรวจ แต่ของลูกสาวเรานั้นเราต้องจัดการจองคิวตรวจเอง ซึ่งจุดนี้เองทำให้เราต้องรีบหาข้อมูลเป็นการใหญ่ เพื่อให้ลูกสาวได้รับการตรวจด้วย

โชคดีที่พี่ที่ทำงานช่วยหาข้อมูลว่ามีการลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการตรวจโควิดผ่านเว็บไซต์ แต่ต้องลงทะเบียนก่อนเวลา 15.30 น.ของแต่ละวัน แต่เวลาที่เรารู้ข้อมูลนี้ก็เกือบ 4 โมงเย็นแล้ว เราจึงลองเสี่ยงดวงดู ปรากฏว่า จองคิวได้ช่วงเวลา 7 โมงเช้าของวันรุ่งขึ้น เราจึงลงทะเบียนของตัวเองไปด้วยเพื่อจะได้ตรวจพร้อมกันไม่ต้องไปโรงพยาบาลหลายครั้ง

ในวันที่เราและลูกสาวไปตรวจที่โรงพยาบาล พวกเราก็รีบไปเข้ารับการตรวจ แต่ด้วยความที่เราไม่เตรียมตัวจึงไม่ได้นำสูติบัตรของลูกสาวไป (ลูกสาวอายุยังไม่ครบทำบัตรประชาชน) เจ้าหน้าที่จึงบอกต้องกลับไปเอาเอกสารตัวจริง แม้ว่าเราจะโชว์ภาพสแกนสูติบัตรให้ดูแล้วก็ไม่ได้ แต่ท้ายที่สุด เจ้าหน้าที่ก็อนุโลมให้เรา จุดนี้ขอบ่นนิดนึงว่า ไทยแลนด์ 4.0 แล้ว ทำไมต้องเอาเอกสารตัวจริงมาแสดง แม้ว่าเราจะให้ดูภาพเอกสารจริงมีเลขบัตรประชาชน 13 หลักแล้วก็ยังไม่ยอม จุดนี้ถือว่าเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เราเกือบจะเข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพ

จากนั้นเราก็มาลงทะเบียนและรอเข้าไป swab จมูก การ swab คือ การเก็บสารคัดหลั่งทางโพรงจมูกหรือลำคอนั้นเอง รอบแรกเราสองคนแม่ลูกถูกแยงจมูกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และให้นั่งรอฟังผลภายใน 2 ชั่วโมงห้ามเดินออกไปไหน หลังจากนั้นอีกราว 30 นาที เราสองคนแม่ลูกถูกพยาบาลเรียกไปแยงจมูกรอบที่ 2 และให้เปลี่ยนชุดเพื่อไปเอกซเรย์ปอด เราคิดในใจไว้แล้วว่า ผลเป็นบวกแน่ๆ ไม่น่าจะรอด เพราะคนอื่นที่มาตรวจพร้อมกันกลับไม่มีใครโดนเรียกเลย รอบนี้โดนแยงจมูกและที่คอด้วย คนที่เคยโดนแยงที่โรงพยาบาลจะเข้าใจความรู้สึกดี  

หลังจากนั้นก็ได้เข้าไปพบหมอในห้องตรวจ หมอใส่ชุด PPE แน่นหนา ซักถามอาการของลูกสาวก่อน ซึ่งเวลานั้นลูกสาวยังไม่มีอาการมากนัก มีเพียงตัวรุมๆ เท่านั้น ไม่มีไข้ ต่อมาหมอก็เริ่มซักอาการเรา ซึ่งอาการเหมือนกับลูกสาวเลย หมอก็ไม่พูดอะไรต่อ เพียงแต่เขียนรายละเอียดในใบประวัติเท่านั้น และเราก็เห็นว่าหมอเขียนเป็นภาษาอังกฤษประมาณว่า COVID infection จึงเอ่ยปากถามหมอไปว่า สรุปเราสองคนติดเชื้อใช่ไหม หมอเงยหน้าขึ้นมาบอกว่า “ครับผม แต่ว่าก็ยังไม่แน่นอนนะ หมอขอตรวจซ้ำอีกรอบแบบ RT-PCR พรุ่งนี้จะโทรไปแจ้งผล อาจจะไม่ติดก็ได้ แต่อย่างไรก็เอายาไปกินก่อนเลยแล้วกัน หากผลเป็นลบ ก็หยุดยา แต่ถ้าเป็นบวก ทางโรงพยาบาลจะประสานเรื่องการมารักษาที่โรงพยาบาล แต่หากเตียงเต็มจะประสานต่อโรงพยาบาลอื่นให้”

ตอนที่รู้ตอนนั้น เราก็ไม่ได้รู้สึกเครียดมากนัก รู้เพียงว่าต้องรีบจัดการเรื่องอื่นๆ โดยเร็ว เรารีบแจ้งไปทางหัวหน้างานเพื่อยืนยันผลตรวจ  และกลับบ้านมากักตัวต่อ ซึ่งไม่ผิดคาด วันต่อมาทางโรงพยาบาลโทรมาแจ้งผลว่าผลเป็นบวกกันทั้งสองคนแม่ลูก แต่เพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิดสามีเราที่ไปตรวจพร้อมกันเมื่อวาน ผลออกมาเป็นลบทุกคน

รูป ห้องพักได้อยู่กับลูกสาวสองคน

รูป บรรยากาศนอกหน้าต่างห้องจากชั้น 34

ขอข้ามมาถึงเรื่องการเตรียมตัวไปรักษาตัวเลยแล้วกัน เราสองคนแม่ลูกประเมินเบื้องต้นแล้วอยู่ในกลุ่มสีเขียว คือ ไม่มีอาการและไม่มีความเสี่ยงมากนัก จึงได้เข้ารักษาตัวและกักตัวเป็นเวลา 10 วัน ที่  hospitel ซึ่งมาจากคำว่า hospital โรงพยาบาล และ hotel โรงแรม นั่นคือหอผู้ป่วยเฉพาะของผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง หรือผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวนั่นเอง รถของโรงพยาบาลมารับและพาพวกเราไปส่งที่โรงพยาบาล ภายในรถจะมีการกั้นส่วนระหว่างผู้ป่วยและผู้ขับรถ ไม่เปิดแอร์ เปิดกระจดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ วันนั้นเราสองคนแม่ลูกพร้อมกระเป๋าสัมภาระใบโต มีเพื่อนร่วมเดินทางอีก 3 คน คนแรกเป็นผู้ชายอายุเกิน 60 ปี อีกคนเป็นเด็กอายุประมาณ 10 ขวบ ที่มากับแม่ซึ่งไม่ติดเชื้อ แต่ยอมเสี่ยงเพื่อจะมาดูแลลูกที่ hospitel รถมาจอดที่จุดรับส่งผู้ป่วย โดยจุดแรกที่ต้องไปคือ เอกซเรย์ปอดที่อยู่บริเวณใกล้กับจุดจอดรถ จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่พาพวกเราขึ้นลิฟต์ไปอีกชั้น เพื่อลงทะเบียนและรับอุปกรณ์ที่เราต้องใช้ในช่วงที่เรารักษาตัวอยู่ที่นี่ พยาบาลในชุด PPE ให้พวกเราสแกน QR code เพื่อ add line สำหรับการติดต่อในช่วงที่อยู่ที่นี่ เมื่อ add line เข้ามาจะมีข้อมูลเด้งเข้ามาเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวเมื่ออยู่ที่นี่ว่ามีอะไรบ้าง อาหารจะส่งเวลากี่โมง เวลาในการเอาถุงขยะออกมาวาง เบอร์ติดต่อเมื่อมีความต้องการช่วยเหลือ จากนั้นพยาบาลแนะนำวิธีการวัดไข้ การวัดออกซิเจน การเต้นหัวใจ และการวัดความดันให้ ซึ่งพวกเราต้องทำการวัดและส่งให้หมอผ่านทางไลน์วันละ 3 ครั้ง คือ 08.00 น. 14.00 น. และ 20.00 น. นอกจากนั้นจะมีการเจาะเลือดและเอกซเรย์ปอดทุกๆ 3 วัน เพื่อประเมินอาการ

รูป การวัดความดันเป็นอีกกิจกรรมที่ต้องทำทุกวัน

ต่อจากนั้นพยาบาลให้กุญแจและมีเจ้าหน้าที่พาไปยังห้องพัก ซึ่งอยู่ชั้นที่ 34 ของโรงแรม ห้องพักก็เหมือนกับโรงแรมทั่วไป เพียงแต่พื้นเป็นเสื่อน้ำมันปูทับพรมอีกชั้น ในห้องมีน้ำดื่มวางไว้ให้ (ถ้าไม่พอสามารถขอเพิ่มได้ตลอด) ผ้าขนหนู 4 ผืน ถุงขยะจำนวนหนึ่ง ซึ่งการมารักษาตัวที่ hospitel นี้ ต้องเตรียมเสื้อผ้าและของใช้มาเองทั้งหมด เสื้อผ้าก็ต้องเพียงพอสำหรับ 10 วัน ไม่สะดวกที่จะซักผ้า เนื่องจากไม่มีที่ตาก

เวลาที่พวกเราสองคนได้มารักษาตัวที่นี่ในแต่ละวันดูเหมือนจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว เราได้ทำงานปกติเหมือนเวลาอยู่บ้าน เรารีบเคลียร์งานที่เร่งด่วนออกไปก่อน เพราะห้องพักที่นี่มีแสงสว่างไม่มากพอให้เรานั่งทำงานได้ตลอดทั้งวัน ปลั๊กไฟมีน้อยไม่พอที่จะเสียบปลั๊กคอมพิวเตอร์ ส่วนงานที่ไม่เร่งมากก็ปล่อยผ่านไปก่อน เวลาที่ผ่านไปเราวัดความดัน วัดค่าออกซิเจน วัดไข้ ส่งหมอวันละ 3 ครั้ง บางทีก็ลืมจนพยาบาลต้องแจ้งเตือนให้ส่งการบ้าน กินยา 2 มื้อ แต่ละวันมีหมอโทรมาติดตามอาการ เป็นแบบนี้วนไป

รูป อาหารที่โรงพยาบาลจะมาวางที่หน้าห้องเวลา 8 โมงเช้า และ 5 โมงเย็น

ในส่วนของการรักษาทางยา เราสองคนแม่ลูกได้รับยาฟาวิพิราเวียร์มาจากโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ไปตรวจ RT-PCR ที่โรงพยาบาล กินวันละ 2 มื้อ ห่างกัน 12 ชั่วโมง (เวลาเที่ยงวัน และเที่ยงคืน ที่เป็นเช่นนี้เพราะลืมคิดว่าถ้ากินตอนเที่ยงนับไปอีก 12 ชั่วโมงคือ เที่ยงคืน ทำให้เราสองคนต้องตั้งนาฬิกาปลุกมากินยาทุกวัน) โดย 2 มื้อแรกต้องกินยานี้ 9 เม็ดในผู้ใหญ่ และกิน 4 เม็ดครึ่งในเด็ก ส่วนมื้อต่อๆ มาให้ลดปริมาณลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง กินต่อเนื่องอย่างน้อย 5 วัน ซึ่งลูกสาวเรายังไม่สามารถกินยาเม็ดได้ แต่ทางโรงพยาบาลไม่มียาน้ำสำหรับเด็ก จึงต้องใช้วิธีบดยา ผสมน้ำและน้ำหวานให้กิน ซึ่งเราก็พกไม้ตีพริกเล็กๆ และมีดเล็กๆ ไปที่ hospitel ด้วย เพื่อใช้ในการบดยา

ในแต่ละวันเราต้องสังเกตอาการตัวเอง และของลูกสาวตลอดเวลาว่ามีอะไรบ้าง และแจ้งกับหมอเวลาที่หมอโทรมาในแต่ละวัน โชคดีที่เราสองคนมีอาการน้อยมาก มีเพียงอาการตัวรุมๆ แต่ไม่มีไข้ มีแน่นจมูกบ้างแต่ยังหายใจได้ดี (โชคดีที่เราพกยาพ่นจมูกเวลาแน่นจมูกไปด้วย และสเปรย์ปรับอากาศกลิ่นยูคาลิปตัส สองอย่างนี้ช่วยได้มาก) มีอาการเหมือนจมูกได้กลิ่นน้อยลงประมาณ 1 วัน และลูกสาวเรามีอาการท้องเสียนิดหน่อยประมาณ 2 วัน เมื่อเรากินยาจนครบ 5 วันแล้ว ได้มีการเจาะเลือดเพื่อดูค่าการอักเสบของเลือด ของลูกสาวเราปกติ แต่ของเราค่าการอักเสบยังสูงเกินเกณฑ์จึงต้องกินยาต่ออีก 5 วัน ส่วนผลการเอกซเรย์พบว่าของลูกสาวมีรอยฝ้าที่ปอดเล็กน้อย แต่ไม่ต้องกังวล

สำหรับ 5 วันหลัง พวกเราแทบไม่มีอาการอะไรแล้ว แต่ต้องอยู่กักตัวให้ครบ 10 วัน พวกเราได้ใช้เวลาดูการ์ตูนด้วยกัน หัดอ่านหนังสือบ้างเล็กน้อย ทำการบ้านบ้างเล็กน้อย ฝึกวิชาจินตคณิต นับเลขด้วยกัน และดูจะรักกันเป็นพิเศษ เพราะอยู่กันแค่สองคน ลูกสาวถามว่า “โควิดเป็นเพราะว่าเราไปกินค้างคาวมาหรือเปล่า หนูเคยเห็นในโทรทัศน์ที่เมืองจีน แล้วโควิดทำให้หนูไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่ได้ไปว่ายน้ำเลย” เราจึงได้อธิบายลูกสาวไปว่าไม่ใช่อย่างนั้น โควิดเป็นไวรัสที่ทำให้เราไม่สบาย ติดต่อเวลาที่เราหายใจเอาเจ้าไวรัสเข้าไปในร่างกาย ดังนั้นเราต้องระวังตัวและใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน เราได้เห็นว่าลูกสาวของเราเข้าใจว่าทำไมเราต้องมาอยู่ในห้อง และไม่สามารถออกไปไหนได้เลยตลอดระยะเวลา 10 วัน เด็กน้อยรู้จักอดทน ไม่ร้องไห้งอแง ยอมรับเลยว่าเก่งมากสำหรับเด็ก 6 ขวบ และเริ่มนับถอยหลัง รอวันกลับบ้านแล้ว

รูป กิจกรรมของเด็กกักตัว

ในวันที่เราได้กลับบ้าน โชคดีว่าสามีเราได้กลับบ้านมาก่อนแล้วและพ้นระยะการแพร่เชื้อแล้ว สามารถออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ เขาจึงขับรถมารับพวกเราที่ hospitel เด็กน้อยเมื่อได้เจอพ่อก็วิ่งเข้าหาด้วยความคิดถึง แล้วถามว่า “พ่อหายแล้วใช่ไหม งั้นเราไปกิน KFC กันเถอะ อยากกินมานานมากแล้ว ...”

ท้ายสุดนี้ ขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วงพวกเรา คอยส่งกำลังใจมาให้ทุกช่องทาง วิดีโอคอลมาคุยแก้เหงาและช่วยคลายความกังวล ขอโทษทุกคนที่พวกเราได้พบเจอในช่วงนั้นและทำให้รู้สึกกังวลใจว่าจะติดเชื้อด้วยหรือไม่ โชคดีที่สุดท้าย ทุกคนผลเป็นลบ

มาถึงตรงนี้ ต้องขอบคุณทุกท่านที่อ่านมาจนถึงบรรทัดสุดท้ายนี้ ขอจบเรื่องเล่าเอาไว้เพียงเท่านี้ แต่เรื่องการป้องกันกับโควิด-19 นั้น ยังไม่จบเท่านี้แน่นอน เพราะตอนที่ใกล้จะออกจาก hospitel (ปลายเดือนพฤศจิกายน) เริ่มได้ยินคำว่า “โอไมครอน” แล้ว รักษาสุขภาพกันด้วยนะทุกคน

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
วิถีใหม่

วรชัย ทองไทย

โควิด-19 กับ มูลค่าชีวิตคน

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ด้วยรักและโรคระบาด

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

เมื่อโควิด-19 กำลังจะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Long COVID เจอ เจ็บ แต่ไม่จบ ?

สุริยาพร จันทร์เจริญ

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th