The Prachakorn

วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล: สังคมไทยไปไกลแล้วหรือยัง


สุชาดา ทวีสิทธิ์

03 ธันวาคม 2564
448



เดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคมของทุกปี ทั่วโลกร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์เตือนให้ทบทวนความก้าวหน้าของการทำงานยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง สถิติการทำความรุนแรงต่อผู้หญิงทั่วโลกยังน่าเป็นห่วง พบว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงเคยถูกสามีหรือคนรักทำร้ายร่างกาย หรือไม่ก็ถูกทำร้ายทางเพศ1 สถิตินี้ยังไม่มีทีท่าลดลง และเมื่อโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เศรษฐกิจฟุบ คนตกงาน ความสัมพันธ์ในบ้านและในสังคมทั้งตึงเครียดและเปราะบาง ทำให้วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่เป็นพิษต่อผู้หญิงอยู่ก่อนแล้วพ่นพิษรุนแรงขึ้น ซึ่งมีผู้หญิงในหลายพื้นที่ออกมาเล่าว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้พวกเธอประสบกับความรุนแรงในครอบครัวบ่อยขึ้นและมากขึ้น 

ตั้งแต่ปี 2542 นับถึงปีนี้ก็ 22 ปีแล้ว ที่บ้านเรามีการรณรงค์ยุติการทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง สำหรับในปี 2564 นี้ มีความพิเศษไปจากปีก่อน ๆ เพราะว่านักสิทธิสตรีบางกลุ่มได้รวมเอาประเด็นการทำความรุนแรงต่อผู้หญิงข้ามเพศเข้ามาร่วมรณรงค์ด้วย เหตุผลที่ทำให้ต้องรณรงค์ต่อต้านการทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและผู้หญิงข้ามเพศไปพร้อมกันเพราะมีประเด็นร่วมกันอยู่ กล่าวคือ ประการแรก การทำความรุนแรงต่อคนทั้งสองกลุ่มนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประการที่สอง การทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและคนข้ามเพศเกิดจากมายาคติทางเพศและอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่เหมือนกัน ประการที่สาม การทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและคนข้ามเพศส่งผลกระทบทางลบไม่เฉพาะต่อผู้ถูกกระทำ แต่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมโดยรวมด้วย เพราะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ กระทบต่อระบบยุติธรรม รวมทั้งสร้างปัญหาด้านสาธารณสุข และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชาชน นักวิชาการสตรีนิยมวิเคราะห์กันว่าสาเหตุรากเหง้าที่ผู้ชายทำร้ายข่มเหงผู้หญิง เป็นเพราะว่าพวกเขาเติบโตมาในวัฒนธรรมและโครงสร้างสังคมที่ “ความเป็นชาย” ถูกให้คุณค่า ให้อำนาจ และให้อภิสิทธิ์เหนือกว่า “ความเป็นหญิง” ผู้ชายจึงคิดว่าตนเองมีสถานะสูงกว่าเพศหญิงและเพศอื่น

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นกระบวนกรและทำวิจัยเรื่องการทำความรุนแรงต่อผู้หญิงมานานพอสมควร เห็นว่า การรื้อถอนมายาคติทางเพศของผู้ชายไทยนั้นยากมาก เพราะว่าลึก ๆ แล้ว ผู้ชายยังเชื่อฝังหัวว่าหญิงต้องเป็นรองชาย อดคิดไม่ได้ว่าร่องรอยวัฒนธรรมทาสสมัยอยุธยาที่กล่าวไว้ว่า “ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน” หรือคำกล่าวที่ว่า “ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง” ยังตามมาหลอกหลอนชายไทยยุคปัจจุบันอยู่ไม่น้อย ผู้หญิงที่ไม่เชื่อฟัง ไม่คล้อยตาม ไม่ยอมให้ผู้ชายนำ หรือแสดงความเห็นขัดแย้ง จึงถูกผู้ชายทำร้ายรูปแบบต่าง ๆ เช่น บูลลี่ด้วยสายตา ใช้ประทุษวาจา หรือใช้ภาษาเหยียดเพศ ทำร้ายร่างกาย ปฏิเสธไม่ยอมรับเป็นพวก หรือกีดกันไม่สนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าถึงอำนาจ (ยกเว้นให้เฉพาะหญิงที่เป็นแม่ของเขาเท่านั้น) 

ในบ้านเมืองของเราพบผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทำร้ายทางเพศและจิตใจ วันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 7 คน ส่วนที่ไปแจ้งความหรือขอความช่วยเหลือแต่ละปีมีไม่น้อยกว่า 30,000 ราย2 และคนข้ามเพศที่ถูกทำร้ายร่างกายเพราะความเกลียดชังมีเป็นข่าวเกือบทุกวัน เมื่อปี 2561 มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้รวบรวมข่าวการทำความรุนแรงในครอบครัวและในคู่รักจากหนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับมาวิเคราะห์ พบว่า มากกว่า 70% ของคดีฆาตกรรมในครอบครัว เป็นกรณีสามีฆ่าภรรยา ส่วนความรุนแรงระหว่างคู่รักแบบแฟน พบว่า มากกว่า 65% ฝ่ายชายเป็นคนทำร้ายฝ่ายหญิง3 และกรณีภรรยาลงมือฆ่าสามีมักเกิดจากการบาดเจ็บทางจิตใจที่เรียกว่า battered-wife syndrome ซึ่งมีสาเหตุจากความกลัว/ความกดดันที่ถูกสามีทำร้ายซ้ำ ๆ มาเป็นระยะเวลานาน 

ข้อมูลจากทั่วโลกยืนยันว่าเพศชายมีพฤติกรรมทำความรุนแรงต่อหญิงและคนข้ามเพศมากที่สุด เมื่อนักสิทธิสตรีออกมารณรงค์ยุติการทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและคนข้ามเพศ ก็มีผู้ชายจำนวนหนึ่งตั้งคำถามว่า ผู้ชายก็ถูกผู้หญิงและคนข้ามเพศทำความรุนแรง ทำไมจึงไม่ช่วยรณรงค์ปกป้องผู้ชายกันบ้าง ในสหรัฐอเมริกาเกิดกลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิของผู้ชาย เรียกชื่อย่อว่ากลุ่ม MRM (men’s rights movement) กลุ่มนี้ได้หยิบยกความรุนแรงในชีวิตคู่ที่มีผู้ชายเป็นผู้ถูกกระทำขึ้นมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความเท่าเทียมทางกฎหมาย เพื่อตอบโต้นักส่งเสริมสิทธิสตรี กลุ่ม MRM อ้างงานวิจัยเกี่ยวกับความขัดแย้งในครอบครัว และความรุนแรงในชีวิตคู่ ที่เคยเสนอข้อค้นพบว่าทั้งเพศชายและเพศหญิงมีโอกาสตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว หรือเป็นผู้ทำความรุนแรงต่อคู่ของตนในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยกลุ่ม MRM เลือกหยิบข้อมูลบางส่วนมานำเสนอ แต่เลี่ยงการอธิบายข้อค้นพบจากงานวิจัยอีกส่วนหนึ่งที่บอกว่า ในบริบทของความรุนแรงในครอบครัวนั้น ลักษณะของความรุนแรงที่สามีใช้กระทำต่อภรรยามักรุนแรงกว่าหรือเกิดการบาดเจ็บมากกว่าที่ภรรยากระทำต่อสามี 

สมัยที่ผู้เขียนเรียนหนังสืออยู่ที่อเมริกา มีโอกาสเข้าไปสังเกตการพิจาณาคดีกรณีสามีทำร้ายภรรยาในศาล คดีนี้ฝ่ายภรรยาได้รับบาดเจ็บสาหัสจึงฟ้องร้องสามีเป็นจำเลย ผู้พิพากษามีคำตัดสินให้ลงโทษจำคุกสามี เมื่อผู้พิพากษาอ่านคำตัดสินจบลง สามีได้โต้แย้งผู้พิพากษาว่าเขาก็เป็นผู้เสียหายเพราะถูกภรรยาทำร้ายเช่นกัน ทำไมเขาต้องถูกลงโทษ ผู้พากษาถามกลับไปว่า ภรรยาทำร้ายเขาอย่างไร จำเลยตอบว่าใช้ไม้กวาดตีเขาที่แขน ผู้พิพากษาถามอีกว่า ภรรยาทำให้จำเลยบาดเจ็บสาหัสแบบเดียวกับที่จำเลยทำต่อภรรยาหรือไม่ จำเลยเงียบไม่ตอบ ผู้พิพากษาจึงกล่าวต่อไปว่าถ้าหากจำเลยมีหลักฐานหรือพยานมายืนยันต่อศาลว่าได้รับบาดเจ็บจริง จำเลยก็สามารถฟ้องร้องต่อศาลเพื่อเอาผิดภรรยาได้เช่นกัน ซึ่งหลังจากนั้นจำเลยก็ไม่โต้แย้งอะไรอีก 

การมีผู้ชายจำนวนหนึ่งลุกขึ้นมาโต้แย้งว่า “ผู้ชายก็โดนผู้หญิงทำร้ายเช่นกัน” เป็นปฏิกิริยาตอบโต้นักสตรีนิยม (backlash against feminists) ของผู้ชายที่ไม่ลดราวาศอกอคติทางเพศของตน แต่กลับคิดว่านักสตรีนิยมกำลังทุบทำลายอำนาจและอภิสิทธิ์ของผู้ชาย และตั้งตนเป็นศัตรูกับผู้ชาย ผู้เขียนได้ยินข้อโต้แย้งแบบนี้จากผู้ชายไทยที่ไม่สนับสนุนนักสิทธิสตรีมาทุกปี จนเบื่อที่จะวิวาทะด้วย มีน้องนักกิจกรรมด้านผู้หญิงคนหนึ่งบอกผู้เขียนว่า ถ้าผู้ชายพวกนั้นเขาสนใจเรื่องความรุนแรงที่ผู้หญิงทำกับผู้ชายมากขนาดนั้น ก็ชวนให้เขามาทำงานร่วมกับนักสิทธิสตรีเสียเลย จะได้ช่วยกันยุติการทำความรุนแรงระหว่างเพศไปด้วยกัน แต่เท่าที่ผู้เขียนพบมา ผู้ชายที่ตั้งคำถามแบบนั้นไม่เคยสนใจเข้ามาทำงานเรื่องนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่า นอกจากผู้ชายเหล่านั้นไม่ตระหนักในอคติทางเพศที่เขามีแล้ว พวกเขายังแสดงตัวว่าอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับนักส่งเสริมสิทธิสตรีอีกด้วย

การสอนเรื่องระบบเพศสองขั้วในสังคม ที่อธิบายว่ามนุษย์มีแค่หญิงกับชายเท่านั้น ส่งผลให้ชายไทยจำนวนไม่น้อยยังคิดว่ามนุษย์ทุกคนต้องอยู่ในกล่องเพศที่สังคมกำหนดให้อย่างเคร่งครัด สังคมไทยบีบคั้นทุกช่องทางให้เราต้องดำรงความเป็นเพศกำเนิดและเพศสภาพตั้งแต่ร้องอุแว้ อุแว้ ออกมาจากท้องแม่ จนกระทั่งถูกหามไปขึ้นเชิงตะกอนเลยเชียว ใครคนใดฝ่าฝืนหรือหนีออกจากกล่องเพศ เช่น เป็นหญิงแต่ทิ้งลูก ทิ้งสามี ไปมีสามีใหม่ด้วยนานาเหตุผล หรือ บางคนเกิดมามีร่างกายเป็นหญิงแต่อยากแปลงเพศไปเป็นชาย หรือ อยากเปลี่ยนรสนิยมทางเพศของตัวเอง ก็ต้องเผชิญกับความรุนแรงหลากรูปแบบ เช่น ด่าทอ นินทาให้เสียหาย ไปจนถึงทำร้ายร่างกาย ละเมิดทางเพศ หรือ ฆาตกรรม 

ผู้เขียนเชื่อว่าคนทุกเพศ ทุกวัย มีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน และยังเชื่อมั่นว่าความเสมอภาคทางเพศในสังคมเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะช่วยป้องกันผู้หญิง เด็กหญิง และคนข้ามเพศ ไม่ให้ถูกผู้ชายทำความรุนแรงเพราะมีอคติทางเพศ กระนั้น ความเสมอภาคทางเพศจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อผู้ชายเปิดใจยอมรับมัน และยินดีที่จะแบ่งปันอำนาจทั้งในบ้านและในพื้นที่สาธารณะให้กับเพศหญิงและเพศอื่น ๆ โดยไม่เลือกปฏิบัติ 

การรณรงค์เพื่อยุติการทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงมีความจำเป็นต้องทำต่อเนื่องทุกเดือน ทุกวัน ทุกชั่วโมง เพื่อให้คนในสังคมตระหนัก และมีความจริงจังที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน ปัญหานี้จะยังไม่ยุติ ถ้าหากเราทำเรื่องนี้กันเฉพาะในห้องประชุม หรือ ออกมาตีปี๊บกันในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีเท่านั้น


อ้างอิง

  1. World Health Organization (2021). Devastatingly pervasive: 1 in 3 women globally experience violence. Retrieved from https://www.who.int/news/item/09-03-2021-devastatingly-pervasive-1-in-3-women-globally-experience-violence
  2. ผู้จัดการออนไลน์ (27 ต.ค. 2561). สสส.รณรงค์ไม่ทำร้ายผู้หญิง หลังพบผู้หญิงถูกทำร้าย 7 คน/วัน. เข้าถึงได้จาก https://mgronline.com/qol/detail/9610000107383
  3. ผู้จัดการออนไลน์ (25 ต.ค. 2562). สถิติความรุนแรงในครอบครัวสูงขึ้น 33% พบฆ่ากันตายเพิ่ม 70% ส่วนใหญ่เป็นผัวฆ่าเมีย. เข้าถึงได้จาก https://mgronline.com/qol/detail/9620000102274
     


CONTRIBUTOR

Related Posts
ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

เมื่อคนสูงวัยเข้าใกล้วัด

ปราโมทย์ ประสาทกุล

รัฐประหาร ในเมียนมา

อมรา สุนทรธาดา

โสดมาราธอน

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

ผู้หญิงในสถานการณ์โควิด-19

กัญญาพัชร สุทธิเกษม

มิติเพศที่หลากหลายในสังคมไทย

นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th