The Prachakorn

มุมมองเชิงบวกต่อ "เด็กข้ามชาติ" ในยุคสังคมไทยเกิดน้อย


เฉลิมพล แจ่มจันทร์

15 พฤศจิกายน 2564
450



ข้อมูลล่าสุดจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง แสดงจำนวนเกิดของเด็กในประเทศไทย      ที่ยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยในปี 2563 เป็นปีแรกที่จำนวนเด็กเกิดมีจำนวนต่ำกว่า 600,000 คน (ต่อปี) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยนับว่าต่ำกว่าเกือบเป็นครึ่งต่อครึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนเกิดของเด็กในช่วง 40-50 ปีก่อน ที่ปีหนึ่งๆ มากถึง 1-1.2 ล้าน โดยการเกิดของเด็กทั้งหมดในปี 2563 อยู่ที่ 587,368 คน หากสังเกตจะเห็นว่าผู้เขียนใช้คำว่า "การเกิดของเด็กทั้งหมด" ซึ่งในที่นี้จะครอบคลุม ทั้งเด็กที่มีสัญชาติไทยและเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยที่เกิดในประเทศและได้เข้าถึงการจดทะเบียนการเกิดกับสำนักบริหารการทะเบียน คำถามก็คือ แล้วในจำนวนเด็กเกือบประมาณ 6 แสนคนนี้ ซักประมาณเท่าใดที่เป็นเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย...ซึ่งผู้เขียนเอง ก็ไม่มีข้อมูลสำหรับปี 2563 แต่สำหรับปี 2562 ซึ่งมีจำนวนเด็กเกิดในประเทศไทยทั้งหมด 618,193 คน ผู้เขียนมีข้อมูลที่พบว่าในจำนวนนี้เป็นเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยอยู่ที่ 21,269 คน และเด็กที่มีสัญชาติไทยอยู่ที่ 596,924 คน (ซึ่งตามตัวเลขนี้ จริงๆ แล้ว จำนวนการเกิดของเด็ก(สัญชาติ)ไทย นั้นมีจำนวนต่ำกว่า 6 แสนคนมาตั้งแต่ปี 2562)

จำนวนเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยที่เกิดในปี 2562 ประมาณ 2 หมื่นกว่าคนนี้ ค่อนข้างต่ำกว่าที่ผู้เขียนคาดไว้ แต่ก็ไม่น่าแปลกใจเนื่องจากครอบคลุมเฉพาะเด็กที่เกิดและเข้าถึงการจดทะเบียนการเกิดเท่านั้น ซึ่งหากดูข้อมูลย้อนหลังกลับไปประมาณ 10 ปี จะเห็นว่าจำนวนการเกิด (จากการจดทะเบียนเกิด) ของเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยมีจำนวนประมาณ 7 พันคนในปี 2553 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงปี 2553 ถึง 2558 และปี 2560 ที่มีจำนวนเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยเกิดถึงมากกว่า 40,000 คนต่อปี ก่อนที่จะลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งในปี 2562 (เป็นเพราะเหตุผลใด เป็นคำถามที่น่าหาคำตอบ)

ที่น่าสนใจจากการพิจารณาสถิติการเกิดของเด็กในประเทศไทยนี้มีอยู่หลายประเด็น จากข้อมูลเราเห็นได้ชัดว่าสังคมไทยเข้าสู่สังคมเกิดน้อยเต็มตัวอย่างชัดเจนโดยจำนวนการเกิดของเด็กไทยลดลงอย่างมากและต่อเนื่องมาโดยตลอด คำถามก็คือ ในอนาคต การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเช่นนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เด็กเกิดใหม่น้อยลงในตอนนี้ ย่อมหมายถึงอนาคตที่จำนวนประชากรวัยกำลังแรงงานของประเทศจะลดลง สัดส่วนกำลังแรงงานและเด็กรุ่นใหม่ที่เป็นฟันเฟืองกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจภาคต่างๆ จะลดน้อยลงเรื่อย ๆ ขณะที่ประเทศเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในอนาคต อาจมีความเป็นไปได้ที่เราจะต้องดำเนินนโยบายเหมือนกับในหลายๆ ประเทศทางฝั่งตะวันตก หรือประเทศญี่ปุ่นที่เป็นสังคมสูงอายุ ที่ต้องมีการเปิดรับประชากรแรงงานจากต่างชาติมากขึ้นเพื่อเข้ามาทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในส่วนที่ขาดแคลนกำลังแรงงาน

สำหรับประเทศไทย ในแต่ละปี เรามีเด็กข้ามชาติที่ติดตามพ่อแม่ที่เป็นแรงงานข้ามชาติเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศ จำนวนหนึ่งเกิดและเติบโตในประเทศไทย ไม่ว่า พ่อแม่ของเด็กจะเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือมีเอกสารหรือไม่ แต่การปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็ก ให้เข้าถึงการจดทะเบียนการเกิด เข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานและบริการสุขภาพที่จำเป็น ย่อมเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถมองข้ามได้ ซึ่งหากมองในมุมเชิงบวก ภายใต้สถานการณ์สังคมเกิดน้อยของประเทศไทยที่เป็นอยู่ในขณะนี้ การให้สวัสดิการการคุ้มครองสิทธิเด็ก การลงทุนด้านการศึกษาและสุขภาพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและทุนมนุษย์ให้กับเด็กข้ามชาติที่เกิดและ/หรืออาศัยอยู่ในประเทศไทยน่าจะเป็นทางเลือกการลงทุนที่สามารถเป็นสินทรัพย์ สร้างประโยชน์ให้กับการพัฒนาประเทศไทยระยะยาวในอนาคตได้


รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์
ทีมวิจัยโครงการ“การประเมินสถานการณ์เด็กข้ามชาติในประเทศไทยและผลกระทบจากโควิด-19”
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล



CONTRIBUTOR

Related Posts
เงิน….. งาน…… บันดาลสุขอย่างไร? ในวันที่ต้อง Work From Home

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

พิธีในยุคโควิด-19

วรชัย ทองไทย

อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ

นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

ทุนสังคม พลังสังคม

ภูเบศร์ สมุทรจักร

COVID-19 : รักษาระยะห่าง ดูแลระยะใจ 

พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

COVID-19 โรคเปลี่ยนโลก

ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา

เมื่อโควิด-19 กำลังจะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

หวังว่าโควิด-19 จะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

สมองไทยย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

มองประชากรศึกษาผ่านกรอบเควียร์

ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง

COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

นโยบาย Replacement Migration กับ โควิด-19

อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

คุยกับ ChatGPT เรื่องนโยบายประชากร

อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

หาว

วรชัย ทองไทย

การเลียนแบบ

วรชัย ทองไทย

พิธีและพิธีกรรม

วรชัย ทองไทย

ด้วยรักและโรคระบาด

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th