The Prachakorn

การศึกษาท่ามกลางวิกฤตความขัดแย้ง


ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

16 กุมภาพันธ์ 2565
360



เหตุการณ์ความขัดแย้งทั่วโลก เช่น เหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมา ความขัดแย้งจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศอัฟกานิสถาน ทำให้ผู้คนมากมายต้องอพยพออกจากถิ่นฐานเพื่อแสวงหาที่ๆ ปลอดภัยสำหรับการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นภายในประเทศ กลายเป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศ (internally displaced people) หรือพลัดถิ่นออกนอกประเทศเป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัย (asylum seekers) หรือผู้ลี้ภัย (refugees) ผู้พลัดถิ่นจำนวนมากต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง นอกจากเรื่องความเป็นอยู่และความปลอดภัยในชีวิตแล้ว ประเด็นสำคัญของผู้พลัดถิ่นอีกประเด็นหนึ่งคือ การศึกษา 

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้เก็บข้อมูลใน 40 ประเทศ ในช่วงปี 2562-2563 พบว่า การสมัครเรียนในระดับมัธยมศึกษาของเยาวชนผู้ลี้ภัยมีเพียง 34% เท่านั้น ในขณะที่การสมัครเรียนในระดับประถมศึกษาอยู่ที่ 68% และยังชี้อีกว่าการระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้เยาวชนผู้ลี้ภัยประสบกับอุปสรรคเพิ่มมากขึ้นในการเข้าสู่การศึกษา1

ในระดับอุดมศึกษาพบว่า มีผู้ลี้ภัยสมัครเข้าเรียนเพียง 5% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาทั่วโลกอย่างมาก โดยการสมัครเรียนในระดับอุดมศึกษาของคนที่ไม่ใช่ผู้ลี้ภัยทั่วโลกอยู่ที่ 39%2

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการสมัครเข้าเรียนที่ต่ำ ยังไม่สามารถสะท้อนภาพปัญหาการศึกษาของผู้ลี้ภัยได้ทั้งหมด จากประสบการณ์การอยู่ร่วมกับโควิด-19 มาร่วมสองปี ทำให้ได้เห็นว่า แม้แต่คนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการพลัดถิ่นยังประสบกับอุปสรรคมากมายในการศึกษา การเรียนออนไลน์ที่บ้านซึ่งทำให้สมาธิของนักเรียนลดลง ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์การเรียน สัญญาณอินเทอร์เน็ตติดขัด ขาดการสร้างสัมพันธภาพทางสังคมกับนักเรียนคนอื่นๆ หรือแม้กระทั่งกับผู้สอน สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยทำให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาลดลง 

จากประสบการณ์ของผู้เขียนในฐานะผู้สอนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา พบว่า ในช่วงการเรียนออนไลน์นั้น การเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีทั้งในฝั่งของผู้เรียนและผู้สอนไม่ได้เป็นปัญหามากนัก แต่ปัญหามักเกิดจากปัจจัยพื้นฐานดังที่ได้กล่าวมา โดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ตติดขัด หรือการที่นักศึกษาจะต้องทำหน้าที่อย่างอื่นนอกเหนือจากการเรียนด้วย เช่น ดูแลสมาชิกที่บ้าน หรือแม้แต่ทำงานไปด้วย แต่สิ่งที่เปิดโลกของผู้เขียนอีกประเด็นหนึ่งคือ การสอนนักศึกษาที่อยู่ในประเทศที่มีทรัพยากรขั้นพื้นฐานไม่ดีและไม่เพียงพอ เช่น ไฟฟ้า หรือนักศึกษาที่อาศัยอยู่ในประเทศที่กำลังมีเหตุการณ์ความไม่สงบหรือการสู้รบในประเทศ สิ่งเหล่านี้กระทบกับความเป็นอยู่ของนักศึกษา และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของนักศึกษามาก การที่ต้องอยู่ท่ามกลางความไม่สงบ เช่น กรณีของนักศึกษาชาวเมียนมาหลายคน ทำให้บางครั้งขาดการติดต่อจากอาจารย์หรือจากเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย เมื่อนักศึกษาติดต่อกลับมาพร้อมกับคำขอโทษที่ส่งงานช้า เราจึงได้ทราบเหตุผลที่หายไปของนักศึกษาว่า เป็นเพราะมีระเบิดลงในเมืองที่อยู่ ทำให้ไฟฟ้าดับทั้งคืน จากการติดตามนักศึกษาชาวเมียนมาพบว่า บางคนยังอาศัยอยู่ในภูมิลำเนาเดิม ส่วนคนที่ยังติดต่อไม่ได้นั้น ไม่แน่ใจว่าอาจจะเป็นผู้พลัดถิ่นไปแล้วหรือไม่ 

ยังมีกรณีของนักศึกษาชาวอัฟกานิสถานที่ขาดการติดต่อไปเช่นกัน ภายหลังได้พบว่าเขาต้องลี้ภัยจากอัฟกานิสถานไปยังประเทศเยอรมนี และขอสถานะผู้ลี้ภัยที่นั่น กระบวนการการย้ายถิ่น ตั้งถิ่นฐาน และการเดินเรื่องต่างๆ ในบ้านใหม่ ทำให้เขาไม่สามารถมีสมาธิกับการเรียนได้มากนัก 

คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย หากนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบเหล่านี้จะต้องหลุดจากระบบการศึกษาไป บางคนเรียนมาแล้วหลายปี แต่เมื่อสถานการณ์บังคับให้ต้องจากบ้านเกิดและเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ การศึกษาของเขาและเธอก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ในเวลานี้ นอกจากเราจะต้องหายุทธศาสตร์ทางการศึกษาในสภาวะโรคระบาดแล้ว ยังต้องคำนึงถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบเหล่านี้ด้วย จะทำอย่างไรเพื่อให้การเรียนรู้ไม่หยุดชะงัก และจะมีการสนับสนุนให้กับนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้อย่างไร เป็นความท้าทายร่วมสมัยที่สำคัญลำดับต้นๆ ของสถาบันการศึกษาเลยทีเดียว 

รูป: คุณครูชาวกะเหรี่ยงกำลังสอนภาษาพม่าแก่นักเรียนผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง เธอได้กล่าวว่า สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการอาศัยอยู่ค่ายพักพิงในภาคเหนือ ของประเทศไทยคือ การที่เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้
ที่มา: UNHCR. (2016). Missing Out: Refugee Education in Crisis. Retrieved January 17, 2022, from https://www.unhcr.org/missing-out-state-of-education-for-the-worlds-refugees.html 


  1. United Nations. (7 September 2021). Critical gaps in refugee education, only 34 per centattend secondary school: UNHCR. Retrieved December 29, 2021, from https://news.un.org/en/story/2021/09/1099242 
  2. UNHCR. (n.d.). Tertiary Education. Retrieved December 29, 2021, from https://www.unhcr.org/tertiary-education.html
     


CONTRIBUTOR

Related Posts
นโยบาย Replacement Migration กับ โควิด-19

อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

สามีฝรั่งคือปลายทาง

ดุสิตา พึ่งสำราญ

มาวิ่งกันเถอะ

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ

นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

โลกแคบลง เมื่ออายุมากขึ้น

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ดูแลผู้ดูแลสักนิด

กาญจนา ตั้งชลทิพย์,อารี จำปากลาย

คำขวัญวันเด็ก

สุภาณี ปลื้มเจริญ

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th