The Prachakorn

รัฐประหาร ในเมียนมา


อมรา สุนทรธาดา

03 มิถุนายน 2564
302



รัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เป็นการแสดงท่าทีขัดขวางอย่างชัดเจนของผู้นำกองทัพต่อการเรียกร้องของประชาชนเพื่อวิถีประชาธิปไตย การปราบปรามด้วยอาวุธร้ายแรงต่อประชาชนหลากหลายวัย เพศ และอาชีพ ที่ออกมาประท้วง จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ที่ถูกจับเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่อง ณ วันที่ 4 พฤษภาคม จากรายงานของ Assistance Association for Political Prisoners (AAPP) มีผู้เสียชีวิต 769 ราย ถูกจับ 4,737 ราย ในจำนวนนี้ 3,677 ราย ยังถูกคุมขัง1

ผู้นำกองทัพพยายามลดความเชื่อมั่นของประชาชนต่อพรรค  National League for Democracy (NLD) ที่ได้รับคะแนนเสียงชนิดถล่มทลายในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อพฤศจิกายน 2563 โดยอ้างเหตุให้คณะกรรมการกลางการเลือกตั้งสอบสวน การลงคะแนนเสียงไม่โปร่งใสรวม 314 เขตเลือกตั้ง แต่ไม่พบหลักฐานการทุจริตตามที่ร้องเรียน ในที่สุดทางเลือกที่เหลืออยู่คือ การกระทำรัฐประหาร

การปฏิรูปการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยในเมียนมาไม่ใช่เรื่องง่าย จากสาเหตุและอุปสรรครอบด้าน พลเมืองของประเทศประมาณ 55 ล้านคน2 ประกอบด้วยชนหลากชาติพันธุ์รวม 134 กลุ่ม ในจำนวนนี้รัฐแบ่งเป็นกลุ่มหลักเพียง 8 กลุ่มเท่านั้น ด้วยเหตุผลความมั่นคงและการบริหารประเทศ โดยใช้พื้นที่การอยู่อาศัยเป็นเกณฑ์ ซึ่งในทางปฏิบัติมีความขัดแย้งเรื่องภาษาและวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม3

ความยุ่งยากภายในประเทศคือ ความต้องการเป็นรัฐอิสระไม่ขึ้นกับรัฐบาลกลาง เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กะเหรี่ยง มีกองกำลังติดอาวุธ เพราะต้องการแยกเป็นรัฐอิสระ การสู้รบเป็นไปอย่างต่อเนื่องและยาวนาน แม้ว่าจะมีศักยภาพที่ด้อยกว่ากองทัพจากรัฐบาลกลางที่ใช้วิธีการปราบปรามอย่างเด็ดขาด การรื้อไล่และเผาบ้านเรือนชนกลุ่มน้อยโรฮีนจาในรัฐยะไข่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผู้นำกองทัพไม่เคยยอมรับประชากรกลุ่มนี้เพราะถือว่าเป็นพลเมืองต่างศาสนา กองทัพใช้เป็นข้ออ้างถึงความไม่พร้อมและไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลพลเรือนที่มี ออง ซาน ซู จี เป็นผู้นำแต่เพียงในนามเท่านั้น การเผาทำลายที่อยู่อาศัยและการผลักดันให้ออกนอกประเทศเป็นปัญหาที่องค์กรนานาชาติเข้าแทรกแซง เพราะถือว่าละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน

หากย้อนเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ชนกลุ่มน้อยเชื้อสายโรฮีนจา เปรียบเสมือนมรดกบาปในยุคอาณานิคมที่รัฐบาลอังกฤษกวาดต้อนมาจากภาคตะวันตกของรัฐเบงกอล ประเทศอินเดีย (ปัจจุบันบางส่วนแยกเป็นประเทศบังคลาเทศ) เพื่อเป็นแรงงานราคาถูกสำหรับการทำอุตสาหกรรมค้าไม้ เมื่ออังกฤษปลดปล่อยเมียนมาเมื่อปี 2491 ชนกลุ่มน้อยโรฮีนจายังคงตั้งถิ่นฐานทีเดิมจากรุ่นแรกสู่รุ่นลูกหลาน และไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นพลเมืองของชาติ เนื่องจากต่างศาสนาและวัฒนธรรม

เมียนมาปกครองประเทศโดยรัฐบาลทหารมาตั้งแต่ปี 2505 จนถึง ปี 2554 โดยเฉพาะภายใต้การปกครองของนายพลเนวิน ระหว่างปี 2505-2531 เรืองอำนาจถึง 26 ปี เมียนมาอยู่ภายใต้การปกครองแบบรัฐบาลทหารจนถึงปี 2554 เริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการปกครองระบบประชาธิปไตย และมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2558 ซึ่งพรรค National League for Democracy (NLD) ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ออง ซาน ซู จี เข้ามาบริหารประเทศในฐานะหัวหน้าพรรค หลังจากที่ถูกกักบริเวณ 15 ปี เพื่อลดบทบาททางการเมือง

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อพฤศจิกายน ปี 2563 ออง ซาน ซู จี ได้รับชัยชนะอีกครั้ง และเป็นสาเหตุที่ผู้นำกองทัพต้องทำรัฐประหารเพื่อเรียกคืนอำนาจ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ประชาชนเรียกร้องการปล่อยตัว ออง ซาน ซู จี
ภาพโดยhttps://www.bing.com/images/search?q=aung+san+myanmar&id=F33729E2B9B43E1F450DF98DB37E26E571A14A92&form=IQFRBA&first=1&disoverlay=1 สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2564

บทบาทผู้นำ ASEAN ประเมินจากผลการประชุมเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564 ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เมื่อ นายพล มิน ออง หล่าย แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะยอมรับในหลักการตามข้อเสนอโดยไม่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนเมื่อสถานการณ์สงบและวางใจได้เท่านั้น

การประท้วงที่เมืองย่างกุ้ง
ภาพโดย: https://www.trtworld.com/asia/coup-and-pandemic-could-drive-half-of-myanmar-into-poverty-by-2022-46338 สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2564

ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนสำ.หรับชะตากรรมพลเมืองเมียนมา 54 ล้านคน จากเหตุรัฐประหาร ปัญหาเร่งด่วน เช่น ความยากจน การระบาดของโควิด-19 ความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศระหว่างชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ต้องการแยกเป็นรัฐอิสระ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮีนจา สำหรับผลกระทบในวงกว้างคือ ความมั่นคงของประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนทั้งทางตรงและทางอ้อม ไทยและมาเลเซีย ได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนเพราะจำนวนผู้ลี้ภัยและการลอบเข้าประเทศโดยอาศัยช่องทางธรรมชาติหลบหนีเข้าเมือง การตรวจจับและส่งกลับถิ่นต้นทางไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ได้ผล รวมทั้งการเปิดเจรจาในกลุ่มประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนแทบจะหมดหนทางเพราะผู้นำการปฏิวัติแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในเวทีผู้นำอาเซียนจากการประชุมเมื่อวันที่ 24 เมษายน ณ กรุงจาการ์ตา ว่าข้อเสนอต่างๆ จะปฏิบัติได้ต่อเมื่อสถานการณ์ในประเทศสงบเท่านั้น


อ้างอิง

  1. https://www.irrawaddy.com/news/burma/myanmar-junta-ignores-aseans-call-to-end-the-violence-against-civilians.html Retrieved 6 May 2021
  2. https://reliefweb.int/report/myanmar/2014-myanmar-population-and-housing-census-union-report-census-report-volume-2-b-enmyRetrieved 6 May 2021
  3. Burma 68% Shan 9% Kayin 7% Rakhine 4% Mon 2% Kayah 3%Khachin 2% Others 5% (Burmese- India 3% Burmese - Hun Chinese2%)

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ

นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

ทุนสังคม พลังสังคม

ภูเบศร์ สมุทรจักร

COVID-19 โรคเปลี่ยนโลก

ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา

Long COVID เจอ เจ็บ แต่ไม่จบ ?

สุริยาพร จันทร์เจริญ

หวังว่าโควิด-19 จะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

วิถีใหม่

วรชัย ทองไทย

โกหกคำโต (big lie)

วรชัย ทองไทย

รัฐประหาร ในเมียนมา

อมรา สุนทรธาดา

สถานการณ์โลกปี 2566

อมรา สุนทรธาดา

เมีย 2018 ณ เมียนมา

จรัมพร โห้ลำยอง

COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th