The Prachakorn

สู้ต่อไป กับการ Work From Home


มนสิการ กาญจนะจิตรา

11 สิงหาคม 2564
417



วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เป็นอีกครั้งที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีมาตรการปิดเมือง (lockdown) เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเหมือนเช่นเคย มาตรการสำคัญในการล็อกดาวน์ครั้งนี้ คือให้ราชการและเอกชน Work From Home (WFH) ให้มากที่สุด

การ WFH จริงๆ แล้วเป็นแนวทางที่เริ่มได้รับความสนใจมาตั้งแต่ก่อนการมีโรคระบาดโควิด-19 เสียอีก เพราะการพัฒนาของเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่ทำให้การทำงานหลายประเภทสามารถทำได้จากทุกที่ ไม่จำเป็นต้องเข้ามาในสำนักงาน การ WFH หากบริหารจัดการได้ดี เป็นแนวทางที่อาจเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ด้วย ซึ่งมีการศึกษาหลายชิ้นที่สะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้นของพนักงานจากการทำงานจากที่บ้าน เช่น การศึกษาในประเทศจีนที่พบว่าประสิทธิภาพของการทำงานเพิ่มขึ้น 13% จากการให้พนักงาน WFH เป็นระยะเวลานาน 9 เดือน1
 อย่างไรก็ตาม การ WFH เป็นระยะเวลานานภายใต้สถานการณ์ที่ตึงเครียดเช่นนี้ กำลังนำไปสู่อีกปรากฏการณ์หนึ่ง คือ ความรู้สึกหมดพลังในการทำงาน

 ความเครียดเรื้อรังจากการทำงานที่ยังไม่สามารถจัดการได้ อาจนำไปสู่ภาวะหมดไฟจากการทำงาน (burn-out) ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะในปี 2562 องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ภาวะหมดไฟจากการทำงานอยู่ในแนวทางการวินิจฉัยโรคฉบับที่ 11 (International Classification of Diseases) จากเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต2 หากภาวะหมดไฟจากการทำงานไม่ได้รับการจัดการ อาจส่งผลเสียในด้านต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย เช่น เกิดความเหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดเมื่อย และปวดศีรษะ ผลด้านจิตใจ เช่น หมดความสนุกในการทำงาน รู้สึกไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน หมดหวัง และอาจมีอาการของภาวะซึมเศร้าและอาการนอนไม่หลับ และผลต่อการทำงาน เช่น อาจขาดงานบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และอาจคิดเรื่องลาออกในที่สุด

การ WFH มาเป็นระยะเวลาเกือบปี ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อไร ส่งผลให้เกิดความเครียดสะสมเป็นเวลายาวนานได้ และอาจเริ่มนำไปสู่อาการหมดไฟจากการทำงานโดยที่เราไม่รู้ตัว โดยเฉพาะเมื่อการทำงานที่บ้าน ทำให้หลายคนไม่สามารถแยกเวลางานและเวลาส่วนตัวได้ ทำให้มีเวลาในการหยุดพักไม่เพียงพอ

จากการศึกษาข้อแนะนำต่างๆ ในการจัดการการ WFH ไม่ให้นำไปสู่ความเครียดเรื้อรัง พบว่า หัวใจสำคัญคือการแยกชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวให้ได้ เพราะการ WFH ทำให้หลายคนไม่สามารถแยกแยะเวลางานจากเวลาพักผ่อน ทำให้เกิดความไม่สมดุลในชีวิต ดังนั้น ข้อแนะนำสำคัญในการ WFH คือการแยกพื้นที่การทำงานออกให้เป็นสัดส่วน ถึงแม้จะไม่สามารถมีห้องทำงานแยกออกมาได้ แต่แค่มีเก้าอี้สำหรับการนั่งทำงานโดยเฉพาะ ก็สามารถช่วยในด้านความรู้สึกได้ในระดับหนึ่งแล้ว 

การจัดตารางเวลาการทำงานให้ชัดเจน เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการจัดการชีวิตการทำงานให้แยกจากชีวิตส่วนตัว เพราะเป็นการสร้างเส้นแบ่งระหว่างเวลาทำงาน เวลาในการพักผ่อนและดูแลครอบครัว ซึ่งตารางเวลานี้อาจปรับเปลี่ยนไปได้ตามความเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องเป็นตารางที่ตายตัว เช่น หากสัปดาห์นี้ต้องช่วยลูกในการเรียนออนไลน์ช่วงเช้า ก็อาจลองปรับเวลาทำงานเป็นช่วงบ่ายและช่วงเย็นแทน ซึ่งตรงนี้ที่ทำงานต้องให้ความยืดหยุ่นแก่พนักงานในการจัดการเวลาของตนเอง

ในการ WFH สิ่งหนึ่งที่หายไป คือ ช่วงเวลาในการเดินทาง ซึ่งถือเป็นข้อดีอย่างหนึ่งในการ WFH เพราะการได้ทำงานที่บ้านทำให้ประหยัดเวลาในการเดินทางในแต่ละวันไปได้มาก แต่ช่วงเวลาในการเดินทางก็มีประโยชน์อย่างหนึ่งที่คนมักไม่ได้นึกถึง คือเป็นช่วงเวลาในการปรับอารมณ์ให้เข้าสู่โหมดของการทำงาน และมีหน้าที่สำคัญในการแบ่งเส้นระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตในการทำงาน ดังนั้น หากจะให้ดี จึงแนะนำให้เริ่มวันด้วยการออกไปเดินเล่นซัก 10-15 นาทีเพื่อปรับสภาพอารมณ์ให้พร้อมก่อนจะเริ่มการทำงาน และเมื่อหมดเวลาทำงาน ก็ควรหาเวลาในการเดินเพื่อผ่อนคลาย และปรับอารมณ์ในการเข้าสู่โหมดการพักผ่อน

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าคุณจะ WFH หรือไม่ ต้องไม่ลืมการดูแลสุขภาพกายและใจของตนเองให้ดี หาเวลาในการทำกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบบ้าง การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การฝึกสมาธิ การใช้เวลากับคนในครอบครัว และการพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อเราจะได้ผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
 

ที่มา: https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256303_BOTGettoKnow.aspx สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2564


  1. Bloom, N., Liang, J., Roberts, J., & Ying, Z. J. (2015). Does working from home work? Evidence from a Chinese experiment. The Quarterly Journal of Economics, 130(1), 165-218.
  2. dmh.go.th/news/view.asp?id=2270
     


CONTRIBUTOR

Related Posts
สู้ต่อไป กับการ Work From Home

มนสิการ กาญจนะจิตรา

COVID-19 : รักษาระยะห่าง ดูแลระยะใจ 

พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

วันหยุดที่แท้จริง

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

60…ใช่ว่าต้องหยุด (ทำงาน)

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ

นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

Work From Home คำ.ตอบ Work-Life Balance?

มนสิการ กาญจนะจิตรา

อยากออกไปล็อกดาวน์ในดินแดนมังกร

นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th