The Prachakorn

ความเสี่ยงที่เด็กไปสนใจสารเสพติดช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19


ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น

15 พฤศจิกายน 2564
322



สถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด -19 ที่ต่อเนื่อง ยาวนาน มีเหตุการณ์ให้สังคมต้องเรียนรู้ในทุกๆวัน ระยะเวลาเกือบ 2 ปีเต็ม (2563 - 2564) ที่เด็กทุกคนที่อยู่ในวัยเรียนต้องปรับตัวเข้ากับรูปแบบการเรียนทั้งออนไลน์และรูปแบบอื่นๆ ที่หน่วยงานภาคการศึกษามีความพยายามออกแบบเพื่อรองรับให้นักเรียนยังคงสามารถเข้าถึงการศึกษาของแต่ละภาคการศึกษาได้ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเพียงส่วนหนึ่งของผู้เรียนที่สามารถเข้าถึงการจัดการศึกษาในแต่ละรูปแบบ และเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจจะขาดความต่อเนื่องในการเข้าถึงการเรียนรู้ เด็กกลุ่มหนึ่งที่กำลังประสบกับภาวะปัญหาของการเข้าไม่ถึงการเรียนการสอนจากระบบโรงเรียนและจากการจัดการเรียนการสอนของศูนย์การเรียนรู้ คือเด็กข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และส่วนหนึ่งเป็นเด็กที่เดินทางผ่านแดนเพื่อเข้ามาอยู่กับพ่อแม่ช่วงปิดเทอม และไม่สามารถกลับไปประเทศได้เนื่องจากการปิดช่องทางผ่านแดนในระยะที่ผ่านมา

ช่วงเวลาที่โรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กข้ามชาติจำเป็นต้องปรับรูปแบบกิจกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดหรือบางที่ต้องงดกิจกรรมการเรียนการสอน เป็นช่วงเวลาเดียวกันพอดี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 ของประเทศไทยได้มีการปลดล็อคใบกระท่อมให้สามารถปลูก กิน และสามารถซื้อขายได้อย่างเสรีมากขึ้น พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ พ.ศ.2564 ฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 โดยมีการแก้ไขถอดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดประเภท 5  โดยข้อยกเว้นสำคัญคือ ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี รวมถึงห้ามนำไปผสมกับสารเสพติดชนิดอื่น เช่น 4X100 (เป็นการนำสารเสพติดพืชกระท่อมมาต้มผสมกับยาทางการแพทย์ เช่น ยาแก้ไอ จนเกิดเป็นสูตรสารเสพติด)

ข้อมูลสถิติของหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการปราบปรามและการควบคุมยาเสพติดของประเทศไทยที่มีการเผยแพร่และรวบรวมไว้ รวมถึงจำนวนคดีที่เกิดกับเด็กและเยาวชนที่นำเสนอข้อมูลล่าสุดของปี 2563 ทำให้พอเห็นได้ว่าปัญหาของยาเสพติดที่ผ่านการพิจารณาทางคดี มีส่วนหนึ่งที่เป็น “เด็กข้ามชาติ”

สถิติการจับกุมคดียาเสพติดทั่วประเทศ

การจับกุมคดียาเสพติด (พืชกระท่อม)  จำนวนคดี
2559 23,597
2560 20,560
2561 18,928
2562 13,768
2563 16,312

ที่มา : รายงานประจำปี 2563 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม

สถิติการจับกุมชาวต่างประเทศในคดียาเสพติดทั่วประเทศ จําแนกตามสัญชาติ (3 ลำดับแรก)

สัญชาติ จำนวนคดี
พม่า 1,982
ลาว 220
กัมพูชา 168

ที่มา : รายงานประจำปี 2563 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม

จำนวนคดีเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินโดยสถานพินิจฯทั่วประเทศ ปี 2563
จำแนกตามสัญชาติ (3 ลำดับแรก)

สัญชาติ จำนวนคดี
ไทย 19,101
พม่า 169
ลาว 53
กัมพูชา 50

ที่มา : รายงานสถิติคดี กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ประจำปี 2563

เด็กก่อนอายุ 18 ปีที่ไม่ได้เรียนและไม่ได้ทำงานมีการตามกลุ่มเพื่อนในวัยเดียวกันที่มีความอยากรู้ อยากลองใบกระท่อมมากขึ้น “การซื้อขายที่เป็นอิสระมากขึ้น ทำให้เด็กเปลี่ยนจากผู้ซื้อเป็นคนกลางหรือเป็นผู้ขาย การให้สัมภาษณ์ของ อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ชาวเมียนมาทำให้เห็นข้อมูลที่น่าสนใจมีการพบว่าเด็กในพื้นที่หันไปให้ความสนใจในการกินน้ำต้มใบกระท่อม โดยเป็นการกินตามๆ กันในหมู่เพื่อนกลุ่มเดียวกัน และเป็นที่น่ากังวลว่าพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กเหล่านี้ไม่รู้ว่าลูกของตนเองกำลังหันไปนิยมพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณและให้โทษ หากไม่ได้เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ตามที่กฎหมายมีเจตนาปลดล็อคในครั้งนี้   จึงเป็นความเสี่ยงอีกเรื่องหนึ่งของเด็กทุกคนในวัยอยากรู้ อยากลอง “เสี่ยงที่เด็กวัยรุ่นอนาคตจะหายไป” ถึงแม้ว่ากฎหมายจะกำหนดห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่คงไม่สามารถจำกัดขีดความสามารถในการแสวงหาของเด็กผู้ต้องการทดลองสมุนไพรพื้นบ้านชนิดนี้ได้

ข้อสังเกตครั้งนี้เป็นการสะท้อนจากสถานการณ์ในพื้นที่หนึ่งเท่านั้น ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเด็กข้ามชาติที่ไม่ได้เรียนหนังสือจะหันไปให้ความสนใจใช้ใบกระท่อมด้วยกันทั้งหมด แต่ก็เป็นเรื่องดีที่จะได้ชวนผู้อ่านทุกท่านร่วมกันย้อนคิดว่า เราจะสามารถบังคับใช้กฎหมายข้อนี้และดูแลเด็กและเยาวชนในประเทศไทยทุกคนรวมถึงสมาชิกเด็กข้ามชาติที่กำลังเติบโต ให้รับรู้และเท่าทันพร้อมกับสามารถใช้สมุนไพรขึ้นชื่อชนิดนี้ภายใต้ที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างไร มากไปกว่านั้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สังคมจะร่วมกันดูแลในช่วงเวลาที่โรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอนเพื่อไม่ให้พวกเขาต้องเดินเข้าสู่เส้นทางของการกระทำผิดและเกิดปัญหากับชีวิตในอนาคต


ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น
ทีมวิจัยโครงการ “การประเมินสถานการณ์เด็กข้ามชาติในประเทศไทยและผลกระทบจากโควิด-19”
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล



CONTRIBUTOR

Related Posts
บ้านคนแก่ของเพื่อนเก่า

ปราโมทย์ ประสาทกุล

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

70 ปี...NHS

ณปภัช สัจนวกุล

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

โกหกคำโต (big lie)

วรชัย ทองไทย

ทุนสังคม พลังสังคม

ภูเบศร์ สมุทรจักร

COVID-19 : รักษาระยะห่าง ดูแลระยะใจ 

พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th